ยังคงอยู่กับวงเสวนา “สิทธิในชีวิตเมือง-คนจนเมือง ชุมชนชายขอบ กับความเป็นธรรมในการพัฒนา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนา “เสียงผู้คนในพื้นที่ ภายใต้วิกฤตภูมิอากาศ-โลกรวน” จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับอีกหลายองค์กร โดยในตอนที่แล้ว (เสาร์ที่ 29 ต.ค. 2565) เป็นตัวอย่างเสียงสะท้อนของชุมชนบนที่ดินรถไฟ จ.ขอนแก่น ส่วนในฉบับนี้จะเป็นมุมมองของนักวิชาการ ว่าด้วยสิทธิในการอยู่อาศัยและทำมาหากินของคนฐานรากในเมือง
ผศ.ดร.สักรินทร์ แซ่ภู่ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า แต่เดิมนั้นสังคมไม่ได้มีมุมมองเรื่อง “การครอบครองพื้นที่ (Sense of Belonging)” ดังนั้นที่ดินหรือทรัพยากรต่างๆ จะถูกใช้แบบแบ่งปันร่วมกัน ซึ่ง “ระบบสิทธิในที่ดินนั้นเกิดในประเทศไทยไม่น่าจะเกิน 100 ปี” โดยแบ่งเป็นที่ดินส่วนบุคคล ที่ดินของรัฐ ที่ดินสาธารณะ ไปจนถึงพื้นที่เปิดที่ใครจะเข้าไปใช้ประโยชน์อะไรก็ได้
ในขณะที่ประเด็นมุมมองเรื่องการครอบครองพื้นที่ยังไม่ทำให้ตกผลึกชัดเจน ก็เกิดการใช้กฎหมายไปกดทับอีกชั้นหนึ่ง เช่น บอกชาวบ้านว่าอยู่อาศัยบนที่ดินของรัฐ (ซึ่งแต่ก่อนไม่มีเส้นแบ่งแบบนี้อยู่) ประการต่อมา “การตั้งถิ่นฐาน-การตั้งถิ่นฐานซ้อน (Settlement-Resettlement)” ซึ่งมีข้อจำกัดด้านที่ดิน จึงจำเป็นต้องการเกิดการแทรกสอด เช่น ในเขตพระโขนงองกรุงเทพฯ ชุมชนของคนจนเมือง แต่เดิมอยู่ตามตะเข็บ ระยะหลังๆ ดีขึ้นมาบ้างคืออยู่บริเวณสันทางเดิน หรืออยู่ตามพื้นที่เล็กๆ ที่พอจะอนุญาตให้ประชากรกลุ่มนี้อยู่อาศัยได้
“แต่ก่อนถ้าเราคุยเรื่องการปรับปรุงชุมชน สัก 20 ปีก่อนไม่มีใครพูดเรื่องย้ายออก เราโรแมนติกกันมากถึงขนาดบอกว่าเราต้องอยู่ในที่ดินเดิม แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะว่าทุกคนเข้าใจสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงดี แม้กระทั่งในเมืองขอนแก่นเองเราก็เข้าใจว่าย้ายก็ได้ ขยับก็ได้ ไม่อยู่ในที่เดิมก็ได้ แต่ว่าที่ไหนล่ะ? อันนี้ก็เป็นโจทย์ออกมา มันสะท้อนไปถึงเรื่องกลไกการกระจายการถือครองซึ่งมันมหาศาลมาก อย่างที่เรารู้ว่าคน 10% ครอบครองพื้นที่ 90% ของประเทศ
อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่โครงสร้างและกลไกการถือครองที่ดินไม่ได้กระจาย ไม่สร้างกลไกแห่งการกระจาย ไม่มีลักษณะของการใช้อัตราภาษีเชิงก้าวหน้า เหมือนเราไม่ใช้ที่ ที่นี้รกร้างคนก็ไปปลูกกล้วยหนี แต่จริงๆ มันมีกฎหมายอีกชุดหนึ่งที่ควรจะเข้าใจ คือถ้ามันถือครองมากเกินกว่าปกติ มันก็เป็นการถือครองเพื่อเก็บสะสมความมั่งคั่งของตัวเอง ซึ่งอันนี้เป็นกฎหมายชุดหนึ่งที่เมืองไทยยังไปไม่ถึง อย่างเช่น สักรินทร์มีสิทธิจะครอบครองเท่าไรก็ได้ ไม่ได้มีข้อจำกัดว่าผมจะมีสิทธิถือครองเท่าไร” ผศ.ดร.สักรินทร์ กล่าว
ผศ.ดร.ปิยพร ท่าจีน รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กล่าวว่า เรื่องราวของการใช้ที่ดินนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเป็นภาพของการแย่งชิงกันระหว่าง 3 กลุ่ม คือรัฐเอกชนและประชาชน เนื่องจากที่ดินนั้นมีจำกัด แต่ความยากของโจทย์คือ “ความเป็นธรรม” เช่น ชาวบ้านอาจคิดว่าตนเองมีสิทธิอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์จากที่ดินเพราะตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย กระทั่งวันหนึ่งชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของนายทุน เป็นต้น
อาทิ มีชุมชนหนึ่งอาศัยอยู่ในซอย ต่อมามีนายทุนต้องการสร้างคอนโดมิเนียมสูง แต่ชาวบ้านก็ต่อสู้คัดค้านเพราะมองว่าคอนโดมิเนียมจะส่งผลกระทบต่อ
ผู้อยู่อาศัยอื่นๆ โดยรอบ อนึ่ง ภาครัฐอาจจะไม่ฟังเสียงของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้สามารถสื่อสารกับสังคมภายนอกเพื่อให้เสียงของชุมชนมีพลังมากขึ้นจนเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยพลังชุมชนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะประชาชนไม่สามารถคาดหวังกับรัฐหรือนายทุนได้ ซึ่งการทำงานเชิงรุกในพื้นที่ ภาควิชาการจะทำหน้าที่ประสาน สร้างเครือข่ายเพื่อให้แก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง
“ในส่วนของ มรภ.จันทรเกษม เราทำงานในพื้นที่มาโดยตลอด เรามีพื้นที่อยู่ที่ จ.ชัยนาท เราก็ทำเรื่องนี้ เรื่องปัญหาเกษตรกร ส่วนใหญ่เวลาเราทำงาน เราทำงานในส่วนหนุนเสริม โดยเป้าหมายหลักเราไม่ค่อยเชื่อใจรัฐแม้เราเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแต่เรารู้ว่าเราต่อสู้กับรัฐหรือต่อสู้กับนายทุน เราจะไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เราเสนอแนวทางได้ เราดึงเขาเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาให้เรา เช่น เรารู้ว่าตรงนี้จะเจอปัญหากับในส่วนของภาครัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่นอะไรต่างๆ เราก็ดึงเขาเข้ามาให้มีส่วนร่วม” ผศ.ดร.ปิยพร กล่าว
เรวดี ประเสริฐเจริญสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นได้รับรู้มาตั้งแต่อายุ 20 ปี ยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย จนปัจจุบันอายุ 70 ปีแล้วก็ยังได้ยินอยู่เรื่อยๆ ทั้งนี้ “การพัฒนาที่ยั่งยืน หนึ่งในตัวชี้วัดคือหลักประกันด้านที่อยู่อาศัย” และในเมื่อรัฐไปลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศ รัฐจึงมีหน้าที่สร้างหลักประกันด้วย ไม่ว่าที่อยู่อาศัย การทำมาหากินและอื่นๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาพสะท้อนของความล้มเหลวด้านการเมืองการปกครองของประเทศไทย
ซึ่งทิศทางการบริหารประเทศจะให้ความสำคัญอย่างเน้นหนักกับด้านเศรษฐกิจ เช่น รถไฟ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง หรือก็คือการทำโครงสร้างพื้นฐานเพื่อตอบสนองการพัฒนาต่างๆ “คนเล็กคนน้อยเป็นมิติที่ถูกลืม” จึงเป็นวาระของทั้งคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นใหม่ ในการทำให้บรรดาคนที่ถูกมองไม่เห็น กลายเป็นวาระสำคัญเชิงประจักษ์และอยู่ในตัวชี้วัดเป้าหมายของการพัฒนา
“รัฐบาลประเทศไทยก็สร้างข้อผูกพันให้ตัวเองนะ ประเด็นหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนก็คือในเรื่องที่อยู่อาศัย แต่อะไรคือตัวชี้วัด อะไรคือมาตรการ ตรงนี้มันจะสะท้อนว่ามิติของการเพิ่มขึ้นของประชากรและการเชื่อมโยงกับประเด็นการวางผังเมือง ที่ประสบปัญหาและที่เจอมากับตัว เวลาไปจังหวัดไหน เขามีสำนักงานการจัดการผังเมืองนะ ประเทศไทยมีนะ แต่เขาจะเป็นร่างเสมอ ร่างผังเมือง ยังไม่ประกาศใช้ สร้างมานานแต่ยังเป็นร่างเสมอ
แล้วร่างนี้เปลี่ยนแปลงได้ตามเส้นทางทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ ถ้าเป็นชายฝั่งก็เป็นทิศทางการขยายอุตสาหกรรมริมชายฝั่ง ถ้าเป็นเมืองก็รถไฟ ประเด็นที่จะเชื่อมโยงเป็นวาระที่เราจะต้องหาทางออกด้วยกันก็คือว่า แล้วทิศทางการพัฒนาประเทศของเรามันได้พูดถึงเรื่อง Inclusion (รวม) หรือว่าในแง่ของการที่จะใส่ใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมหรือเปล่า มันไม่ใช่แค่ปัญหาทางโครงสร้างการบริหารจัดการ แต่มันเป็นเรื่องของความคิดในการพัฒนา” ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าว
หมายเหตุ : เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งมีทั้งหมด 17 ข้อ เป็นแนวทางที่ องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดหวังให้ประเทศต่างๆ บรรลุภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) โดยไทยนั้นร่วมลงนามรับแนวทางดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2558
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี