เมื่อล่วงเข้าสู่เดือนกันยายน 2565ก็เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือนแล้ว กับการที่ประเทศไทยจะปรับลดระดับ “โควิด-19” จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังซึ่งกว่า 2 ปี ที่ไทยและทั่วโลกเผชิญวิกฤตโรคระบาดครั้งร้ายแรงนี้ นอกจากผลกระทบด้านสุขภาพจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนมากแล้วยังรวมถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการตกงานกิจการปิดตัว ผู้คนขาดรายได้ บางรายเครียดถึงขั้นฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะ “แรงงานนอกระบบ” ที่สภาพการทำงานไม่มั่นคงเพราะไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมเฉกเช่นลูกจ้างในสถานประกอบการ
ย้อนไปช่วงต้นเดือนกันยายน 2565 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2565 ในหัวข้อ “ก้าวไปข้างหน้า บอกลาโควิด ชวนคิดย้อนหลัง (Social Reflexivity from COVID-19 and its [Re] Normalization)” ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมของงานดังกล่าว คือการเสวนาหัวข้อ “แรงงานนอกระบบกับโจทย์หลังโควิด-19” มีตัวแทนเครือข่ายอาชีพที่จัดเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ มานำเสนอมุมมอง “ย้อนความหลัง-แลไปข้างหน้า” อะไรคือผลกระทบ และอะไรคือสิ่งที่อยากเรียกร้องขอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กชพร กลักทองคำ ตัวแทนกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ก็ยังน่าทึ่งว่าผ่านช่วงวิกฤตแบบนั้นมาได้อย่างไร หลายคนกินข้าวไม่ครบมื้อในแต่ละวัน บ้างต้องขายเครื่องจักร หรือแม้แต่เก็บข้าวของกลับต่างจังหวัดเพราะไม่มีค่าเช่าที่พักในเมือง ซึ่งก็ต้องขอบคุณภาคประชาสังคมที่เข้ามาช่วยเหลือ ตั้งแต่การจัดหาอาหาร อุปกรณ์ป้องกันโรค การส่งต่อรักษา ตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีน เนื่องจากภาครัฐนั้นเข้าไม่ถึงเพราะการเยียวยาของรัฐมองเป็นแบบทั่วไป ไม่ได้จำเพาะเจาะจงเป็นอาชีพ
“ในช่วงภาวะไม่ปกติ ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ ในช่วงเจอโรคร้าย ทำอย่างไรจะให้การสนับสนุนมันเข้าถึงเรา คือรัฐควรจะให้ถึงเราโดยเป็นทั้งผู้ให้ เป็นทั้งผู้ประสานด้วย อย่างเช่นการพัฒนา ถ้าเราพัฒนาถูกจุดมันจับต้องได้ มันไปข้างหน้าได้ อีกอย่างหนึ่งคือการส่งเสริม มันต้องทันสมัย มันต้องทันเหตุการณ์ด้วย คือทุกอย่างเราคิดว่ามันต้องมี รัฐควรจะคิดหนักและมีส่วนร่วมของตัวแทนจริงๆ เพราะถ้าเราบอกว่าเขาคิดเอาเออเอง มันก็ไม่ตอบโจทย์ของปัญหา” กชพร กล่าว
ปรีชา ไทยสงเคราะห์ ประธานสหพันธ์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าหาบเร่แผงลอยเปรียบเสมือน “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของคนเมือง แต่จำนวนมากยังไม่ได้กลับเข้าพื้นที่หลังถูกยกเลิกการทำการค้าไปในช่วงที่มีการจัดระเบียบ อีกทั้งยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบทำให้ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ดังนั้นสิ่งที่เรียกร้องคือ “จุดไหนที่มีความพร้อมแล้วก็อยากให้ภาครัฐเร่งอนุญาตให้ผู้ค้ากลับเข้าไปทำการค้าเพื่อให้มีรายได้” ขณะเดียวกัน ผู้ค้าเองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
“ต่อไปอนาคตหาบเร่แผงลอยไม่เหมือนเดิมแล้ว เรามองว่าผู้ค้าหาบเร่แผงลอยต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา แล้วตัวพวกเรา หาบเร่แผงลอยที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งบางคนอายุเกิน 50 บางคน 45 ก็ต้องเรียนรู้กับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เราก็อยากจะให้ภาครัฐช่วยลงมาสนับสนุนในการเรียนรู้ ให้พวกเราได้มีความรู้ใหม่ๆ แต่เรายังดีที่ยังมีมูลนิธิที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องการเรียนรู้ แต่การเรียนรู้ของเราแต่ละกลุ่มก็ต้องเรียนรู้กันไป” ปรีชา กล่าว
เฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย เล่าว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ชาววินมอเตอร์ไซค์หลายคนกลับบ้านเกิดที่ต่างจังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่กลับไปแล้วหางานอื่นทำได้ก็ไม่กลับมากรุงเทพฯ อีก ขณะที่ปัจจุบัน ผู้ที่ยังยึดอาชีพ จยย.รับจ้างต้องเผชิญปัญหาน้ำมันแพง เสียค่าน้ำมันเฉลี่ย 200 บาท/วัน จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 100-150 บาท/วันก็เพียงพอ
ขณะเดียวกัน “กลไกภาครัฐก็ไม่ตอบโจทย์”เพราะคณะกรรมการ 4 ฝ่ายในการจัดระเบียบ จยย.รับจ้าง ทั้งหมดล้วนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก ตำรวจ ทหาร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ในที่นี้คือกรุงเทพมหานคร-กทม.) ไม่มีตัวแทนผู้ประกอบอาชีพเข้าร่วมด้วย จึงเสนอว่า ในระดับอนุกรรมการควรเพิ่มโควตาตัวแทนจากคนทำงานเข้าไปด้วย อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น จนกลายเป็นปัญหาที่น่าห่วงยิ่งกว่าโควิด-19 ที่หลายคนปรับตัวกันได้แล้ว
“เขาพยายามผลักดันให้เราไปอยู่ในบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่นอกกรมการขนส่งทางบก คือกฎระเบียบของเราอยู่ในกรมการขนส่งทางบก แต่พอเราออกไปอยู่กับทางบริษัทแพลตฟอร์ม มันก็จะทำให้เราไปใช้ระเบียบข้อบังคับของบริษัทซึ่งมันขัดแย้งกันกับกฎกระทรวง เราก็ทำไม่ได้ พอเราทำไม่ได้เราก็พยายามเรียกร้องให้เขาบังคับใช้กฎหมายหรือออกนโยบายอะไรมาก็ตาม ทำให้พวกเราสามารถประกอบอาชีพอยู่ได้
เราก็ยอมรับว่าอาชีพวินมอเตอร์ไซค์แรกเริ่มมันเกิดจากกลุ่มคนที่มารวมตัวกันเพื่อประกอบอาชีพปากซอย-ท้ายซอย แต่ก่อนเขาก็มองว่าคล้ายๆ กลุ่มคนผู้มีอิทธิพลทำกัน แต่พอมาหลังๆ พอขึ้นทะเบียนได้แล้ว มีภาครัฐเข้ามาดูแลควบคุม แทนที่เราจะอยู่ดีสบายและไต่อาชีพขึ้นไปได้ เรากลับต้องมาทะเลาะกับหน่วยงานที่ดูแลเรา แทนที่เขาจะเข้ามาดูแลเรา ยกระดับอาชีพให้กับพวกเรา และดูแลพวกเราให้เป็นไปตามกฎกระทรวงที่เขาออกมา กลายเป็นว่าเราต้องไปขอร้องให้เขาบังคับใช้กฎกระทรวงที่เขาออกมาให้เรา” เฉลิม ระบุ
กัญญภา ประสพสุข ประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้าน กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ลูกจ้างทำงานบ้านมีทั้งถูกเลิกจ้าง ถูกลดวัน-เวลาทำงาน หรือที่ยังมีงานทำก็ยังพบถูกนายจ้างขอให้ตรวจ ATK คัดกรองโควิด-19 ก่อนเข้าทำงาน กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายของคนรับงาน ซึ่งสำหรับกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน มีข้อเสนอคือ “ต้องการเป็นแรงงานในระบบ” เช่นเดียวกับแรงงานในสถานประกอบการ เพราะลูกจ้างทำงานบ้านมีนายจ้างและมีรายได้เป็นเงินเดือน แต่กลับไม่ได้เข้าระบบประกันสังคมมาตรา 33 และไม่มีความคุ้มครองอย่างลูกจ้างในสถานประกอบการ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีหน่วยงานเข้ามาให้ความช่วยเหลือ เช่น มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet Thailand) สนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์ม “โฮมแคร์ไทยแลนด์ (Homecare Thailand)” เพิ่มโอกาสให้กับลูกจ้างทำงานบ้านในการได้รับการว่าจ้าง โดยหวังว่าในอนาคตจะแข่งขันกับบริษัทนายหน้าอื่นๆ ได้รวมถึง กระทรวงแรงงาน จัดอบรมโครงการแม่บ้านทันสมัย เป็นต้น ซึ่งก็มีข้อเสนอให้เพิ่มเนื้อหาการอบรมที่ผู้ประกอบอาชีพต้องการ เพื่อเพิ่มพูนทักษะการทำงาน
“ได้สอบถามเพื่อนๆ สมาชิก พวกเขารู้สึกประทับใจมากที่ได้อบรมแม่บ้านทันสมัย แล้วก็อบรมต่างๆ แล้วข้อเรียกร้องมีมาก ขออบรมไอที ขอเข้ารับการอบรมภาษา อบรมเรื่อง First Aid (การปฐมพยาบาลเบื้องต้น) หรือการดูแลคนสูงอายุ แล้วการพัฒนาฝีมือต่างๆ รู้สึกสมาชิกจะต้องการตรงนี้ เพราะเขาเชื่อว่าถ้าเขามีความสามารถด้านนี้ ผ่านการอบรมด้านนี้มันจะทำให้เขามีประสิทธิภาพ หรือมีคุณภาพที่นายจ้างจะเลือกเขาทำงานได้มากยิ่งขึ้น”กัญญภา กล่าว
พิทักษ์ โยธา นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์แพทย์แผนไทย กล่าวว่า นวดแผนไทยเป็นอีกอาชีพที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่ล่าสุดก็ค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาแล้ว ซึ่งนวดแผนไทยเป็นอาชีพที่มีการประกันรายได้ 300-500 บาท/วันขึ้นอยู่กับแต่ละร้าน อย่างไรก็ตาม “นวดแผนไทยยังเป็นอาชีพที่ขาดแคลน” จึงหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเปิดอบรมทักษะวิชาชีพด้านนี้
ขณะเดียวกันยังพบว่า “นวดแผนไทยไปไกลทั่วโลก..แต่ไม่ได้ไปแบบในระบบ” ประเด็นนี้ต้องฝาก กระทรวงแรงงาน ช่วยเจรจากับต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านนวดในต่างประเทศเข้าสู่ระบบ เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพนวดแผนไทยสามารถไปทำงานในต่างประเทศได้อย่างถูกต้องและได้รับความคุ้มครอง และเช่นเดียวกับลูกจ้างทำงานบ้าน “นวดแผนไทยเป็นอีกอาชีพที่ต้องได้รับการผลักดันให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม” เพราะจะเหมาะสมกับแรงงานที่ไปทำงานห่างไกลภูมิลำเนา อาทิ ในเมืองท่องเที่ยวต่างๆ มากกว่าสิทธิบัตรทองที่ต้องมีขั้นตอนโอนย้าย
“ตอนนี้ผมมองก้าวข้ามโควิดไปแล้ว ซึ่งความเจ็บปวดที่ผ่านมาผมจะไม่พูดถึงแล้ว คือมันผ่านมาแล้ว แล้วก็ไม่อยากจะย้อนกลับไปอีกเราจะอยู่กับมัน อยู่กับโควิด แล้วก็มาสร้างงานสร้างอาชีพ ช่วยกันพัฒนาประเทศดีกว่า ซึ่งนวดและสปา ในอดีตเคยสร้างรายได้ให้ประเทศไทยก่อนโควิด ปีละ 5-6 หมื่นล้านบาท แต่ ณ ตอนนี้ก็เริ่มสร้างงานสร้างเงินให้กับประเทศ
ซึ่งแรงงานเหล่านี้ไปอยู่ต่างประเทศก็โอนเงินกลับมาในประเทศนี้ก็เยอะพอสมควร ทั้งในประเทศก็มีแรงกำลังซื้อเยอะพอสมควร แรงงานเหล่านี้นวดแล้วได้เงิน เขาไปซื้อหาบเร่แผงลอย ซื้อของต่างๆ นั่งวินมอเตอร์ไซค์มาแต่ก่อนต้องเดิน แต่ตอนนี้เขาก็มีเงินจะซื้อจะจ่าย นั่งวินมอเตอร์ไซค์มาทำงาน อันนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นนิมิตหมายที่ดี” พิทักษ์กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี