หมายเหตุ : เรียบเรียงจากการบรรยายของ สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในช่วงเสวนา หัวข้อ “อนาคตประเทศไทย Thailand Growth” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานฉลอง “ปฐมฤกษ์สมาคมสมาชิกรัฐสภาไทย” โดยสมาคมสมาชิกรัฐสภาไทย ณ ห้องประชุมชั้น 4 รร.อัศวิน แกรนด์คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต ย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ
ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญสถานการณ์ “ภายนอกก็เสี่ยงแถมภายในก็ยังติดกับดัก” ทั้งจากเหตุปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อาหาร พลังงานโลกรวน (Climate Change หรือความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ) เงินเฟ้อ และปัจจัยภายในประเทศ เช่น กับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งทั้งนี้ “วิกฤตมีแนวโน้มแต่จะหนักหน่วงขึ้น” เพราะเป็นวิกฤตระดับโลก เป็นวิกฤตเชิงซ้อนและจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน“โครงสร้างของโลกยังเปลี่ยนแปลง” จากยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) กลายเป็นยุคที่แต่ละชาติมองตนเองมากขึ้น (Deglobalization) ขณะเดียวกันยังเปลี่ยนจากยุคมหาอำนาจขั้วเดียวภายในการนำของสหรัฐอเมริกา เป็นมหาอำนาจหลายขั้ว คำถามคือ “ไทยมีศักยภาพในการปรับตัวเพียงใด” จะทำอย่างไรที่ไทยจะเปลี่ยนวิกฤตข้างต้นนี้ให้เป็นโอกาส
“สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่พวกเรามัวแต่ทำก็คือว่าพวกเราทะเลาะกันเองเสียเยอะ จนเกิดสิ่งที่เราเรียกว่าสังคม 2 ขั้ว ที่เราเห็นกันอยู่ ส่วนใหญ่เรามักจะไปมองเปรียบเทียบกับประเทศอื่น แล้วก็เมื่อก่อนเคยเปรียบเทียบกับ NICS (ประเทศอุตสาหกรรมใหม่) ตอนนี้ก็ไปเปรียบเทียบกับเวียดนาม กับมาเลเซีย แต่เราไม่เคยมองว่าจริงๆ ตัวเรามีค่าตัวเรามีศักยภาพมาก-น้อยแค่ไหน” สุวิทย์ กล่าว
เมื่อมองออกไปยังต่างประเทศ “หลายชาติเพียงเอ่ยชื่อคนก็นึกออกทันทีว่าโดดเด่นเรื่องใด” เช่น “เยอรมนี” คือวิศวกรรม ยานยนต์และเคมี ส่วน “อิตาลี” คือแฟชั่นและรถยนต์แบบซูเปอร์คาร์ หรือ “เกาหลีใต้” คือ อุตสาหกรรมด้านบันเทิง เป็นต้น “ในขณะที่สังคมไทยจมอยู่กับความขัดแย้ง จนอาจลืมนึกไปว่าแล้วเราจะสร้างแบรนด์ของประเทศไทยอย่างไร” ซึ่งก่อนหน้านี้จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่โลกหลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ประเทศไทยต้องปรับตัวหลายประการ
1.จะยืนด้วยลำแข้งของตนเองได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลกอย่างมาก ต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายในและเชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก 2.จะเปลี่ยนจาก“ทำมากได้น้อย” เป็น “ทำน้อยได้มาก” ได้อย่างไร โดยปัจจัยสำคัญอยู่ที่ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการบริหารจัดการ ยกระดับสินค้าและบริการให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ไม่ว่าภาคเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ
แต่ข่าวดีคือ “เทรนด์แห่งอนาคตอย่าง BCG และ Soft Power ไทยนั้นมีอยู่มาก..เหลือเพียงนโยบายส่งเสริมที่ชัดเจนเท่านั้น” โดย BCG หมายถึงเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Economy) ซึ่งไทยนั้นมีศักยภาพทั้งด้านเกษตร อาหาร สุขภาพและการแพทย์ ไปจนถึงการท่องเที่ยวและบริการ อีกทั้ง “เศรษฐกิจ BCG ยังเป็นโอกาสของทุกระดับตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับเล็กๆ ที่อยู่ในแต่ละพื้นที่” ต่างจากบางอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีหรือเงินทุนอย่างเข้มข้น
“BCG จะไปตอบโจทย์ความมั่นคงของมนุษย์ในระดับโลก อย่างน้อย 4 ความมั่นคงด้วยกัน 1.ความมั่นคงทางอาหาร 2.ความมั่นคงพลังงาน 3.ความมั่นคงในเรื่องของการแพทย์และสุขภาพ และ 4.ความมั่นคงในเรื่องของการมีงานทำ แต่เราไม่ได้สนใจแค่ระดับโลก ประเทศเรามีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทุกคนบ่นแต่เรื่องของการต้องไปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
แต่อะไรคือรูปธรรมของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ถ้าไม่ใช่เป็นการที่สามารถทำให้ประชาชนโดยทั่วไปลืมตาอ้าปากได้ BCG เชิงพื้นที่จึงเป็นคำตอบที่สำคัญที่สุด เพราะ BCG อาศัยความหลากหลายในเชิงชีวภาพและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของทุกภาค เพราะฉะนั้นทุกภาคมีโอกาสที่จะเอา BCG มาสร้างความมั่งคั่งในระดับพื้นที่ ในระดับชุมชนของตัวเอง” อดีต รมว.อว. ระบุ
หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือ “ภาคเกษตร” ที่ปัจจุบันมองเห็นความเปลี่ยนแปลง จากเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ระยะหลังๆ เริ่มเห็นการใช้เทคโนโลยี (เช่น อินเตอร์เนต) เข้ามาช่วยจนกลายเป็นผู้ประกอบการในชนบท ความท้าทายต่อไปคือจะทำอย่างไรให้นโยบายด้าน BCG ของรัฐ ยกระดับคนกลุ่มนี้สู่การเป็นผู้ประกอบการ BCG อาทิ เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farmer) พืชชุมชน เป็นต้น เพราะหากทำได้จะเป็นการสร้างเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เน้นการพัฒนาชุมชน และสร้างประชาธิปไตยจากฐานราก
ส่วน Soft Power นั้น สามารถสรุปลักษณะของ “วิถีไทย (Thainess)” ได้ด้วยนิยาม “5F” ประกอบด้วย 1.Fun สนุกสนาน 2.Flexible ยืดหยุ่น 3.Flavouring ชีวิตมีรสชาติ 4.Friendly เป็นมิตร และ 5.Fullfeeling เติมเต็มความรู้สึก “เมื่อนำไปรวมกับความหลากหลายทั้งในแง่ชีวภาพและวัฒนธรรม จะกลายเป็นศักยภาพที่มหาศาล” ซึ่งนี่คือโอกาสทางเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าของชุมชน หรือการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน สิ่งเหล่านี้ประเทศไทยมีอยู่แล้วแต่ไม่ค่อยถูกขับเคลื่อนอย่างจริงจัง
“ประเทศไทยเราติดอันดับ 6 ของประเทศที่มีระบบสุขภาพดีที่สุดในโลกหลังโควิด ทุกคนบอกเลยว่าระบบสุขภาพของไทยถือเป็นต้นๆ ของโลก เราเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน อันดับ 2 ของเอเชีย อันดับ 7 ของโลก ในประเทศที่รุ่มรวยด้วยมรดกวัฒนธรรม ตรงนี้เรายังใช้ไม่หมดเลย ไปใช้ในเรื่องของการท่องเที่ยว ในเรื่องต่างๆ อีกเยอะแยะ หรือแม้กระทั่งการเป็นอันดับ 1 ของโลก ในการเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุด ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอาหาร มัสมั่นเราอันดับ 1 ของโลก ตามมาด้วยต้มยำกุ้งเป็นอันดับที่ 8 ส้มตำอันดับที่ 46 อย่างนี้เป็นต้น” สุวิทย์ ยกตัวอย่าง
อดีต รมว.อว. ทิ้งท้ายว่า ความท้าทายที่สำคัญคือ“จะสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการดึงศักยภาพทั้งหมดซึ่งไทยมีอยู่แล้วออกมาได้อย่างไร” เพื่อให้โลกหลังโควิด ไทยเป็นประเทศที่คนอยากมากลงทุน (Place toInvest) อยากมาอยู่ (Place to Live) อยากมาเรียน (Place to Learn) อยากมาจับจ่าย (Place to Shopping) และอื่นๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ไทยสามารถทำได้ และเอาจริงๆ ก็ทำกันอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาทำกันอย่างสะเปะสะปะ แต่หลังจากนี้ต้องการการบริหารจัดการที่ชัดเจน
“ประเทศไทยทำดีๆ เรามีโอกาสทะยานในโลกหลังโควิด” สุวิทย์ กล่าวในตอนท้าย
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี