ระเบิดศึกจ้าวลำน้ำโขง ชิงถ้วยพระราชทาน ทม.นครพนมจัดยิ่งใหญ่ เชื่อมสัมพันธ์ไทย-ลาว 65 ไฟต์ชี้ชะตาแพ้สนามนี้หมดสิทธิ์ล้างตา
วันที่ 7 ต.ค.65 เมื่อเวลา 09.00 น.บริเวณริมแม่น้ำโขง หน้าวัดพระอินทร์แปลง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองนครพนม พร้อมคณะกรรมการจัดการแข่งขันเรือยาวประเพณีเชื่อมสัมพันธ์ไทยลาว ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและถ้วยพระราชทานกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 6-9 ต.ค.โดยมีเรือยาวนักล่าเงินรางวัลจากจังหวัดต่างๆ และเรือจากประสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ส่งเข้าชิงชัยการเป็นจ้าวแห่งลำน้ำโขงครั้งนี้ด้วย
โดยมี นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธา และนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง/ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย นางสาวศุภพานี โพธิ์สุ นายก อบจ.นครพนม พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ในการนี้ท้าวศักดา แก้วมณีชัย รองเจ้าเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน พันโทบัวลอน อ้วนดารา รองหัวหน้ากองบัญชาการฯ นางสมฟอง มูลทะลาด รองหัวหน้าห้องการศึกษาและกีฬาเมืองท่าแขก ฯลฯ ได้นั่งเรือยนต์ข้ามแม่น้ำโขงมาเข้าร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ด้วย
นายนิวัติ เจียวิริยบุญญา นายกฯเทศบาลเมืองนครพนม กล่าวว่า ประเพณีการจัดแข่งขันเรือยาวในลำน้ำโขงแห่งนี้ ได้สืบทอดกันมาแต่โบราณ เพื่อเป็นการเผยแพร่และอนุรักษ์ไว้ซึ่งเอกลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีของคนสองฟากฝั่ง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมประเพณีการแข่งขันเรือยาวในลุ่มน้ำโขง และส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มศักยภาพในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอันงดงามของ 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติในจังหวัดนครพนม ซึ่งการแข่งขันชิงเป็นจ้าวลุ่มน้ำโขง แบ่งออกเป็น 4 ประเภท มีเรือเข้าร่วมชิงชัยจำนวนทั้งสิ้น 63 ลำ และมีเงินรางวัลกว่า 5 แสนบาท
ทั้งนี้ การประลองฝีพายแข่งเรือยาวของเทศบาลเมืองนครพนม ถือเป็นสนามที่ใหญ่สุดในภูมิภาคอีสานแห่งหนึ่ง โดยจะมีเรือส่งเข้าแข่งขันจากหลายๆจังหวัด อีกทั้งเป็นสนามที่มีทางน้ำตรงไม่คดเคี้ยว แต่ก็เป็นสนามปราบเซียนที่เหล่าฝีพายไม่สามารถกำหนดทิศทางน้ำได้ชัดเจนเหมือนสนามอื่น ถือว่าเป็นสนามที่โหดสุดในแถบลุ่มน้ำโขงเลยทีเดียว และเป็นสนามสุดท้ายของงานบุญออกพรรษา ถ้าทีมไหนแพ้หมดสิทธิ์แก้ตัว ต้องรอปีหน้าถึงมาล้างตากันอีกครั้ง
หลังจากเสร็จพิธีเปิด ก่อนจะเริ่มการประลองยุทธ์กัน ก็จะเป็นพิธีตีช้างน้ำนอง ซึ่งเป็นพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม่พระคงคา เทวดา พญานาคเพื่อบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองทั้งบกและในน้ำ โดยเรือแต่ละลำที่เข้าร่วมแข่งขันจะต้องนำเรือมาร่วมพิธี โดยไปรวมกัน ณ ท่าน้ำที่เป็นจุดศูนย์รวมก่อนที่จะพายเรือล่องตามลำน้ำโขง ระหว่างการพายเรือจะมีการโห่ร้อง ตีกลอง เคาะเกราะ เป็นจังหวะเพื่อเอาฤกษ์เอาชัยในน่านน้ำ
พิธีตีช้างน้ำนองเป็นการใช้ไม้พายของลูกเรือ พายจ้ำลงไปในน้ำอย่างพร้อมเพรียงกัน เมื่อยกไม้พายขึ้นเหนือพื้นนำจะทำให้เกิดฝอยน้ำแตกกระเซ็นขึ้นบนอากาศ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ในสมัยโบราณเปรียบเหมือนกับโขลงช้างที่กำลังเล่นน้ำ ทำให้น้ำบริเวณแห่งนั้นเกิดเป็นคลื่นใหญ่ ซัดเข้ากระทบฝั่งจนเกิดเสียงดัง คนโบราณจึงเปรียบลักษณะดังกล่าวว่าเป็น พิธีตีช้างน้ำนอง นับแต่นั้นเป็นต้นมาในการแข่งขันเรือประเพณีออกพรรษา จึงมีพิธีตีช้างน้ำนองขึ้นในระหว่างการจัดงานแข่งขันในลำน้ำโขง
อนึ่ง การแข่งเรือยาว หรือชาวอีสานเรียกว่าส่วงเฮือ เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน โดยจัดขึ้นระหว่างงานบุญออกพรรษา มีความมุ่งหมายให้ชาวบ้านได้สนุกสนานร่วมกัน ก่อให้เกิดความสามัคคี ความเสียสละ และเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนชาวลาวและชาวไทย โดยเทศบาลเมืองนครพนมได้จัดขึ้นในลำน้ำโขง มีระยะทางแข่งขัน 3 กิโลเมตร มีร่องน้ำที่ไหลเชี่ยวยากลำบากมากในการแข่งขัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้ชนะคือผู้เก่งที่สุดในแถบลุ่มน้ำโขง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี