หากจะอธิบายคำว่า “สตาร์ทอัพ” (Startup) ให้เข้าใจได้ง่ายๆ ก็คงจะสรุปได้ว่า เป็นธุรกิจที่เริ่มต้นมาจากจุดเล็กๆ แล้วเติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด เป็นธุรกิจที่ออกแบบมาให้มีการทำซ้ำและขยายกิจการได้ไม่ยาก เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้เร็ว ง่ายดาย ไม่ซับซ้อน โดยมีการนำเทคโนโลยี, นวัตกรรมมาเป็นหลักในการสร้างธุรกิจ โดยมักจะเกิดขึ้นจากแนวความคิดที่ต้องการจะใช้เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของผู้คน หรือเห็นโอกาสทางธุรกิจที่ยังไม่มีใครเคยคิดหรือทำมาก่อน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงมีความพยายามคิดค้นธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ
แต่จุดอ่อนของสตาร์ทอัพก็คือ การขาดจุดแข็งในระยะยาว จึงถูกลอกเลียนแบบได้ง่าย รวมทั้งคู่แข่งสามารถพัฒนาระบบให้ดีกว่าเดิมได้ในเวลาไม่นานนัก แล้วแย่งส่วนแบ่งในตลาดได้อย่างรวดเร็ว จนผู้คิดค้นรายแรกต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด ทำให้ต้องแก้เกมด้วยการคิดค้นสตาร์ทอัพที่เลียนแบบได้ยาก ทำให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืน อยู่ได้ในระยะยาว ซึ่งหนึ่งในคือ ดีป เทค สตาร์ตอัป (Deep Tech Startup)
Deep Tech (Deep Technology) คือเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ได้มาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่ไม่เหมือนใคร เป็นเรื่องยากที่จะลอกเลียน รวมทั้งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีสิทธิบัตรคุ้มครอง เนื่องจากผ่านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมอย่างยาวนาน
ในปัจจุบัน ดีป เทค สตาร์ตอัป มีอยู่ 8 ประเภท ได้แก่ 1.Artificial Intelligence (AI) : ปัญญาประดิษฐ์ 2.AugmentedReality (AR) และ Virtual Reality (VR) : โดย AR เป็นเทคโนโลยีที่ผสานโลกเสมือนเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง ส่วน VR ที่เป็นการจำลองโลกจริงในโลกเสมือน 3.Internet of Things (IoT) : การเชื่อมโยงทุกอย่างสู่โลกอินเตอร์เนต 4.Blockchain : เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูล เป็นโครงข่ายไร้ศูนย์กลาง 5.Biotech : การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับระบบชีวภาพ 6.Robotics : วิทยาการหุ่นยนต์ที่นำมาใช้ในด้านต่างๆ 7.Energy : การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับระบบพลังงาน และ 8.Spacetech : เทคโนโลยีอวกาศ
ในประเทศไทย ก็มีความตื่นตัว และให้การสนับสนุนในเรื่อง ดีป เทค สตาร์ตอัป อย่างต่อเนื่องเช่นกัน
โดยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ที่ห้องแถลงข่าวอว. ชั้น 1 ถ.พระรามที่6 กรุงเทพฯ ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดแถลงข่าว สวทช. ขยายงานวิจัยสู่โมเดลธุรกิจใหม่ “9 ดีปเทคสตาร์ตอัป”พร้อมเปิดตัว 9 NSTDA Startups : Deep-Tech Startup เพื่อขยายงานวิจัยสู่โมเดลธุรกิจใหม่ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและยกระดับเศรษฐกิจด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และ ดร.ฐิตาภาสมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. ร่วมแถลงข่าว
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในด้านการวิจัยและพัฒนาที่สร้างคุณค่าและต่อยอดให้กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) และให้ความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เสริมศักยภาพและยกระดับผู้ประกอบการนักลงทุน รวมถึงสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในการขับเคลื่อนและต่อยอดผลงาน วทน. จากหิ้งสู่ห้างเพื่อเชื่อมโยงให้เอกชนเข้าถึงได้ง่าย
ทั้งนี้ การวิจัยและพัฒนาที่รับโจทย์เพื่อทำวิจัยแล้วถ่ายทอด สิทธิ (Licensing) แบบเดิม อาจไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เนื่องจากเทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลและส่งผลกระทบต่อหลายสาขาอาชีพมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการส่งผ่านงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบธุรกิจใหม่ สวทช. จึงขยายงานวิจัยสู่โมเดลธุรกิจใหม่ภายใต้กลไกการส่งเสริมและผลักดันผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์อีกรูปแบบหนึ่งของ สวทช. หรือที่เรียกว่า “นาสท์ด้าสตาร์ตอัป” NSTDA Startups ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา เพื่อผลักดันผลงานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และยังช่วยตอกย้ำศักยภาพงานวิจัยสู่การตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม
ในการแถลงข่าวครั้งนี้มีสตาร์ทอัพ ที่ได้รับการอนุมัติจากสวทช. จำนวน 9 ผลงาน ซึ่งกลไกของ NSTDA Startups นี้จะช่วยตอบโจทย์การเร่งให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของผลงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม (RDI) ให้เร็วยิ่งขึ้น โดยหลักคือจะมีกลุ่มนักวิจัยเข้าร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนและ/หรือ สวทช. ในการปั้นโมเดลธุรกิจ (Business Model) จากผลงานวิจัยของสวทช. เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นแผนธุรกิจ (Business Plan)อย่างเป็นรูปธรรม แล้วก้าวไปสู่การร่วมจัดตั้งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ
“สำหรับ NSTDA Startups มีนักวิจัยและบุคลากรวิจัยไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้หลายศาสตร์ และพัฒนาตนเองสู่การเป็นผู้ประกอบสตาร์ทอัพ ที่ต่อยอดธุรกิจจากงานวิจัยและพัฒนาจากองค์กรวิจัยระดับประเทศมากถึง 9 ราย ซึ่งพร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกสู่สาธารณชนแล้ว โดยจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต่างๆ หากมาร่วมผลักดันธุรกิจเทคโนโลยีกับ NSTDA Startupsและถือเป็นการเปิดโลกการลงทุนใหม่ เพื่องานวิจัยจากแหล่งการลงทุนใหม่ของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อไป” ดร.ณรงค์ กล่าว
โดยในปัจจุบันจดทะเบียนบริษัทแล้วจำนวน 7 บริษัท และอยู่ระหว่างเตรียมจดทะเบียนอีก 2 ผลงาน (หนึ่งในนั้นจะจดทะเบียนในเร็วๆ นี้)
สตาร์ทอัพของ สวทช. เป็น Deep tech Startup ที่ครอบคลุมในหลายอุตสาหกรรม ประกอบด้วยสตาร์ทอัพด้าน Biotechnology & BIO Service สตาร์ทอัพด้าน Digital สตาร์ทอัพด้าน Aging Society/Quality of Life และสตาร์ทอัพด้านความงามและอาหารเสริม เป็นต้น
สำหรับ 9 NSTDA Startups : Deep-Tech Startup เพื่อขยายงานวิจัยสู่โมเดลธุรกิจใหม่ ประกอบด้วย ด้านอุตสาหกรรมBiotechnology & BIO Service ได้แก่ บริษัท ไบโอเทคโกลเบิ้ล อินโนเวชั่น จำกัด ให้บริการแพลตฟอร์มด้าน Biotechnology และ Life Science ที่ครบวงจรรายแรกของประเทศที่ครอบคลุมครบถ้วนทั้งทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเครือข่ายธุรกิจ
ด้านอุตสาหกรรม Digital ได้แก่ บริษัท เอไอไนน์ จำกัด (AI9) เป็นแพลตฟอร์ม AI ของบริษัทไทยรายแรกที่ให้บริการการถอดเสียงการประชุมโดยใช้เทคโนโลยี AI, บริษัท ดาร์วินเทคโซลูชันส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการจัดอาหารและดูแลสุขภาพในสถานศึกษาแบบครบวงจร, บริษัท บิ๊กโก อนาไลติกส์ จำกัด ให้บริการแพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาระบบจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data / Data Analytic) ที่ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนที่ลดลง
ด้านอุตสาหกรรม Aging Society/Quality of Life ได้แก่ โครงการ รีไลฟ์ (อยู่ระหว่างเตรียมจดทะเบียนในนามบริษัท รีไลฟ์ จำกัด) ผลิตกระจกตาชีวภาพที่ไม่ต้องรอบริจาคจากผู้อื่น สามารถใช้ได้เลย สามารถออกแบบค่าสายตาให้เหมาะกับคนไข้แต่ละคน ไม่มีความเสี่ยงจากการใช้กระจกตาจากผู้อื่นหรือวัสดุเทียม, บริษัท เบรนนิฟิต จำกัด ให้บริการแพลตฟอร์ม Game-based neurofeedback system ช่วยฟื้นฟูศักยภาพการเรียนรู้ได้ถึง 5 ด้าน และวัดผลได้อย่างแม่นยำ
ด้านอุตสาหกรรมด้านความงามและอาหารเสริม ได้แก่ บริษัท สไปก์ อาร์ชิ เทคโทนิคส์ จำกัด ผลิตเข็มขนาดไมโคร (Microneedle) ในรูปแบบแผ่นแปะเทคโนโลยี Microspikeที่มีลักษณะพิเศษความเฉพาะที่สามารถดีไซน์ได้ตามต้องการของลูกค้าที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้สามารถนำส่งสารสำคัญผ่านผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ, บริษัท ควอนตัม ไบโอเทค จำกัด ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพ นำเทคโนโลยีด้านไบโอรีไฟเนอรี่และไฮบริดมาผลิตสารออกฤทธิ์มูลค่าสูงจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร และ โครงการKANTRUS การผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุออกฤทธิ์สำหรับเครื่องสำอางและการแพทย์ เช่น โปรตีนอีจีเอฟ ที่มีความบริสุทธิ์และความสามารถในการออกฤทธิ์สูง ในราคาที่เข้าถึงได้
ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี สำหรับก้าวย่างของ ดีป เทค สตาร์ตอัป ของไทย ณ วันนี้ ที่มีความตื่นตัวและมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าพัฒนาต่อไป แต่ปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นอย่างมากคือการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อให้ ดีป เทค สตาร์ตอัป ของไทย เติบโตอย่างแข็งแรง และยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
จากสัญญาณที่ได้เห็นในวันนี้ ก็พบว่ามีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดี และหากยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็คาดว่าในอนาคตจะเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ต่อชีวิตของผู้คน ได้รับการพัฒนาออกมาอีกมากมาย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี