แม้ว่ากาลเวลาของพุทธกาลจะล่วงเลยมานานเข้าสู่ปี พ.ศ.2565 แล้ว แต่การสืบทอดพระธรรมวินัยขององค์เด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ องค์สมณโคดมบรมครู ยังคงสืบทอด อย่างเคร่งครัดโดย “พระสงฆ์” เป็นแกนหลักในการทำให้พระธรรมวินัยนั้นถูกต้อง
ขณะที่คนเมืองซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองหลวง คือ กรุงเทพมหานคร ได้มีโอกาสทำบุญใหญ่ประจำปี คือ “กฐินทาน” เพียงปีละครั้งตามพระธรรมวินัย โดยเน้นการไปทอดกฐินที่วัดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อย่างเช่น การทอดกฐินที่วัดศรีรัตนธรรมาราม จังหวัดสมุทรปราการ ในแต่ละปีจะมีผู้ไปร่วมทอดกฐินเป็นจำนวนมาก โดยมี “สมเด็จพระญาณวชิโรดม” (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) เป็นประธานสงฆ์และกล่าวสัมโมทนียกถา เพื่อให้หลักธรรมตามคำสอนขององค์สมณโคดมบรมครูอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธ ซึ่งในพิธีทอดกฐิน ณ วัดศรีรัตนธรรมาราม จังหวัดสมุทรปราการ สมเด็จพระญาณวชิโรดม (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) ได้กล่าวสัมโมทนียกถา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2563 โดยมีเนื้อหาหลักธรรมที่สำคัญบางตอนว่า “เราต้องบริจาคเป็นเรื่องเป็นราว เราบริจาคกฐินคราวนี้เราได้สร้างโบสถ์ใหญ่ สร้างเจดีย์ใหญ่ ไม่ใช่ใหญ่เฉยๆน่ะ สวยด้วย เป็นที่ซาบซึ้ง หลวงพ่อฯต้องมาดูทุกวัน ตั้งใจจะให้มันเสร็จ เสร็จแล้วก็ฉลองกันใหญ่ให้ทั่วแผ่นดินไทย มันจะติดตัวติดใจเรามากมายเหลือเกิน มากมายกว่าเงินที่เราบริจาคไป เพราะว่ามันเป็นอานิสงส์ เขาเรียกว่า อานิสงส์ หลวงพ่อขอให้อานิสงส์นี้ติดตามตัวไปทุกภพทุกชาติ”
เช่นเดียวกับ พระธรรมวชิรญาณ (จิรพล อธิจิตฺโต) เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร-สมุทรปราการ (ธรรมยุติ) และเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ได้กล่าวสัมโมทนียกถาในงานทอดกฐินประจำปี 2565 ของวัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยมีเนื้อหาบางส่วนดังต่อไปนี้
“กฐินทาน คือว่า เป็นทานพิเศษคือเป็นการถวายเป็นกรณีพิเศษ เพราะว่าเป็นการถวายเฉพาะกาล ที่เรียกว่า กาลทาน คือ ให้ตามทาน หรือว่าเฉพาะกาลเท่านั้น เพราะว่าวัดไหนอารามใดจะทอดกฐินได้นั้นต้องมีคุณสมบัติของการทอดกฐินได้ เป็นต้นว่าต้องมีพระภิกษุจำนวน 5 รูปขึ้นไปอยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนตลอดทั้งเดือน จึงจะจัดพิธีทอดกฐินได้ หากวัดใดมีพระไม่ครบ 5 รูป หรือ ครบ 5 รูป แต่จำพรรษาไม่ครบ 3 เดือนก็ทอดไม่ได้ และ จะต้องทอดเฉพาะในกาลที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาติ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 คือ หลังจากออกพรรษามา แรม 1 ค่ำ ไปถึงขึ้น 15 ค่ำ คือ วันลอยกระทงเป็นวันสุดท้าย นอกจากกาลนี้แล้วทอดกฐินไม่ได้ ทรงห้าม และการทอดกฐินนั้นอย่างในอารามนี้ คือ วัดธรรมมงคล ได้เรียนถามท่านเจ้าอาวาสว่า จะต้องตัด ต้องเย็บ ต้องย้อม ต้องให้แห้ง ต้องให้สำเร็จภายในวันนี้ใช่ไหม ท่านตอบว่า ใช่ คือ พระต้องช่วยกันตัดเป็นชิ้นเป็นขันธ์ เสร็จแล้วช่วยกันเย็บเป็นผ้าสบง หรือ เป็นจีวร หรือ เป็นสังฆาติ ให้เสร็จภายในวันนี้ เสร็จแล้วต้องย้อมให้เสร็จภายในวันนี้ เสร็จแล้วต้องทำให้แห้งภายในวันนี้ด้วย เมื่อตัด เมื่อเย็บ เมื่อย้อม และ ทำให้แห้ง การทำให้แห้งนั้นต้องกระพือกันด้วยมือ พัดกันด้วยมือ จับเข้าสี่มุมและช่วยกันกระพือให้มันแห้ง
อย่างที่วัดบวร (วัดบวรนิเวศวิหาร) ก็เช่นเดียวกัน ต้องดึงกันช่วยกันเพื่อให้ผ้านั้นแห้งทันภายในวันนี้ และเมื่อผ้าแห้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระภิกษุทั้งวัดจะต้องมาอนุโมทนากฐินอีกครั้งหนึ่ง ตอนสุดท้าย เพราะอะไร เพราะว่า เมื่อพระเหล่านั้นได้อนุโมทนากฐิน ท่านจะได้รับอานิสงส์ของกฐินทั้ง 5 ข้อ ที่พระท่านสวดไปเมื่อกี้ว่า ปัญจะ กัปปิสสันติ อะนามันตะจาโร ข้อที่ 1 อะสะมาทานะจาโร ข้อที่ 2 คะณะโภชะนัง ข้อที่ 3 ยาวะทัตถะจีวะรัง ข้อที่ 4 โย จะ ตัตถะจีวะรุปปาโท โส เนสัง ภะวิสสะติ ข้อที่ 5 พระท่านจะได้รับอานิสงส์ 5 ข้อ เมื่อได้ทอดกฐิน และ เมื่อจำพรรษาครบเป็นเวลา 1 เดือน และ เมื่อได้อนุโมทนากฐิน กรานกฐินด้วย อานิสงส์ทั้ง 5 ข้อนี้ มะหันตีกะโต ภะวิสสะติ จะตูสุ เอมันติเกสุ ขยายไปถึงกลางเดือน 4 อานิสงส์นี้จะขยายเวลาไปถึงกลางเดือน 4 สรุปแล้ว พระได้รับอานิสงส์ภายใน 5 เดือนนี้”
สำหรับอานิสงส์ของพระในการทอดกฐิน 5 ข้อได้แก่ ไปยังสถานที่อื่นได้โดยมิต้องบอกลาพระภิกษุด้วยกัน, นำไตรจีวรไปโดยไม่ครบได้, ฉันอาหารเป็นคณะโภชน์ได้, เก็บจีวรไว้ได้ตามปรารถนา และ ลาภที่เกิดขึ้นเป็นของพระภิกษุผู้จำพรรษาในวัดนั้น
ในส่วนพื้นที่ปริมณฑลของกรุงเทพมหานครอย่างจังหวัดสมุทรปราการนั้น นับเป็นพื้นที่สำคัญและมีวัดที่สำคัญหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ “วัดอโศการาม” ของ “พระสุทธิธรรมรังสี คัมภีรเมธาจารย์” หรือ ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ซึ่งได้จัดการทอดผ้ากฐินทานตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ซึ่งวัดในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการนับเป็นผู้นำแห่งสงฆ์ในการดำรงไว้ซึ่งพระธรรมวินัยผ่านงาน “กฐินทาน” ที่เป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของชาวพุทธทั่วโลก
พระครูปลัดสุวัฒนญาณคุณ(พระอาจารย์มหาสามเรือน ปุญฺเญสโก) เจ้าอาวาส วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ได้กล่าวสัมโมทนียกถาในพิธีมหากฐิน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2565 มีใจความสำคัญตอนหนึ่งดังนี้
“จึงตั้งตนเป็นผู้สัมมาปณิธิ ทั้งเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ด้วยกองบุญกองกุศลด้วยปัญญาของตน สำเร็จด้วยศรัทธาปสาทะ และ ความเชื่อความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย 3 ประการ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และ พระสังฆเจ้า จึงได้ชื่อว่าหว่านพืชของตนลงไว้ในควรที่ อันเป็นเหตุให้ได้รับ 3 ประการ ในสัมปรายภพเบื้องหน้า ดุจบุคคลผู้หว่านข้าวกล้าลงในเนื้อนาอันดี ย่อมได้รับผลงอกงามในที่ฉันนั้น และแล้วมาระลึกตรึกตรองรำพึงพิจารณาว่า ไม่มีการบุญอันใดเลยที่จะมาเปรียบปรานเท่ากับบุญการทอดกฐิน เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้ได้แล้วไซร้ ก็อุตส่าห์รวบรวมจตุปัจจัย หาผ้ามา แล้วน้อมนำมาถวายพระสงฆ์ซึ่งจำพรรษากาลตลอดไตรมาสที่วัดอโศการามแห่งนี้ โดยเปล่งวจีเภท (วจีเภท คือ การเปล่งถ้อยคำและคำพูดต่างๆ) เป็นมคธภาษาว่า อิมัง มะยัง ภันเต , สะปะริวารัง , กะฐินะจีวะระทุสสัง สังฆัสสะ โอโณชะยามะ อย่างนี้เป็นต้น ความว่า ข้าแต่พระภิกษุผุ้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินจีวรกับทั้งเครื่องบริขารเหล่านี้กับพระภิกษุสงฆ์ดังนี้ นับว่าเป็นเครื่องอนุเคราะห์แก่พระภิกษุสงฆ์ให้ได้ทำกฐิน อีกอย่างหนึ่งท่านทั้งหลายได้มาบำเพ็ญทานอันเลิศว่าทานสามัญทั้งหลายทั้งปวง”
เพราะฉะนั้น การทำบุญ “กฐินทาน” ของชาวเมืองหลวงนั้น มีโอกาสทำบุญได้ทั้งวัดที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ วัดที่อยู่ในพื้นที่ปริมณฑล โดยมีกำหนดระยะเวลาตาม “พระบรมพุทธานุญาต” หรือ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมณโคดมบรมครู ทรงกำหนดไว้ในพระธรรมวินัยซึ่งสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน
ขอบคุณข้อมูลและภาพ
https://web.facebook.com/dhammongkol/?_rdc=1&_rdr
https://web.facebook.com/watasokaram.org/?_rdc=1&_rdr
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี