เมื่อเร็วๆ นี้ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2565 ของคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. (EconTU Symposium) ครั้งที่ 44 ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายของการยกระดับ S-Curve ในยุค Next Normal” ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเสวนาเรื่อง “9 เดือนผ่านไป เศรษฐกิจไทยไหวหรือเปล่า?” โดยมีวิทยากร 3 ท่านร่วมให้มุมมอง
เบญจรงค์ สุวรรณคีรี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของไทยยุคก่อนโควิดอยู่ที่ 16.9 ล้านล้านบาทแต่ในปี 2565 อยู่ที่ 16.7 ล้านล้านบาท ยังน้อยกว่าถึง2 แสนล้านบาท ขณะที่เพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซียและเวียดนาม เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี และ GDP ก็กลับไปอยู่ในจุดที่มากกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นยุคก่อนโควิดแล้ว
ขณะที่เมื่อดูเป็นรายภาคส่วน พบว่า 1.การส่งออก นับตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 การส่งออกคือ “พระเอก” ดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในภาพรวม ถึงกระนั้น การส่งออกก็เป็นเรื่องของตัวเลข ไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจฐานกว้าง อีกทั้งผู้ส่งออกระดับนำในไทยก็ไม่ได้มีจำนวนมากนัก อนึ่ง ในปี 2564การส่งออกของไทยสูงเป็นประวัติการณ์ โดยขยายตัวถึงร้อยละ 17แต่ในปี 2565 นี้ ต้องดู 2 ปัจจัย ด้านหนึ่งปีก่อนส่งออกสูงเป็นพิเศษ หากปีนี้จะเอาชนะก็คงโตได้แต่ไม่มาก
กับอีกด้านหนึ่งที่เศรษฐกิจโลกผันผวน บวกกับการทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเศรษฐกิจ หรือเพื่อกดเงินเฟ้อ ก็จะทำให้ Demand (อุปสงค์-ความต้องการ) ในเศรษฐกิจโลกลดลง ส่วนฝั่ง Supply (อุปทาน-การจัดหา) ก็มีปัญหา เช่น Supply Chain Disruption (ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก) การขาดแคลน Semiconductor (ชิพ) Sentiment (ความอ่อนไหว)และราคาในตลาด ซึ่งกระทบการส่งออกทั้งสิ้น โดยรวมทั้งปี 2565การส่งออกน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6-7
2.การท่องเที่ยว เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน เห็นได้จาก 8 เดือนแรกของปี 2565 มีชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยแล้ว 4 ล้านคน และช่วง 4 เดือนสุดท้ายซึ่งจะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) ก็น่าจะเข้ามาเฉลี่ยเดือนละมากกว่า1 ล้านคน 3.การบริโภค ฟื้นตัวเช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวแต่ก็มีข้อจำกัดในการเติบโต เช่น หนี้ครัวเรือน ปัญหาเงินเฟ้อ และ 4.การลงทุน ในภาคเอกชนพบยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องส่วนภาครัฐชะลอตัวลง ซึ่งก็สอดคล้องกับปัจจุบันที่หนี้สาธารณะค่อนข้างสูง รวมถึงงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโควิดถูกใช้ไปจนใกล้จะหมดแล้ว
“ในปี 2565 ที่เหลือ ผ่านมา 9 เดือนแล้ว อีก 3 เดือนหลังก็เป็นแรงฮึด ซึ่งหวังว่าท่องเที่ยวจะเข้ามาหนุน การบริโภคในประเทศถ้ายังยืนได้ แล้วก็ส่งออกกลับมา อาจจะปิดปีนี้ GDPโตได้ 3% แต่เราเหลือโจทย์ที่ต้องปิดช่องว่าง GDP ที่หายไปตอนช่วงโควิด” รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กล่าว
คงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 มูลค่าการส่งออกไปในตลาดโลกยังถือว่าค่อนข้างดีแต่การเติบโตที่เห็นเป็นการมองในแง่มูลค่า ส่วนในแง่ปริมาณยังมีคำถาม เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ขณะที่การนำเข้าในช่วงเดียวกัน หลายสินค้าเพิ่มขึ้น แต่จำนวนตู้คอนเทนเนอร์กลับลดลงร้อยละ 4.2 โดยเฉพาะช่วง 2 เดือนล่าสุด จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการ พบการลดลงของ Order (การสั่งสินค้า) ดังนั้นแม้การส่งออกจะโต แต่ก็น่าจะโตในอัตราถดถอยมากกว่าอัตราเร่ง
เมื่อดูเป็นรายประเภทสินค้า พบว่า 1.เกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 7 เดือนแรกที่ผ่านมาเติบโตร้อยละ 16.7 ซึ่งได้รับอานิสงส์จากราคาในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามสินค้าเกษตรไทยส่งออกไปประเทศจีนมากถึงร้อยละ 23.8 จึงต้องจับตาเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจของจีนค่อนข้างสุ่มเสี่ยง แม้ไม่ถึงขั้นถดถอยแต่การเติบโตอาจน้อยกว่าที่คิด ส่วนการส่งออกไปประเทศอื่นๆ ค่อนข้างทรงตัว และราคาสินค้าเกษตรไทยยังอยู่ในเกณฑ์แข่งขันได้ อีกปัจจัยที่ต้องติดตามคือภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง ปรากฏการณ์ลานีญาที่ทำให้ฝนตกหนักและตกชุก
2.สินค้าอุตสาหกรรม 7 เดือนแรกที่ผ่านมาก็เติบโตได้ดีก่อนเห็นสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะรถยนต์ ซึ่งมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังพอไปได้เรื่อยๆ ขณะที่เมื่อวิเคราะห์เป็นรายประเทศหรือภูมิภาค พบว่า “สหรัฐอเมริกา” จะอยู่ที่เรื่องเงินเฟ้อ แต่ชาวอเมริกันก็ค่อนข้างแปลก เพราะแม้ประเทศจะมีปัญหาเงินเฟ้อมานานแต่ก็ยังมีพฤติกรรมบริโภคสินค้าต่างๆ อยู่มากเช่นเดิม ซึ่งปัจจุบัน สหรัฐฯ แซงจีนไปแล้วในด้านการเป็นประเทศที่ซื้อสินค้าจากไทย
ขณะที่ “สหภาพยุโรป (EU)” ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบกับ EU อย่างชัดเจน เห็นได้จากปริมาณสินค้าทั้งจากไทย รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออก (Far East-ตะวันออกไกล) ที่ส่งไปยุโรปนั้นลดลง ส่วน “จีน” นอกจากเศรษฐกิจชะลอตัวแล้วยังเจอปัญหาภัยแล้ง ซึ่งก็ยังทำให้จำเป็นต้องซื้อสินค้าเกษตรจากต่างประเทศอยู่ ส่วนข้อกังวลเรื่องความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน จะส่งผลกระทบต่อการผลิตชิพนั้น ไต้หวันได้ปรับตัวหันไปสั่งทรายที่เป็นวัตถุดิบจากแหล่งอื่น
แทนจีนมาพักใหญ่แล้ว ผลกระทบที่คาดการณ์กันไว้จึงไม่น่าจะมีมากนัก
“ในมุมของผู้ประกอบการ เรากังวลเรื่องของพลังงาน เราอยากให้ภาครัฐช่วยในเรื่องของการควบคุมเรื่องต้นทุน เรื่องต้นทุนเป็นตัวหลักเลย มันเป็นสิ่งที่ค้ำคอเรามาก ถ้าเกิด Global Demand (ความต้องการทั่วโลก) มันเลวร้ายไปกว่านี้ต้นทุนที่สูงมันอาจจะทำให้เราอยู่ไม่รอดในการประกอบธุรกิจในระยะหลังจากนี้ ส่วนการขึ้นราคา คิดว่าเป็นเรื่องที่ยาก เราก็เข้าใจว่าภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจของประชาชนไทย มันก็เป็นเรื่องยากที่จะขึ้นราคา ดังนั้นสิ่งที่เราอยากได้จริงๆ คือทำให้เรามีต้นทุนในการผลิตที่อยู่ได้ทั้งตลาดในประเทศและส่งออก” คงฤทธิ์ กล่าว
รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ กลุ่มคลัสเตอร์ความสามารถในการแข่งขัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อัตราของผู้ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ (Catching Up Rate) เมื่อเทียบกับโลกยุคก่อนโควิด-19 ปัจจุบันไทยอยู่ที่ 0.37 ต่ำกว่าเพียงมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ที่ 0.42 แต่หากตัดปัจจัยเรื่องนักท่องเที่ยวจีนออกไป ไทยจะอยู่ที่ 0.5 และยังสามารถดันต่อได้ ภาคการท่องเที่ยวจึงมีบทบาทเป็นพระเอกในช่วงนี้
ส่วนการส่งออกนั้น ช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ยังทำหน้าที่ได้ดีอยู่ กระทั่งแผ่วลงในเดือนกรกฎาคม อีกทั้งลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเดียวกับกลุ่มยานยนต์ที่ลดลงเร็วเมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย ขณะที่การลงทุนโดยตรง ปัจจุบันเริ่มเห็นการเข้ามาลงทุนในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นด้านอาหารและคอมพิวเตอร์ แต่เม็ดเงินที่เข้ามาก็ยังน้อยกว่าสิงคโปร์และอินโดนีเซีย
สำหรับ “ปัจจัยที่ต้องจับตามองว่าอาจส่งผลกระทบไปถึงปี 2566” เช่น อัตราเงินเฟ้อที่ไทยสูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนามและมาเลเซีย ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังสูงหนี้ครัวเรือน อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เหล่านี้อาจทำให้การบริโภคและการลงทุนลดลง ซึ่งการลงทุนภาคเอกชนก็ยังไม่ฟื้นอย่างชัดเจน โดยไตรมาสแรกนั้นติดลบไปถึงร้อยละ 7ส่วนไตรมาสที่ 2 ติดลบร้อยละ 1.33
“อัตราเงินเฟ้อที่สูงจะแก้อย่างไรได้บ้าง อาจจะต้องเข้ามาดูอัตราแลกเปลี่ยนให้ใกล้ชิด อาจจะกังวลว่าถ้าเข้ามาดูแล้วทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมันแข็งแล้วจะส่งผลต่อการส่งออกไหม? คิดว่ามันจะไม่ส่งผลมากด้วย 2 เหตุผล 1.อัตราแลกเปลี่ยนมันจะมีผลต่อการส่งออกมากถ้าเกิดว่าใช้ Domestic Content (ของในประเทศ) เยอะๆ ฉะนั้นเกษตรก็อาจเป็นไปได้ แต่ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่มันมี Import Content (ของนำเข้า)เยอะๆ แล้วเราอยู่ใน Global Value Chain (ห่วงโซ่อุปทานของโลก) ตรงนี้อาจจะไม่มีผลมาก
2.ถ้าเกิดอัตราเงินเฟ้อของเรามันเพิ่มขึ้นไปสูงมากๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ต้นทุนของผู้ผลิตจะสูง และทำให้ผลประโยชน์ที่เราจะได้จากอัตราแลกเปลี่ยนที่มันอ่อน หรือเรียกว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงมันจะลดลง แล้วในที่สุดก็จะทำให้การส่งออกเราลดลงกว่าที่เราตั้งใจที่จะได้จากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่า อีกอันหนึ่งที่จะทำได้คือเราคงจะต้องเข้าไปช่วยผู้เปราะบาง ซึ่งรัฐบาลก็พยายามทำอยู่ ฉะนั้นก็ต้องมีการประเมินต่อเนื่องว่ามันดีขึ้นไหม?ผู้เปราะบางดีขึ้นไหม? มาตรการเหล่านี้ควรต้องยืดเวลาไหม?” รศ.ดร.จุฑาทิพย์ กล่าว
รศ.ดร.จุฑาทิพย์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้น รัฐบาลควรเข้าไปดูโครงสร้างของราคา ว่าโครงสร้างบางอย่างมีการบิดเบือนหรือไม่ เช่น โควตา ซึ่งยังดีที่รัฐบาลยอมลงโควตา 3 ต่อ 1หรือการเลื่อน (Postpone) การเก็บการตอบโต้ภาษีของสินค้าบางอย่างออกไปเพื่อไม่เพิ่มต้นทุนกับผู้ประกอบการ โดยรัฐบาลต้องประเมินว่าจะต้องต่อนโยบายออกไปหรือไม่ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัว เช่น ทำให้เครื่องจักรมีประสิทธิภาพมากขึ้น หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน และทำให้พลังงานที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี