เส้นทางผู้นำชื่อ‘ประยุทธ์’ จากหัวหน้ารัฐบาลทหารสู่นายกฯพลังประชารัฐ ก่อน‘ศาลรัฐธรรมนูญ’สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
24 ส.ค.65
วันที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ “นายกรัฐมนตรี” ตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ (ศาล รธน.) ซึ่งคณะตุลาการมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ในระหว่างที่ ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาประเด็นวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์
สืบเนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ยื่นคำร้องผ่าน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีดังกล่าว และคณะตุลาการมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 รับคำร้องไว้วินิจฉัย
ก่อนจะมาถึงวันนี้ มีข้อถกเถียงกันว่า “ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นตั้งแต่วันไหนกันแน่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 หรือฉบับปัจจุบัน”
เส้นทางของ “บิ๊กตู่” ในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารของประเทศไทย ต้องย้อนไปก่อนวันที่ 22 พ.ค.57 อันเป็นวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขณะนั้น นำกองทัพเข้าทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
เช้าตรู่ของวันที่ 20 พ.ค. 2557 ท่ามกลางสุญญากาศทางการเมือง เนื่องจากรัฐบาลในเวลานั้นเป็นเพียง “รัฐบาลรักษาการ” บวกกับมีการชุมนุมของมวลชนที่เห็นต่างทางการเมือง 2 กลุ่ม คือกลุ่ม กปปส. ที่ปักหลักประท้วงมาแล้วหลายเดือนในกรุงเทพฯ ตามด้วยความพยายามรวมตัวของกลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่ปริมณฑลและอีกหลายจังหวัด มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจในฐานะ ผบ.ทบ. ประกาศกฎอัยการศึก เพื่อควบคุมสถานการณ์
ในช่วงแรก มีความพยายามให้ผู้เกี่ยวข้อง 7 ฝ่าย ประกอบด้วย รัฐบาลรักษาการ พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบล-ฝายค้าน วุฒิสภา แกนนำผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่าย และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เจรจาหาทางออก โดยให้เวลาระหว่างวันที่ 21-22 พ.ค. 2557 กระทั่งในช่วงเย็นของวันที่ 22 พ.ค. 2557 หลังไม่สามารถหาข้อยุติได้ โดยเฉพาะเมื่อ “ชัยเกษม นิติสิริ” ตัวแทนรัฐบาลรักษาการ ยืนยันว่า “นาทีนี้ก็ยังคงไม่ลาออก” ในประเด็นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกในระหว่างที่ปลัดกระทรวงรักษาการ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า “นาทีนี้ผมขอยึดอำนาจ” ทำรัฐประหาร เนื่องจากไม่มีทางเลือก
24 ส.ค.57
หลังบริหารประเทศในนามหัวหน้า คสช. มาได้ 3 เดือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งหลังจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ ที่บริหารประเทศโดยมีอำนาจพิเศษ “ม.44” ในฐานะหัวหน้า คสช. ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราวดังกล่าว จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับทางการ รวมถึงมีรัฐสภาและนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง
ภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับทางการที่เป็นฉบับล่าสุด หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 พร้อมกับการทยอยออกกฎหมายลูก หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) การเมืองก็เริ่มเดินหน้าเข้าสู่ช่วงเตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งหนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญคือการปรากฏขึ้นของ “พรรคพลังประชารัฐ” โดยเป็นพรรคการเมืองที่ยื่นจดทะเบียนพรรคต่อ กกต. เป็นลำดับที่ 3/2561 เมื่อวันศุกร์ที่ 2 มี.ค. 2561 และในเวลาต่อมาก็เป็นที่ชัดเจนว่า พรรคดังกล่าวได้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี หากได้จัดตั้งรัฐบาล
24 มี.ค.62
หลังรอกันมาเกือบ 5 ปี ในที่สุดคนไทยก็ได้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งผลการเลือกตั้ง แม้ “พรรคเพื่อไทย” จะมีที่นั่ง ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด 136 ที่นั่ง ในขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ ตามมาเป็นอันดับ 2 ได้ไป 116 ที่นั่ง แต่ท้ายที่สุดกลับเป็นพรรคพลังประชารัฐที่สามารถดึงพรรคการเมืองอื่นๆ มารวมเสียง ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรได้มากกว่า
เมื่อบวกกับการยกมือโหวตอย่างท่วมท้นของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ร่วมเลือกนายกฯ ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในค่ำคืนวันที่ 5 มิ.ย. 2562 ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไป อย่างไรก็ตาม การเป็นนายกฯ รอบนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ในฐานะรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่รัฐบาลทหาร จึงไม่มีอำนาจพิเศษ ม.44 ในฐานะหัวหน้า คสช. ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวอีก โดยราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.62
24 ส.ค.65
วันครบ 8 ปี หากนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ในนามรัฐบาลทหาร คสช.) ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมากให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวินิจฉัยประเด็นนี้ โดยนอกจากวันที่ 24 ส.ค. 2557 แล้ว บรรดานักวิเคราะห์ก็ยังชี้ความเป็นไปได้อีก 2 แนวทางในการเริ่มนับวันดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ “บิ๊กตู่” ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 6 เม.ย. 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ประกาศใช้ และวันที่ 9 มิ.ย. 2562 อันเป็นวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยแรกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560
ในระหว่างที่ “บิ๊กตู่” หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีนั้น “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะทำหน้าที่แทนไปก่อนในฐานะรักษาการ
ท้ายที่สุด เส้นทางของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามลุ้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จในอีกราว 1 เดือนข้างหน้า
หรือในเดือน ก.ย.65 นี้
ทีมข่าวแนวหน้าออนไลน์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี