ผอ.โรงเรียนเทศบาล 1 (วัดสัตตนารถปริวัตร) เขตเทศบาลเมืองราชบุรี นำคณะครูเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์โอ่งมังกรรัตนโกสินทร์ เซรามิกค์ เมืองราชบุรี ศึกษาประวัติและการปั้นโอ่งที่มีประวัติการปั้นที่ยาวนานนับร้อยปี เพื่อประยุกต์การแสดงนาฏศิลป์สร้างสรรค์ โดยนำโอ่งมังกรศิลปะตำนานจีนมาเป็นสื่อร่วมสมัย
วันนี้ (11 ส.ค.65) นางสาวมาณวิกา ทองเปลว ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 1 (วัดสัตตนารถปริวัตร) เขตเทศบาลเมืองราชบุรี พร้อมด้วยคณะครูได้เดินทางไปพิพิธภัณฑ์โอ่งมังกร รัตนโกสินทร์ เซรามิกค์ 4 ต.ท่าราบ อ.เมืองราชบุรี เพื่อเยี่ยมชมการรวบรวมโอ่งมังกรโบราณจากอดีตจนถึงปัจจุบันและผลิตปั้นโอ่งมังกรที่มีประวัติการปั้นที่ยาวนานนับร้อยปี จากศิลปะตำนานของจีน ในการศึกษาประวัติความเป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อเก็บข้อมูลนำไปประยุกต์การแสดงนาฏศิลป์สร้างสรรค์ร่วมสมัย การแสดงส่งเข้าแข่งขันกับโรงเรียนเทศบาลในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง ในวันที่ 21 สิงหาคมที่ จ.สุพรรณบุรี โดยมีนายสุขชาติ โฆษะบดี เจ้าของกิจการโรงโอ่งรัตนโกสินทร์ เซรามิกค์ 4 พาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์โอ่งมังกร ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะมีลวดลายการปั้นและเนื้อดิน รูปทรงที่มีความแตกต่างกันของแต่ละยุคสมัย
นายสุขชาติ โฆษะบดี เจ้าของกิจการโรงโอ่งรัตนโกสินทร์ เซรามิกค์ 4 เปิดเผยถึงประวัติความเป็นมาของโอ่งมังกรตั้งแต่สมัยยุคแรกๆ เรื่อยมาถึงปัจจุบัน โดยตนได้คลุกคลีอยู่กับงานเซรามิกค์ และเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่เด็กจากที่ได้ช่วยบิดา มารดา ทำโรงงานดินเผาโรงโอ่งราชบุรี หลังจากบิดาเสียชีวิตได้ขออนุญาตมารดาเปิดกิจการเป็นของตนเอง ใช้ชื่อว่าโรงงานรัตนโกสินทร์ เซรามิกค์ 4 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน
สมัยก่อนไทยยังผลิตโอ่งไม่ได้ คนจีนจึงนำมาขายในตลาด โดยการนำเข้ามาทางเรือ ใส่ของดองเข้ามา เช่น ผักกาด และผักต่าง ๆ เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว หลังสงครามโลก พ.ศ.2475 จีนปิดประเทศโอ่งนำเข้าไม่มีคนจีนที่ผลิตโอ่งในไทย จึงหาแหล่งดินมาผลิตโอ่งจนมาเจอดินที่ของแม่น้ำแม่กลองที่ตำบลหลุมดินคนแรก ชื่อว่า นายจื้อเหม็ง แซ่อึ๊ง โดยสัญลักษณ์ของโอ่งมังกรของ จ.ราชบุรี คือ โอ่งคู่กับมังกรจะมี 5 เล็บ ลิ้นยาว มีความหมายตรงกับฮวงจุ้ยเกี่ยวกับเรื่องการดึงดูดทรัพย์ ดูดบารมี อำนาจ เรื่องเงินทองเป็นความเชื่อมาแต่โบราณ ปัจจุบันได้รวบรวมโอ่งมังกรทั้งสมัยเก่าโบราณ และยุคปัจจุบันเก้บรักษาไว้ในพิพอธภัณฑ์ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้
นางสาวมาณวิกา ทองเปลว ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 1 (วัดสัตตนารถปริวัตร) กล่าวว่า ทางโรงเรียนจะร่วมประกวดความเป็นเลิศทางวิชาการในชื่อกิจกรรมว่า นาฏศิลป์สร้างสรรค์ ได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนเขตเทศบาล ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 แห่ง โดยครูมีแนวคิดหาเรื่องราวที่จะนำไปแข่งขัน และมานึกถึงเมืองราชบุรี โอ่งมังกรน่าจะนำเรื่องนี้เข้าแข่งขัน เป็นการแข่งขันทางวิชาการระดับภาคกลางจากโรงเรียนเทศบาลที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง ที่ จ.สุพรรณบุรี ใช้เวลาแสดงประมาณ 12 นาที
เมื่อสรุปได้เรื่องโอ่งเมืองราชบุรีแล้ว จึงจะต้องไปสืบค้นประวัติการเกิดโอ่งที่ราชบุรี ซึ่งจะประกวดแบบนาฏศิลป์ไม่ใช่เชิงประวัติศาสตร์และจากการได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์โอ่งมังกรที่โรงงานรัตนโกสินทร์ 4 รู้สึกประทับใจที่ได้รู้เรื่องราวประวัติเกี่ยวกับโอ่งมังกรแต่ละยุคสมัยมากมาย นอกจากนี้ยังไปเยี่ยมชมโรงโอ่ง เถ้า ฮง ไถ่ ซึ่งเจ้าของโรงโอ่งได้พาเยี่ยมชม พร้อมให้ช่างสาธิตการปั้นและการเขียนลายให้ชมด้วย
สำหรับการซ้อมการแสดงนาฏศิลป์สร้างสรรค์ ชุดเล่าขานตำนานโอ่งมังกร ณ ราชบุรี มี 3 ฉาก โดยฉากที่ 1 แสดงถึงการอพยพของชาวจีนตามเส้นทางลำน้ำแม่กลองมา หลังจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เดินทางโดยเรือสำเภามาขึ้นที่ จ.ราชบุรี และสามารถค้าขายได้ตามต้องการ ฉากที่ 2 เป็นการก่อตั้งและขั้นตอนการทำโอ่งมังกร แสดงถึงการตั้งโรงปั้นโอ่งและขั้นตอนวิธีการทำโอ่งมังกร โดยเริ่มตั้งแต่การขุดดิน นวดดิน ขึ้นรูป ลงลายโอ่งและการเผาโอ่งมังกร ฉากที่ 3 การนำโอ่งมังกรไปใช้แสดงถึงวิถีชีวิตของคนไทย แสดงถึงวิถีชีวิตของคนไทย ที่นิยมนำโอ่งมังกรไปใช้ประโยชน์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งทางโรงเรียนจะนำโอ่งมังกรไปประกอบกับท่าการแสดงนาฏศิลป์การแข่งขันใช้นักเรียน จำนวน 16 คน ซึ่งทางเจ้าของโรงโอ่งยังใจดีได้ให้ทางโรงเรียนยืมโอ่งไปร่วมกิจกรรมแข่งขันครั้งนี้ด้วย - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี