สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับอีกหลายองค์กร จัดงานสัมมนา “เสียงผู้คนในพื้นที่ ภายใต้วิกฤตภูมิอากาศ-โลกรวน” ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยหนึ่งในกิจกรรมคือวงเสวนา “สิทธิในชีวิตเมือง-คนจนเมือง ชุมชนชายขอบกับความเป็นธรรมในการพัฒนา” ยกตัวอย่างในพื้นที่ จ.ขอนแก่น โดย ลัดดา สุทธิสำราญ ตัวแทนกลุ่มสหกรณ์เคหสถาน 4 ชุมชนเมืองไผ่ จ.ขอนแก่น เล่าว่า ชุมชนอยู่บนที่ดินรถไฟ และพยายามเรียกร้องต่อ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ให้ประชาชนได้เช่าที่ดินในระยะยาว
ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้เข้ามาแนะนำเรื่องการตั้งชุมชนและการระดมทุนเพื่อเช่าที่ดิน แต่สุดท้ายการรถไฟฯ ก็ไม่ยอมให้เช่าโดยอ้างว่าที่ดินจุดนั้นเป็นพื้นที่สีเขียว ประกอบกับการพัฒนาของ อ.บ้านไผ่ ที่มุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อีกด้านหนึ่ง ชาวบ้านมีแนวคิดตั้งสหกรณ์และระดมเงินออมเพื่อจัดซื้อที่ดินตั้งชุมชนใหม่ แต่ด้วยความที่ยังไม่ชัดเจนว่าการรถไฟฯ จะไล่รื้อชุมชนเดิมหรือไม่
ชาวบ้านจึงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ระหว่างกลุ่มที่ต้องการย้ายไปอยู่ในที่ใหม่เนื่องจากเห็นว่าที่เดิมเป็นที่รถไฟแถมยังเกิดน้ำท่วมได้ง่าย กับกลุ่มที่ไม่อยากย้ายออกจาก
ที่เดิม ท่ามกลางกระแสข่าวว่าที่ดินจุดนั้นอย่างไรเสียก็ต้องถูกใช้เพื่อการพัฒนาเมือง ตลอดจนโครงการรถไฟความเร็วสูงจึงต้องการให้การรถไฟฯ ประกาศให้ชัดเจนว่าจะใช้ที่ดินจุดดังกล่าวหรือไม่ และหากใช้จะใช้เนื้อที่ประมาณเท่าใด
“สหกรณ์ก็มีความเป็นห่วงว่า ถ้าสมมุติการรถไฟยังนิ่งเฉยอยู่แบบนี้ชาวบ้านเดือดร้อน สมมุติการรถไฟมีการขยับจริงชาวบ้านจะไปอยู่ที่ตรงไหน ซึ่งตอนนี้พวกเราทางสหกรณ์ถ้าเราไม่มีสมาชิกเต็ม เราก็ต้องเป็นหนี้ของ พอช. กู้เงิน พอช. มา ถ้าเราไม่รีบทำตรงนี้ชาวบ้านก็จะเดือดร้อนก็เลยพยายามที่มาเวทีต่างๆ เพื่อสะท้อนให้รู้ว่าอยากจะให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามารับรู้ ไปคุยการรถไฟให้หน่อย เคยพูดกับการรถไฟก็เคยพูดแล้วว่าอย่างน้อยๆ ให้คุณไปสำรวจมาให้หน่อย เช็คดูให้หน่อยว่าจะไล่ออกจริงไหม
ซึ่งที่ตรงนี้พวกเรารองรับสมาชิกในชุมชน มันยังเหลืออยู่อีก 100 ครัวเรือนที่จะอยู่ ซึ่งถ้าสมมุติเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงๆ อีกส่วนหนึ่งก็จะอยู่ที่เดิมได้ เพราะว่าที่ทั้งหมดเหลืออยู่ 113 ไร่ แต่เขาบอกอยู่ได้ 16 ไร่กว่าๆ ก็คือถ้าส่วนหนึ่งที่มีศักยภาพก็อยากให้เขาออกไปอยู่ตรงนี้ ซึ่งก็ใช้เงิน เราก็เป็นหนี้ จ่ายไปแล้วแต่จ่ายเป็นรายเดือน ซื้อบ้านพร้อมที่ดินจ่ายรายเดือน มันก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าสมาชิกคนไหนที่เขาไม่สามารถจะออกไปได้ ก็อยากจะให้เขาอยู่ที่เดิม ซึ่ง 16 ไร่กว่าๆ ก็คงจะรองรับได้อยู่” ลัดดา กล่าว
ลัดดา ยังกล่าวอีกว่า ท่าทีที่ชัดเจนของการรถไฟฯ จะทำให้ชาวบ้านตื่นตัวและตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อ โดยสหกรณ์เองก็พยายามคุยกับชาวบ้าน เช่น บ้านหลังหนึ่งมี 3 ครัวเรือน ก็น่าจะให้ลูกย้ายไปเตรียมตัวในพื้นที่ใหม่สัก 1 ครัวเรือน ไปออมเงินเพื่อซื้อที่ดินไว้ก่อน เฉลี่ยจ่ายอยู่ที่ 750 บาท/เดือน หากสุดท้ายได้ข้อสรุปว่าชุมชนต้องย้ายออกจริงๆ อย่างน้อยก็ยังมีบ้านในพื้นที่ใหม่รองรับ อีกทั้งพื้นที่ใหม่อย่างไรเสียก็มั่นคงกว่าพื้นที่เดิม อนึ่ง ตนเจ็บปวดทุกครั้งเมื่อถูกมองว่าเป็นผู้บุกรุก เพราะอยู่มาตั้งแต่พื้นที่ยังเป็นป่ารกร้าง และชุมชนเป็นผู้สร้างความเจริญเสียด้วยซ้ำ
“ถ้าฉันมีฉันจะมาอยู่ตรงนี้ไหม พอดีว่าพ่อแม่เราไม่ใช่คนมีเงิน เขาหาเช้ากินค่ำ พ่อแม่พามาอยู่เราก็ต้องมาอยู่แล้วมาว่าเราบุกรุก จะว่าบุกรุกมันก็ไม่เชิง แต่ว่าคำพูดคำนี้มันเจ็บ เพราะถ้าคุณว่าฉันบุกรุกที่ อย่างบางทีหน่วยงานราชการก็พูดเหมือนกัน รู้ว่าน้ำท่วมและเป็นที่รถไฟแล้วมาอยู่ทำไม แล้วคุณทำไมไม่หาพื้นที่ให้เราอยู่ เคยพูดกับเขาอย่างนี้ด้วย คุณบอกว่าพวกเราบุกรุก เรารู้ว่ามันเป็นที่รถไฟและเป็นที่น้ำท่วม แต่คุณจะให้เราไปอยู่ที่ไหน คนที่มีเยอะก็มีเยอะมากแต่คนที่ไม่มีทำไมคุณไม่จัดสรรมาให้ ให้ตรงไหนก็ได้ถ้าคุณจะให้ไปอยู่ ก็พร้อมที่จะไปเหมือนกัน” ตัวแทนกลุ่มสหกรณ์เคหสถาน 4 ชุมชนเมืองไผ่ จ.ขอนแก่น ระบายความอัดอั้นในใจ
เช่นเดียวกับ สมถวิล พิมพิทักษ์ ตัวแทนเครือข่ายชุมชนรถไฟเมืองขอนแก่น เล่าว่า การอยู่ในที่ดินรถไฟ เป็นข้อจำกัดที่ทำให้หน่วยงานอื่นๆ ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านได้เต็มที่ เช่น เมื่อเกิดน้ำท่วม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำได้เพียงแจกถุงยังชีพเท่านั้น และเมื่อมีโครงการพัฒนา เช่น รถไฟความเร็วสูง ชุมชนที่ตนอยู่ซึ่งมีอยู่ประมาณ 120 ครัวเรือน ในพื้นที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ก็จะต้องย้ายออก แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าแล้วชุมชนจะไปอยู่ที่ใดและคิดว่าคนในชุมชนผู้บุกเบิกไม่ใช่ผู้บุกรุก เพราะอยู่มาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีความเจริญเข้ามาในเมือง
ด้านผู้ดำเนินการเสวนา ณัฐวุฒิ กรมภักดี ตัวแทนศูนย์ประสานงานกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น กล่าวเสริมว่า เรื่องการมองชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐแบบนี้ว่าเป็นผู้บุกรุกในสายตาของคนภายนอก แต่ในมุมของชาวบ้านงานวิจัยหลายชิ้นชี้ถึงวัฒนธรรมการอพยพย้ายถิ่นของแรงงานไปสู่พื้นที่เมืองใหญ่โดยหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น อาทิ กรณีของ จ.ขอนแก่น ยุคแรกๆ ของการอพยพย้ายถิ่น เป็นชุมชนที่เกิดขึ้นจากแรงงานที่มาก่อสร้างทางรถไฟ
ต่อมาก็เกิดชุมชนลักษณะเดียวกันอีกหลายแห่ง ซึ่งเป็นแรงงานที่อพยพมาจากชนบทเพราะรายได้จากภาคเกษตรไม่ตอบโจทย์ จากนั้นในวันหนึ่งเมื่อการรถไฟฯ ต้องการใช้ที่ดินก็จะมีกระบวนการรื้อย้ายชุมชนออกไป ทั้งนี้ “ที่อยู่อาศัยถือเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชน” ไม่ใช่เรื่องการบุกรุกหรือผิดกฎหมาย หากคนในประเทศยังไม่สามารถมีที่หลับที่นอนที่ดีได้ ในขณะที่ที่ดินมากมายกลับไปกองอยู่แค่คนไม่กี่เปอร์เซ็นต์
มุมมองจากนักวิชาการ รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า เรื่องทั้งหมดเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซ้อนกันอยู่และไม่เคยถูกแก้ไขอย่างเป็นระบบ มีเพียงการแก้ไขเป็นรายประเด็นหรือสถานการณ์ ไม่สามารถไปสู่ทางออกได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน กลายเป็นยิ่งแก้ยิ่งยุ่งไม่ต่างกับวนอยู่ในอ่าง หรือบางครั้งแก้ปัญหาเรื่องหนึ่งแต่ไปสร้างปัญหาในอีกเรื่องหนึ่ง
ดังนั้นปัญหานี้จึงเรียกได้ว่าเป็น “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” ซึ่งต้องว่ากันถึงวิธีคิด เช่น จะมองว่าเป็นการบุกเบิกหรือบุกรุก ขณะที่เมื่อปัญหาเดิมยังไม่ถูกแก้แต่มีปัญหาใหม่เข้ามาเพิ่มเติมซ้อนทับมากขึ้นเรื่อยๆกลายเป็นการตกผลึกที่ไม่ดีในภาพรวม ส่วนสิทธิต่างๆ นั้นก็เป็นเพียงตัวหนังสือในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย แต่ไม่ได้ออกไปปรากฏในโลกแห่งความเป็นจริง แม้กระทั่ง “สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร” ซึ่งต้องเป็นไปมากกว่าข้อมูลที่รัฐมองว่าให้รู้เท่านี้พอแล้ว แต่ต้องเป็นข้อมูลที่ชาวบ้านอยากรู้เพื่อให้สามารถวางแผนชีวิตของตนเองได้
“เหล่านี้มันนำไปสู่ความไม่แน่นอน ซึ่งความไม่แน่นอนอันนี้ถ้ามันเกิดจากดินฟ้าอากาศ เกิดจากธรรมชาติก็ยังพอว่าได้ แต่นี่มันไม่ใช่ ไม่แน่นอนทั้งปวงในเชิงระบบและกระทบปัญหาเชิงโครงสร้างที่มาจากความไม่แน่นอนทั้งปวง มันเป็นผลกระทบจากทุนบวกรัฐ ซึ่งก็เป็นรัฐเอื้อทุน ทุนผนวกกำลังกับรัฐ มันทำให้ระบบบริหารจัดการที่ควรจะเป็นเชิงซ้อน ควรจะตอบโจทย์ทุกหมู่เหล่า มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น
มันออกมาในแนวกฎหมายเชิงเดี่ยว มองที่กลุ่มบางกลุ่มมันก็เลยเป็นพีระมิดไปเรื่อยๆ ไม่มีวันที่จะผสานระหว่างคนที่เป็นฐานพีระมิด ที่จะเกลี่ยและเฉลี่ยความร่ำรวยหรือการเข้าถึงที่ดิน ไม่ว่าจะในรูปของกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองหรือสิทธิกินอยู่หรืออะไรก็แล้วแต่ มันไม่ถูกบริหารจัดการ ระบบมีให้เลือกตั้งเยอะ แต่ว่าไปเลือกเอาแค่ไม่กี่ระบบ” รศ.ดร.คนึงนิจ กล่าว
รศ.ดร.คนึงนิจ กล่าวต่อไปว่า เมื่อรัฐซึ่งมีอำนาจทางปกครองผนึกกำลังกับทุนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ย่อมชนะอำนาจของประชาชน แม้ในทางทฤษฎีจะบอกว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็ตาม ดังนั้นเรื่องนี้ต้องแก้ไขกันให้ลงไปถึงรากหรือส่วนของภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ใต้น้ำ เพราะลำพังอำนาจทุนอย่างเดียวไม่มีทางชนะหากไม่บวกกับอำนาจรัฐ ซึ่งอำนาจรัฐเปลี่ยนแปลงได้หากผู้มีอำนาจให้ความสำคัญกับประชาชน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะระบบการศึกษาในประเทศไทยไม่สามารถทำให้รากฐานความคิดเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนั้น
“เวลาบอกว่าทิศทางพัฒนาประเทศ ดูเผินๆ เหมือนกับเป็นอำนาจรัฐเพียวๆ แต่จริงๆ ไม่ใช่ ดูถนนตัดไปหาไหน โครงสร้างมันจะกำหนดทิศทางการพัฒนาโดยใครกันแน่ มันจะไปอยู่ในพื้นที่ของใครกันแน่ ฉะนั้นการจะทำให้ภาคสังคมเข้มแข็งกว่านี้ แล้วก็สามารถเข้าไปเป็นผู้แสดงหลักของการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อตรวจสอบว่าภาครัฐทำงานไหม ต้องรับผิดชอบต่อมิอะไร เป็นเรื่องที่เหนื่อยแล้วก็ลำบากกว่าอีกหลายประเทศที่เขาได้ทำๆ กันมาแล้ว” รศ.ดร.คนึงนิจ กล่าวทิ้งท้าย
(อ่านต่อฉบับวันที่ 30 ต.ค. 2565)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี