“อีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรวัยแรงงานจะลดลงประมาณ 6 ล้านคน แล้วสัดส่วนประชากรวัยแรงงานก็ลดลงอย่างมากด้วย จาก 65.3% เหลือ 57.8% ในช่วง 20 ปีข้างหน้าเพราะฉะนั้นปัจจุบันเราขาดแคลนแรงงานประมาณ 1 ล้านคนอยู่แล้ว ยอดจดทะเบียนแรงงานล่าสุด เดือนก.พ. 2565มีแรงงานข้ามชาติจดทะเบียนประมาณ 2,300,000 คนเท่านั้น ซึ่งประกอบด้วยแรงงานฝีมือ 2 แสนกว่าคน และแรงงานทั่วไป2 ล้านกว่าคน แต่ก่อนหน้านั้น ช่วงก่อนโควิดเรามีแรงงานจดทะเบียน 3 ล้านกว่าคน คือหายไปประมาณ 1 ล้านคน”
คำกล่าวของ ผศ.ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ ในการบรรยายหัวข้อ “โควิด-19 กับการปรับเปลี่ยนนโยบายวีซ่าระยะยาวของไทย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 16 “ประชากรและสังคม 2565” เรื่อง “โควิด-19 : การฟื้นตัว และโอกาสของประชากรและสังคม (COVID-19 : Resilience and opportunity population and society)” ซึ่งเป็นงานที่จัดเป็นประจำทุกปีโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลในแต่ละปีจะมีนักวิชาการของสถาบันฯ นำผลการศึกษาที่น่าสนใจด้านประชากรและสังคมมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ
นอกจากแรงงานที่หายไป 1 ล้านคน ซึ่งภาคเอกชนเรียกร้องไปยังภาครัฐให้หาทางนำเข้าแรงงานอย่างเร่งด่วนในเบื้องต้นแล้ว เมื่อเจาะจงไปถึง “อุตสาหกรรมเป้าหมาย(S Curve) ที่ต้องการแรงงานทักษะสูง” เคยมีการประเมินไว้ว่าประเทศไทยต้องการแรงงานประเภทนี้ประมาณ 2.3 ล้านคนจึงต้องมีนโยบาย “วีซ่าระยะยาว” เพื่อดึงคนเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อดูนโยบายที่รัฐไทยดำเนินการที่ผ่านมา พบว่า
1.นโยบายวีซ่าท่องเที่ยวระยะ 10 ปี เน้นกลุ่มวัยเกษียณ อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป จากประเทศพัฒนาแล้ว 14 ประเทศ (เริ่มปี 2559) พบว่าไม่ค่อยได้รับความนิยมเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ต้องฝากเงินหลักหลายล้านบาท 2.Smart VISA วีซ่าระยะเวลา 4 ปี (เริ่มปี 2561) สำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้บริหารระดับสูง นักลงทุน และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ทั้งนี้ สำหรับกลุ่ม Startup จะให้ครั้งแรก 2 ปีก่อน ซึ่งระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 2561-31 พ.ค. 2564 มีผู้สมัครเพียงหลักพันราย จากความต้องการหลักแสนราย
อีกทั้งผู้สมัครผ่านการรับรองเพียง 741 ราย และครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่ม Startup เหตุที่ไม่ได้รับความนิยมเพราะขั้นตอนจุกจิกเกินไป 3.Thailand Privilege Card (หรือ Thailand Elite Card) ระยะเวลาวีซ่า 5-10 ปี เป็นนโยบายที่มีมานานแล้ว ราคาของบัตรนี้มีตั้งแต่ 5 แสน-2 ล้านบาท ค่อนข้างได้รับความนิยมพอสมควร เห็นได้จากสถิติผู้ถือบัตร ณ ต้นปี 2565 อยู่ที่ 16,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชียตะวันออกโดยเฉพาะชาวจีน อนึ่ง จากเดิมที่ผู้ถือบัตรนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ปัจจุบันอนุญาตให้ผู้ถือบัตรอายุ 10 ปีขึ้นไปทำงานได้ โดยต้องลงทุนในวงเงินที่กำหนด
และ 4.Long-term Resident VISA วีซ่าสำหรับผู้มีศักยภาพสูง ระยะเวลา 10 ปี เน้นกลุ่มผู้มั่งคั่งสูงผู้เกษียณอายุ Remote Worker (ผู้ที่ทำงานให้บริษัทต่างชาติ แต่ไม่จำเป็นต้องทำงานประจำสำนักงาน เช่นทำจากที่บ้าน-Work from Home) และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (เช่น ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) วีซ่าประเภทนี้ไม่ต้องรายงานตัวทุกๆ 90 วัน เหมือนวีซ่าทั่วไป สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2565 เป็นต้นไป เบื้องต้นคาดว่าจะดึงดูดชาวต่างชาติ 1 ล้านคน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท
จากนโยบายทั้งหมดข้างต้น ผศ.ดร.สักกรินทร์ มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ 1.วีซ่าระยะยาวส่วนใหญ่จัดอยู่หมวดวีซ่าท่องเที่ยวมากกว่าการทดแทนแรงงาน หมายถึงเน้นคนรายได้สูงมากกว่าคนที่มีทักษะ 2.ฐานข้อมูลแรงงานกระจัดกระจาย จึงไม่ทราบว่าแต่ละอุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานเท่าใด ซึ่งในต่างประเทศจะมีฐานข้อมูลรวมอยู่ที่เดียวทุกอุตสาหกรรม จึงกำหนดจำนวนนำเข้าแรงงานได้ตรงตามความต้องการ
3.นโยบายวีซ่าที่ยืดหยุ่น ซึ่งต่างประเทศมีระบบการให้คะแนน (Point-based System) มีหลายเกณฑ์ เช่น อายุ คุณวุฒิการศึกษา ประสบการณ์ ความสามารถทางภาษา (เช่น เป็นชาวต่างชาติแต่สามารถใช้ภาษาไทยได้) ผลงานประดิษฐ์และนวัตกรรม (อาทิ จำนวนการจดสิทธิบัตร) มากกว่าการวางเกณฑ์เน้นที่รายได้ 4.ควรมีนโยบายวีซ่าที่เอื้อต่อกลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เช่น ศิลปิน นักคิด นักออกแบบ
5.กำหนดเป้าหมายของวีซ่าแต่ละประเภทให้ชัดเจน เช่น Smart VISA เน้นไปที่อุตสาหกรรม S Curve และในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC), Long-term Resident VISA สนับสนุนให้ผู้มีทักษะสูงที่ได้วีซ่าประเภทนี้เข้าไปทำงานในสถาบันการศึกษา ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ตลอดจนเน้นส่งเสริมให้กลุ่ม Remote Worker เข้ามาในประเทศไทย
ซึ่งในประเทศเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อย่าง อินโดนีเซีย เพิ่งประกาศนโยบายให้กลุ่ม Remote Worker (หรืออีกชื่อคือ Digital Nomad) อยู่บนเกาะบาหลีได้ในระยะยาว 5 ปี และ Elite Card ควรมุ่งไปในเรื่องการเน้นผู้มีรายได้สูงโดยเฉพาะ เช่น กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อบ้านพักตากอากาศราคาแพง เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะยาว โดย Elite Card ควรแยกกลุ่มเป้าหมายไม่ให้ซ้ำซ้อนกับ Long-term Resident VISA
“นอกจากนโยบายวีซ่าระยะยาวแล้ว ประเทศไทยจำเป็นต้องมีนโยบายสิทธิพลเมืองและการบูรณาการทางสังคม โดยเปิดโอกาสให้ผู้ย้ายถิ่นบางกลุ่มสามารถขอเป็นผู้มีถิ่นพำนักถาวรในประเทศไทยได้ด้วย เรียกว่า Permanent Resident (PR) หรือแม้กระทั่งสัญชาติไทย คนบางคนอยู่เมืองไทย ทำงานเมืองไทยมาเป็นสิบปี มีครอบครัวในเมืองไทย แต่ยังไม่มีสัญชาติไทย ไม่ได้เป็น PR ประเทศไทยด้วย ต้องต่อวีซ่าทุกปี คนเหล่านี้ควรจะได้รับการพิจารณาเป็นกลุ่มแรกๆ” ผศ.ดร.สักกรินทร์ กล่าว
ด้าน ศ.(เกียรติคุณ) ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิวงศ์ บรรยายหัวข้อ “เส้นทางสู่นโยบายการย้ายถิ่นเพื่อทดแทนประชากร” กล่าวว่า ในปี 2564 มีเหตุการณ์สำคัญด้านประชากรศาสตร์เกิดขึ้นในประเทศไทย คือจำนวนคนเกิดน้อยกว่าจำนวนคนตาย ซึ่งมาจากปัจจัยเดิมคือคนมีลูกน้อยลง และปัจจัยเพิ่มเติมคือสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ขณะที่ องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่า เมื่อสิ้นศตวรรษที่ 21 (ปี 2642) หรืออีก 80 ปีข้างหน้า ประชากรประเทศไทยจะลดลงเร็วสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น
ในทางกลับกัน ประเทศที่ใช้นโยบายการย้ายถิ่นเพื่อทดแทนประชากร (Replace Migration Policy) เช่น สหรัฐอมเริกา แคนาดา ออสเตรเลีย รวมถึงหลายประเทศในทวีปยุโรป “สังคมไทยต้องปรับวิธีคิด (Mindset) โดยมองว่า การนำเข้าประชากรหรือทรัพยากรมนุษย์อันมีค่าโดยเร็วเป็นเรื่องบวก” และการจัดการเรื่องนี้ต้องทำโดยเร็วในเวลาปัจจุบันที่ยังมีประชากรต่างชาติให้เลือกอยู่มาก
“ถ้ารอช้าในอนาคตต้องแข่งขันกันในเวทีโลก เพราะนโยบาย Replace Migration จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ นอกจากนี้ถ้าเราจัดการเสียตั้งแต่ตอนนี้ ขณะที่ประชากรเรา (คนไทย) ยังมีอยู่มากพอ เราจะสามารถบูรณาการผู้ย้ายถิ่นที่เราคัดสรรเข้ามาให้เขาเป็นคนไทย ได้ง่ายกว่าเมื่อเรามีประชากรน้อยในอนาคต อยากให้เราตั้งเป้าทดแทนอย่างน้อย20% ของประชากรที่จะหายไป คือทดแทน 8 ล้านคนใน 80 ปีนี้ นั่นคือปีละแสนคนขึ้นไป” ศ.(เกียรติคุณ) ดร.อภิชาติ ระบุ
ศ.(เกียรติคุณ) ดร.อภิชาติ กล่าวต่อไปว่า นโยบายนำประชากรต่างชาติเข้ามาในไทย หากได้ปีละ 1 แสนคน สามารถแบ่งไปสนับสนุน 1.โครงการพัฒนาระดับชาติ เช่น EEC 10,000 คน 2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อพัฒนา SME 80,000 คน และ 3.ประชากรคุณภาพเพื่อพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมจิตวิญญาณ สุขภาวะ เชื่อมโยงกับประชากรไทยในพื้นที่ต่างๆ 10,000 คน มีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความสุขอย่างถ้วนหน้า
ในตอนแรกเป็นการสะท้อนปัญหาและข้อเสนอในส่วนการนำเข้าแรงงานทักษะสูงหรือประชากรระดับมั่งคั่ง ส่วนในตอนหน้าจะว่าด้วยแรงงานข้ามชาติระดับทั่วไป รวมถึงบุตรหลานของแรงงานเหล่านี้ ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี