“จังหวัดชัยภูมิเป็นดินแดนที่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดรถแห่เลยก็ว่าได้ เพราะมีช่างฝีมือจำนวนไม่น้อยอยู่ที่นั่น แล้วมองว่าการเกิดรถแห่ในปัจจุบัน มันก็คือการตกผลึกของวัฒนธรรมที่มีอยู่ก่อนหน้านี้มาแล้ว แล้วก็มาศึกษาพื้นที่ในจังหวัดมหาสารคาม ที่ก็ถือเป็นดินแดนหนึ่งที่มีนักดนตรีมากมายอยู่พอสมควร”
จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงการเลือกลงพื้นที่ 2 จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) อย่าง “มหาสารคาม-ชัยภูมิ” เพื่อศึกษาวัฒนธรรม “รถแห่” หรือการนำยานพาหนะขนาดใหญ่อย่างรถบรรทุก มาดัดแปลงให้กลายเป็น “เวทีคอนเสิร์ตเคลื่อนที่” ที่ระยะหลังๆ ได้รับความนิยมไม่เฉพาะแต่ในหมู่ชาวอีสานเท่านั้น แต่ยังขยายไปทั่วประเทศไทย
เรื่องราวการศึกษาวัฒนธรรมรถแห่ที่ จารุวรรณ นำมาบอกเล่านั้น เป็นส่วนหนึ่งในการบรรยายเรื่อง “รถแห่ : วัฒนธรรม (ประชาชน) บันเทิงของคนชั้นกลางใหม่” โดยมองรถแห่ ในฐานะมหรสพสัญจรข้ามพรมแดนวัฒนธรรม รวมถึงในฐานะมหรสพทางดนตรีและการแสดงในแบบ “อีสานใหม่” ซึ่งจัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อช่วงปลายเดือนส.ค. 2565 ที่ผ่านมา
จารุวรรณ เล่าย้อนไปสมัยที่เรียนปริญญาตรี มีอาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวว่า “การศึกษาประวัติศาสตร์สังคมหรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นควรทำให้มองเห็นคนตัวเล็กตัวน้อย”จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจของการศึกษาประเด็นรถแห่เมื่อมาเรียนระดับ ป.โท ซึ่งนอกจากสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกับรถแห่ใน 2 จังหวัดข้างต้นแล้ว ยังร่วมสังเกตการณ์บรรยากาศงานบุญต่างๆ ทั้งในและนอกภาคอีสาน รวมถึงดูกระแสบนโลกออนไลน์ด้วย
“รถแห่เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมพื้นถิ่นกับวัฒนธรรมสมัยใหม่ บทเพลงทั้งเนื้อร้องและทำนองผูกโยงกับวิถีชีวิตแบบชาวบ้านที่ถูกถ่ายทอดส่งต่อกันมายาวนาน” ซึ่งแม้ชาวอีสานจะได้รับวัฒนธรรมจากภายนอก แต่ก็เลือกรับในส่วนที่ถูกจริตของตนเอง ซึ่งดนตรีแบบอีสานนั้นมีความเรียบง่าย ไม่ได้ใช้โน้ตมากนัก ส่วนเครื่องดนตรีก็ทำจากวัสดุธรรมชาติ
โดยมีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า “เสียงแคนคือภาพสะท้อนตัวตนของชาวอีสาน ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญา อีกทั้งแคนยังเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ติดต่อสื่อสารกับโลกแห่งจิตวิญญาณ” ซึ่งเห็นได้จากการใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีตั้งแต่มีงานรื่นเริงบันเทิง ไปจนถึงพิธีกรรมสำคัญต่างๆ “เสียงแคนยังมีความผูกพันต่อชาวอีสานที่ไปทำงานในต่างถิ่น” เพียงได้ยินก็รู้สึกราวกับได้กลับไปเยือนบ้านเกิด
นั่นทำให้ “นักดนตรีชาวอีสานรุ่นแล้วรุ่นเล่า จึงยังรักษาอัตลักษณ์เสียงเครื่องดนตรีพื้นถิ่นที่คุ้นเคย(แคน พิณ โหวต) เอาไว้” อย่างไรก็ตาม “ความหลากหลายทางชาติพันธุ์..ทำให้วัฒนธรรมรถแห่แตกต่างกันด้วยแม้จะเป็นภาคอีสานเหมือนกันก็ตาม” เช่น ในพื้นที่ “อีสานตอนใต้” รถแห่นิยมเล่นเพลงแนว “กันตรึม” ซึ่งเป็นดนตรีที่ได้รับ อิทธิพลมาจากวัฒนธรรมเขมร ขณะที่ “อีสานตอนกลาง” จะนิยมเล่นเพลงแนว “หมอลำ” เป็นต้น
“ส่วนตัวจากที่ศึกษา ก็มองว่ารถแห่ที่ปรากฏในปัจจุบัน ผ่านการผสมผสานระหว่างดนตรีพื้นบ้านที่มีในอีสานมาก่อนหน้านี้แล้วใน2 ทางด้วยกัน ก็คือดนตรีแห่กลองยาวและดนตรีหมอลำซิ่ง ที่ผ่านการปรับปรุงให้สำเร็จรูปจนมีชื่อเสียงเช่นกันในยุคก่อน จนมาถึงช่วงราวทศวรรษ 2550 จนถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการรถแห่ก็ได้ใช้ปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของตนเองผนวกเข้ากับดนตรีสมัยใหม่ที่เข้ามา รถแห่ก็คือสิ่งที่ถูกประกอบสร้างจากหลายสิ่งทั้งเก่า-ใหม่ในอีสาน และมีส่วนสำคัญต่างๆ จนเกิดมาเป็นรถแห่ในปัจจุบัน” จารุวรรณ ระบุ
ทั้งนี้ การดัดแปลงรถบรรทุกให้เป็นเวทีดนตรี เป็นกิจกรรมที่มีมานานแล้วในภาคอีสาน แต่ในอดีตเป็นเพียงการนำเครื่องดนตรีไปตั้งเล่นกันเป็นการชั่วคราวตามโอกาสหรืองานต่างๆ เท่านั้น พอเสร็จงานก็ยกเครื่องดนตรีลงและนำรถไปใช้งานตามปกติ กระทั่งระยะหลังๆ จึงมีการประกอบรถขึ้นมาเพื่อเป็นเวทีมหรสพเคลื่อนที่โดยเฉพาะ อีกทั้งยังมีเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ควบคุมเสียงแบบ “จัดเต็ม” ไม่ต่างจากเวทีคอนเสิร์ตของศิลปินชั้นนำ
จารุวรรณ เล่าต่อไปว่า สมาชิกทีมงานรถแห่มีตั้งแต่แต่งตัวสบายๆ เสื้อยืด-กางเกงยีนส์ ไปจนถึงสวมเสื้อสกรีนชื่อทีมหรือชื่อวงดนตรีของตน“รถแห่ 1 คัน จะมีสมาชิกตั้งแต่ 8-12 คน” ประกอบด้วย 1.คนขับรถ ซึ่งโดยมากคือเจ้าของรถที่แม้จะไม่ใช่นักดนตรีแต่มีใจรักในการแต่งรถและแต่งเครื่องเสียง 2.วงดนตรี มีนักร้องนำ มือกีตาร์ มือเบส มือกลองและมือคีย์บอร์ด และ 3.ผู้ติดตาม เช่น ช่างภาพประจำวง ทำหน้าที่ถ่ายภาพและคลิปวีดีโอ
“ลวดลายและสติ๊กเกอร์บนรถแห่ก็ไม่ใช่ติดไว้โก้ๆ เท่ๆ สวยงามดึงดูดผู้ชมเท่านั้น..แต่ทุกอย่างล้วนมีความหมาย” ตั้งแต่ชื่อวง สัญลักษณ์ของวง ยี่ห้อเครื่องเสียงที่รถแห่เลือกใช้ ช่างหรือร้านแต่งเครื่องเสียงที่รถแห่ใช้บริการซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ว่าจ้าง อีกทั้งยังมีผลทางจิตใจกับผู้สร้างรถแห่นั้นขึ้นมาด้วย อาทิ ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่พ่วงมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ หลายคนต้องตัดใจขายรถแห่ทิ้งไป แต่บ้างก็รู้สึกภูมิใจหากรถแห่นั้นสามารถขายออกไปได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนั้นยังมีช่องทางการติดต่อ (เพจเฟซบุ๊ค ช่องยูทูบ หรือ QR Code) เพื่อให้ผู้ที่ชื่นชอบผลงานรถแห่คันนั้นๆ ได้ติดตามหากไม่สามารถไปชมที่หน้างาน รวมไปถึงผู้สนับสนุนโดยมากคือร้านค้าหรือผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นมาติดต่อขอเช่าพื้นที่ข้างรถเพื่อโฆษณา แม้กระทั่ง “เครื่องหมายลิขสิทธิ์” ก็ยังพบได้บนรถแห่ ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ประกอบการไปซื้อลิขสิทธิ์เพลงมาอย่างถูกต้องเพื่อใช้ประกอบอาชีพของตน ประเด็นนี้ถือเป็นการสร้างคุณค่าให้กับผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง เนื่องจากลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่ยุคสมัยใหม่ให้ความสำคัญ
“รถแห่กับค่ายเพลงยังมีลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน” โดยค่ายเพลงบางแห่งอนุญาตให้รถแห่นำเพลงไปเล่นได้ จึงกลายเป็นการประชาสัมพันธ์ค่ายเพลงไปด้วยในตัว “รถแห่บางเจ้ายังเป็นอุตสาหกรรมครบวงจร” มีทั้งอู่ประกอบรถ บ้านพัก นักดนตรีซึ่งเป็นทั้งที่พัก ห้องซ้อมดนตรี และสตูดิโอตัดต่อวีดีโอ ทั้งนี้ “รถแห่ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานบุญบั้งไฟ อันเป็นประเพณีสำคัญของชาวอีสาน” โดยแต่ละหมู่บ้านจะระดมทุนกันเองเพื่อจ้างรถแห่ ซึ่งมีความอเนกประสงค์ทั้งการบรรเลงทำนองดั้งเดิมตามประเพณี และการเล่นดนตรีสดเอาใจวัยรุ่น
“มันมีการแข่งขันกันเล็กๆ ในขบวนอย่างนี้ด้วย หากชุมชนใดสามารถติดต่อรถแห่คณะที่กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังในขณะนั้น ถือเป็นเกียรติในชุมชนเป็นอย่างมาก ก็ถือเป็นการแข่งขันอย่างหนึ่ง แล้วก็พบว่า พื้นที่ในการแสดงของรถแห่เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในท้องถิ่นอีสานเอง เห็นได้จากงานนี้ หลายสิ่งถูกลดทอนและถูกจัดวางใหม่ เช่น ขบวนกลองยาวก็ไม่ได้หายไปเลยเสียทีเดียว ขบวนกลองยาวถูกจัดให้ไปอยู่ในกลุ่มของการอนุรักษ์ เป็นการประกวดประชันฟ้อนรำสวยงามมากกว่า แต่ Function (การใช้งาน) จริงๆ ใช้รถแห่” จารุวรรณ กล่าว
ล่าสุดเมื่อไม่นานนี้ ยังมีข้อค้นพบอีกว่า “รถแห่ไปไกลกว่าความผูกพันกับวัฒนธรรมอีสานกระแสหลักที่อิงศาสนาพุทธ..เพราะแม้กระทั่งผู้นับถือศาสนาคริสต์ในพื้นที่ก็ใช้รถแห่เป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมของชุมชนด้วย” โดยประมาณเดือน มิ.ย. 2565 มีการแชร์คลิปวีดีโอชุมชนชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ใน อ.ท่าแร่ จ.สกลนคร เฉลิมฉลองบาทหลวงคนแรกของชุมชนในรอบ 105 ปี ผ่านแอปพลิเคชั่นติ๊กต็อก ซึ่งในคลิปปรากฏภาพชาวบ้านใช้รถแห่ร่วมในขบวนพิธี
“ด้วยความที่ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการตั้งและเก็บเวที ทำให้รถแห่รับงานได้หลายแห่งในเวลาที่จำกัด” ซึ่งปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ มีอุปกรณ์เช็คระบบเสียงได้ทั้งงานและปรับแก้โดยผ่านคอมพิวเตอร์แท็บเลตเพียงเครื่องเดียวมีอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณอินเตอร์เนตทำให้สามารถถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ขณะทำการแสดงได้ด้วย ยิ่งเพิ่มชื่อเสียงและโอกาสที่จะมีผู้ว่าจ้างไปแสดงสดมากขึ้น รวมถึงเป็นช่องทางหารายได้ประทังชีวิตในช่วงล็อกดาวน์สกัดโควิด-19 ที่การชุมนุมรวมกลุ่มคนจำนวนมากถูกห้าม
ขณะเดียวกัน พื้นที่ออนไลน์ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรวมกลุ่มเพื่อประสานงานหรือเจรจาต่อรองกับผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้ เช่น เจ้าของลิขสิทธิ์เพลง หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เป็นต้นหรือการพูดคุยโดยตรงระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้ประกอบการรถแห่ แทนที่จะต้องผ่านนายหน้าอย่างการจ้างหมอลำในอดีตซึ่งนายหน้าจะหักค่าจ้างส่วนหนึ่งไป อนึ่ง “เพลง” ก็เป็นอีกองค์ประกอบที่เป็นอัตลักษณ์ของรถแห่ ดังที่มีคำว่า “เวอร์ชั่น รถแห่” หมายถึงการนำเพลงทั่วๆ ไปที่มีอยู่แล้วมาดัดแปลงจังหวะให้เร็วขึ้นเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน
บทสรุปของการศึกษาเรื่องราวของรถแห่ 1.รถแห่เป็นการแสดงตัวตนที่ซ้อนทับระหว่างวัฒนธรรมเก่าและใหม่ หรือก็คือความเป็นอีสานใหม่ บนรากฐานวัฒนธรรมเก่าในท้องถิ่น และข้ามพรมแดนเชื่อมต่อกับโลกภายนอก 2.รถแห่สร้างสุนทรียภาพของตนเองขึ้นมา ผ่านการผสนผสานะหว่างดนตรีอีสานกับเทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นรูปแบบเฉพาะตัว และ 3.การปรับตัวทำให้อยู่รอดได้ในช่วงวิกฤต ดังที่เห็นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเมื่อทุกอย่างเริ่มคลี่คลายลง การแสดงมหรสพกลับมาทำได้อีกครั้ง รถแห่ก็กลับมาอย่างยิ่งใหญ่ด้วย
“การศึกษารถแห่ในมิติประวัติศาสตร์สังคมของชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อย จึงได้เห็นพลวัตมีความเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ซึ่งเราก็ไม่อาจเพิกเฉยในประเด็นเล็กน้อยต่างๆ เหล่านี้ในสังคมได้ โดยเฉพาะวัฒนธรรมบันเทิงที่คิดว่ามันเป็นเรื่องของความสนุกสนานเท่านั้น แต่เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้มันมีรายละเอียดของสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมที่แทรกซ้อนอยู่ ทุกการเปลี่ยนแปลง ทุกกิจกรรม
เราสามารถมองพื้นที่การศึกษาท้องถิ่น เพื่อเชื่อมโยงกับโลกใบใหญ่ได้เช่นกัน พวกเราในฐานะผู้ศึกษาก็สามารถเป็นผู้ถูกศึกษาได้เหมือนกันและประวัติศาสตร์สังคมมันก็เป็นประวัติศาสตร์ของคนธรรมดาอย่างเราๆ ที่พยายามจะเป็นจุดที่ทำให้เรามองว่า คนตัวเล็กตัวน้อยก็สามารถขับเคลื่อนสังคมได้ในรูปแบบหนึ่งของพวกเขา ในแนวทางของพวกเขา ในมิติต่างๆ ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐหรืออำนาจเศรษฐกิจใหญ่ๆ เพียงอย่างเดียว” จารุวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี