ยังอยู่กับงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 16 “ประชากรและสังคม 2565” เรื่อง “โควิด-19 : การฟื้นตัว และโอกาสของประชากรและสังคม (COVID-19 : Resilience and opportunity population and society)”จัดโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งในตอนที่แล้ว (ดึงย้ายถิ่นแก้อัตราเกิดลด(1) ปฏิรูปวีซ่าเอื้อคนเก่งเข้าไทย : หน้า 5 นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 23 ก.ค. 2565) กล่าวถึงการมีนโยบายเอื้อต่อการดึงคนเก่งเข้าประเทศเพื่อทดแทนอัตราการเกิดของคนไทยที่ลดลง ส่วนฉบับนี้จะว่าด้วยโอกาสของไทยจากคนข้ามชาติอีกหลายกลุ่ม
รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ บรรยายในหัวข้อ “ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ : สินทรัพย์ทางประชากรที่ไม่ควรมองข้าม” ซึ่งเป็นการศึกษาผลกระทบจากบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติ (อายุต่ำกว่า 18 ปี) ในประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในมิติด้านสุขภาพ การศึกษาและการคุ้มครองเด็ก โดยพบความเสี่ยง หากเป็นเด็กเล็กจะเป็นเรื่องสุขภาพและโภชนาการ แต่หากเป็นเด็กโตจะเป็นเรื่องการศึกษา ทั้งนี้ บุตรหลานแรงงานข้ามชาติจำนวนมากอยู่ในระบบการศึกษาไทย จึงคุ้นเคยกับการใช้ภาษาไทย และมีแนวโน้มจะอยู่ประเทศไทยในระยะยาว
รศ.ดร.เฉลิมพล กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้จัดทำขึ้นภายใต้โครงการ การประเมินสถานการณ์และผลกระทบโควิด-19 ต่อเด็กข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สหภาพยุโรป (EU) ผ่านองค์กร Action Aid ในประเทศไทย เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพโดยเก็บข้อมูลใน 6 พื้นที่ คือกรุงเทพฯ (รวมปริมณฑล) กับอีก 4 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ระนอง ชลบุรี เชียงใหม่ และอีก 1 อำเภอ คือ อ.แม่สอด จ.ตาก พบปัญหาสำคัญ 1.เข้าไม่ถึง โดยเฉพาะการจดทะเบียนการเกิด โอกาสทางการศึกษา และบริการด้านสุขภาพ
2.ตกหล่น โดยเฉพาะปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งแต่เดิมเด็กเคยได้เรียนในโรงเรียนไทยหรือในศูนย์การเรียนรู้บุตรหลานแรงงานข้ามชาติ แต่สถานการณ์โควิด-19 มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรค ทำให้สถานศึกษาต่างๆ ถูกปิดและต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอน และ 3.การเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงและความเปราะบาง เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเศรษฐกิจของพ่อแม่แล้วไปลงกับลูก การถูกล่วงละเมิด รวมถึงการต้องย้ายถิ่นตามพ่อแม่ที่ถูกเลิกจ้าง เป็นต้น
“ถ้าเราพูดถึงเด็กข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย เด็กกลุ่มนี้อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว จำนวนมากเกิดและ เติบโต เรียนหนังสือในไทย พูดภาษาไทยได้ ดังนั้นหากรัฐบาลและสังคมไทยมองเด็กกลุ่มนี้เป็นสินทรัพย์ของประเทศ สามารถเป็นกำลังแรงงานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศไทยในอนาคตระยะยาวได้ ทางทีมวิจัยเชื่อว่าจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายและการจัดการ ที่จะทำให้การดูแลในเรื่องการเข้าถึงสิทธิ์ด้านต่างๆ ของเด็ก
ทั้งการจดทะเบียนการเกิด การศึกษา สุขภาพและหลักประกันทางสุขภาพ รวมถึงการคุ้มครองเด็กในด้านต่างๆ มีความเป็นเอกภาพไปในทิศทางเดียวกันในทุกมาตรการและนโยบาย เกิดเป็นความชัดเจน และมีแนวทางในการนำไปสู่การปฏิบัติที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน” รศ.ดร.เฉลิมพล กล่าว
รศ.ดร.สุรีย์พร พันพึ่ง บรรยายหัวข้อ “ผู้ลี้ภัยในเมืองกับการทดแทนกำลังแรงงานในสังคมไทย” ว่าด้วยการศึกษาชีวิตผู้ลี้ภัยหนีการถูกคุกคามด้วยเหตุแห่งความขัดแย้ง เช่น การเมือง เชื้อชาติ ศาสนา ผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกทั้งผู้ลี้ภัยและผู้เกี่ยวข้อง โดยข้อมูลช่วงต้นปี 2565 พบผู้ลี้ภัยในเมือง (Urban Refugee)
ประมาณ 5 พันคน จากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก คนกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ซึ่งจะแตกต่างจากผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายผู้อพยพ ทั้งนี้ ครึ่งหนึ่งของผู้ลี้ภัยที่เก็บข้อมูลได้ อยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี จนต้องหางานทำแม้จะผิดกฎหมายก็ตาม
รศ.ดร.สุรีย์พรกล่าวว่า เหตุที่ผู้ลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก เพราะกรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งเป็นหน่วยงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยให้ได้ไปตั้งรกรากในประเทศที่ 3 แต่การที่รัฐบาลไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ไม่มีกฎหมายคุ้มครองเฉพาะสำหรับผู้ลี้ภัย และไม่รับรองเอกสารสถานะผู้ลี้ภัยที่ออกโดย UNHCR ผู้ลี้ภัยจึงอยู่ภายใต้กฎหมายคนเข้าเมืองไม่ต่างจากชาวต่างชาติทั่วไป ซึ่งการเข้าเมืองหรือทำงานอย่างผิดกฎหมาย สุ่มเสี่ยงต่อการถูกจับกุมเพื่อกักกันและส่งกลับประเทศต้นทาง
งานวิจัยชิ้นนี้ได้สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัย 20 คนร้อยละ 80 มีการศึกษาเฉลี่ยระดับมัธยม-ปริญญาตรี ในจำนวนนี้ 6 คนเรียนจบระดับ ป.ตรี และ 5 คนมาจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง ซึ่งการที่ต้องรอนานกว่าจะได้รับอนุมัติให้เดินทางไปประเทศที่ 3 และเป็นการรอนานกว่าแผนที่ตนเองวางไว้ ทำให้ผู้ลี้ภัยต้องพยายามหางานทำ โดยหากเป็นผู้ลี้ภัยที่มีระดับการศึกษาปานกลางถึงสูงและใช้ภาษาอังกฤษได้ดี จะได้งานแบบชั่วคราว เช่น ล่ามแปลภาษา สอนหนังสือ อาสาสมัครขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และคริสตจักร ส่วนกลุ่มอื่นๆ ทำงานรับจ้างทั่วไป
“กลุ่มผู้ลี้ภัยในเมืองไม่สามารถใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ ทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยเท่าที่ควร ในขณะที่ปัจจุบันและอนาคตประเทศไทยจะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้นก็มีความต้องการแรงงานมีฝีมือและกึ่งฝีมือเพิ่มขึ้นด้วย การศึกษานี้จึงเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายจ้างงานผู้ลี้ภัยในเมือง ที่ได้รับรองสถานะผู้ลี้ภัยจากUNHCR ให้ได้ทำงานและได้รับค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับความรู้ความสามารถของผู้ลี้ภัยในเมือง” รศ.ดร.สุรีย์พร กล่าว
อีกด้านหนึ่ง รศ.ดร.สุดารัตน์ มุสิกะวงศ์ บรรยายหัวข้อ “การสร้างหนี้เมื่อย้ายถิ่นในภาวะ COVID-19” ว่าด้วยขั้นตอนการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย แม้จะมีการพัฒนาระบบเพื่ออำนวยความสะดวกแต่ในความเป็นจริงพบปัญหาในการดำเนินการ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าจ้างที่ได้รับ โดยประเทศไทยมีความท้าทาย 2 ประการ ที่ส่งผลให้จำนวนแรงงานข้ามชาติในไทยที่ไม่มีเอกสารเพิ่มขึ้น คือ 1.ค่าธรรมเนียมการจัดหางานสูง และ 2.ความยากลำบากในการเข้าถึงระบบการขึ้นทะเบียนแรงงาน โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนออนไลน์
ซึ่งแม้ในทางนโยบายจะมีการห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดหางาน แต่ในทางปฏิบัติ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 ทำให้
แรงงานต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการจัดหางานและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง โดยกฎหมายอนุญาตให้นายจ้างส่งต่อค่าใช้จ่ายให้คนงานผ่านการหักเงิน ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติมีแนวโน้มที่จะต้องจ่ายและมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 21,785 บาท ต้นทุนเหล่านี้ทำให้แรงงานข้ามชาติเป็นหนี้นายหน้า นายจ้าง ตลอดจนเจ้าหนี้ประเภทอื่นๆ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อเงื่อนไขของการบังคับใช้แรงงาน
“เพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเป็นหนี้ทาสและการบังคับใช้แรงงานในหมู่แรงงานข้ามชาติ เราจำเป็นต้องมีนโยบายที่ช่วยให้ผู้ย้ายถิ่นมีความยืดหยุ่นในการอยู่รอดในโลกภายใต้สถานการณ์โควิด-19” รศ.ดร.สุดารัตน์ กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี