สำหรับคนเมืองที่กำลังท้อแท้ ต้องอ่านเรื่องราวของ 2 อาจารย์ผู้ถ่ายทอดวิชาด้านการเพาะต้นอ่อนผักบุ้ง จนนำมาสู่ “สินค้าแปรรูป” อาทิ กิมจิ, ครีมสลัดพร้อมสลัดโรลที่มีส่วนประกอบสำคัญคือต้นอ่อนผักบุ้ง รวมไปถึงการ “ต่อยอด” ไปสู่นวัตกรรม “เครื่องรดน้ำอัจฉริยะ”
นายดิเรก ขำคง หรือ ในแวดวงเกษตรเรียกว่า อาจารย์ดิเรก อายุ 51 ปี มีภรรยาชื่อนางสาวทิพย์รัตน์ ยอดธรรม หรือ อาจารย์ทิพย์ อายุ 50 ปี ทั้งคู่เป็นชาวจังหวัดราชบุรี และเป็นอาจารย์ในโลกโซเชียลที่เผยแพร่ความรู้ด้านการปลูกต้นอ่อนผักบุ้งในยูทูบเป็นช่องหลัก โดยใช้ชื่อว่า “บ้านพระพรต้นอ่อนผักบุ้งออร์แกนิก” มีผู้ติดตามกว่า 7,000 คน ซึ่งชื่อนี้เป็นยังเป็นที่รู้จักในช่องทางเฟสบุ๊ค และ มีผู้ติดตามถึง 9,800 บัญชีเฟสบุ๊ค โดย “ต้นอ่อนผักบุ้ง” ของบ้านพระพรฯนั้นขายในราคา 200-250 บาทต่อกิโลกรัม
นายดิเรกเล่าให้ฟังว่า เมื่อ 6 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2559)ไม่มีใครทำต้นอ่อนผักบุ้ง เพราะเป็นสิ่งแปลกใหม่ และ ภรรยามีอาการแพ้ทุกอย่างที่เป็นสารเคมี จึงเริ่มคิดว่าจะปลูกอะไร จึงมาค้นพบว่า ปลูกต้นอ่อนผักบุ้งน่าจะดี และคิดอีกว่าจะปลูกยังไง ปลูกที่ไหน ซึ่งตอนนั้นผมกับภรรยาใช้เวลาทดลอง 2 ปี โดยการเริ่มต้นปลูกต้นอ่อนผักบุ้ง และในช่วงเริ่มต้นยังไม่มีรายได้จากช่องทางอื่น จึงต้องขายของในบ้านที่มีอยู่ เพื่อมาเป็นต้นทุนในการปลูก และ ใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆภายในครอบครัว
"ผมกับภรรยาเป็นคนเหมือนกันคือทุ่มทุนสร้าง ทำอะไรแล้วจะต้องทำให้ดี และ ทำให้สำเร็จ จึงทุ่มเทกับการปลูกต้นอ่อนผักบุ้งมาก” นายดิเรกบอกถึงจุดเริ่มต้นที่ยากลำบากกว่าจะมาเป็นเกษตรกรผู้ปลูกต้นอ่อนผักบุ้งออร์แกนิก เพราะชีวิตมักมีอุปสรรคและไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดเส้นทาง ทำให้ในช่วง 2 ปีแรก (ระหว่างปี 2559-2561) ของการปลูกต้นอ่อนผักบุ้ง เป็นช่วงชีวิตที่นายดิเรกและภรรยาจะต้องต่อสู้กับอุปสรรคบนเส้นทางการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นก้าวแรกของการปลูกต้นอ่อนผักบุ้งออร์แกนิค
“ชีวิตช่วงนั้นยิ่งกว่าล้มลุกคลุกคลาน เพราะเริ่มปลูกยอดต้นอ่อนผักบุ้ง ครั้งละ20-30 ถาด แต่พอไม่มีรายได้เข้ามา ก็เกิดความเครียด ตอนนั้นก็สู้กันใหม่หลายรอบมาก และ ประสบปัญหาทั้งรากลอย ล้ม และ ใช้เวลาเป็นปีๆก็สู้กันใหม่ ตอนนั้นฝึกทำเอง ไม่มีอาจารย์สอน ดินที่ใช้ก็ใช้กาบมะพร้าวอย่างเดียวก็มีปัญหาเรื่องเชื้อรา พอผ่านไปปีกว่า เกือบสองปี ถึงจะผ่านอุปสรรคต่างๆไปได้ ด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยเราจดบันทึกตลอดว่า การปลูกของเราล้มเหลวเพราะอะไร โดยการปลูกช่วงแรก ช่วงเวลาตี 1-2 จะมาดูถาดผักบุ้งและผลัดกันดูกับภรรยา ซึ่งเราเลี้ยงต้นผักบุ้งอ่อนเหมือนเลี้ยงลูก แต่ก็เป็นช่วงที่เจอปัญหา"
"โดยตอนนั้นคุณทิพย์ ภรรยาได้แนะนำวิธีที่แก้ปัญหาในหลายๆข้อ เช่น รากไม่ยอมลงดิน มีสาเหตุเพราะตอนแรกเราไม่ได้วางถาดมาซ้อนกัน คุณทิพย์บอกให้เอาไม้กดทัพ และนำกระถางทับไว้ จึงทำตามที่ภรรยาบอก ปรากฎว่า รากมันก็ลงดิน ต่อมาเจอปัญหาต้นสั้น เราก็แก้ปัญหา โดยทดลองทำหลายอย่าง สุดท้ายก็มาเจอว่า เราควบคุมแสงให้มันมืด และนำพลาสติกมาคลุม หลังจากนั้นก็พบว่า มีเชื้อราขึ้นอีก รากก็เน่า ทำให้ต้องทิ้งไปเป็นร้อยถาด ปลูกไม่ได้ก็ปลูกใหม่ คือไม่ยอมแพ้ ตอนนั้นก็มาคิดว่า พลาสติกมันอบเกินไป อากาศเข้าไม่ได้ คุณทิพย์ก็เคยบอก แต่เราไม่เคยทำ ต่อมาจึงเปลี่ยนมาใช้สแลนก็ดีขึ้น แต่ปรากฎว่าก็ยังมีเชื้อรา เราก็มาเจาะลึกเรื่องสูตรดิน จึงปรับมาใช้หน้าดิน 30 กิโลกรัม ขลุยมะพร้าว 3 กระสอบ แกลบดำ 1 กระสอบ ก็จบปัญหาทุก อย่างที่เจอมาตลอดทั้ง 2 ปี โดยมีหลัก 3 ข้อ ได้แก่ ดินดี กดทับถาด เข้าห้องมืด” นายดิเรกเล่าให้ฟังถึงการต่อสู้กับอุปสรรคด้วยความเพียรบนเส้นทางเกษตรอินทรีย์
ปัจจุบันผลิตผลของ “บ้านพระพรต้นอ่อนผักบุ้งออร์แกนิก” ได้เข้าระบบพีจีเอส (PGS) ซึ่งเป็นระบบประกันคุณภาพในระดับท้องถิ่น ที่ให้การรับรองผู้ผลิตโดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และตั้งอยู่บนฐานของความเชื่อถือ เครือข่ายทางสังคม และการแลกเปลี่ยนความรู้ โดยนายดิเรกเข้ากลุ่มของสามพรานโมเดล จังหวัดนครปฐม ซึ่งจะมีคณะกรรมการตรวจสอบและลงข้อมูลต่างๆผ่านแพลตฟอร์มของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์
รวมทั้งนายดิเรกและภรรยายังได้นำผลิตผล และ ผลิตภัณฑ์แปรรูปไปจำหน่ายที่ตลาดสุขใจ จังหวัดนครปฐม ซึ่งตลาดสุขใจอยู่ในพื้นที่ของโรงแรมสามพราน โดยเจ้าของโรงแรมสามพรานเอื้อเฟื้อสถานที่และให้การสนับสนุน รวมทั้งผ่านความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ นายดิเรกยังนำผลผลิตไปจำหน่ายที่ตลาดกรีนเนอร์รี่ มาร์เก็ต (GREENERY MARKET)
นายดิเรกเล่าว่า เมื่อ 4 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2562)ได้นำผลิตภัณฑ์และผลิตผลในบ้านพระพรฯ วางจำหน่ายไปกับตลาด “กรีนเนอร์รี่ มาร์เก็ต”ซึ่งเป็นบริษัทอีเว้นท์ที่ได้รับทุนจาก สสส.ให้มาทำตลาดคนเมือง โดยในช่วงแรกได้วางผลิตผลจำหน่ายที่สยามดิสคัพเวอร์รี่ ในช่วงวันเสาร์ และ อาทิตย์ เดือนละ 2 ครั้ง หลังจากนั้นเวียนไปที่ “ปาร์ค แอท สยาม” ที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ และวัน โอลด์ วัน ที่เขตพระโขนง แต่ต่อมาได้รับผลกระทบจากการแพร่กระบาดของโควิด-19 จึง ทำให้ตลาดในกรุงเทพฯต้องหยุดไป แต่ยังไปขายที่ตลาดสุขใจในบางช่วง
“ที่บ้านพระพรฯ ถือว่าเป็นรายแรกที่ทำต้นอ่อนผักบุ้งสำเร็จ ทำให้ช่วงโควิด เราก็มีแนวคิดว่า เราจะทำให้คนรู้จัก และ มีอาชีพ เพราะความรู้อยู่กับเราความรู้ก็สูญ จึงใช้ชื่อยูทูบ บ้านพระพรต้นอ่อนผักบุ้งออร์แกนิก เปิดให้ความรู้ฟรีแก่ผู้ที่สนใจมีรายได้เสริมช่วงเวิร์ก ฟอร์ม โฮม โดยเราสอนถึงขั้นที่ว่า ต้นอ่อนทุกต้นเราไม่ทิ้ง สามารถนำไปทำกิมจิ ทำสลัดโรล ขายได้เป็นล่ำเป็นสัน ก็มีหลักสูตรสอนทำกิมจิ และ สลัดโรลด้วย โดยการที่เราเปิดสอนเพราะมองว่าถึงจุดที่สำเร็จแล้ว เราต้องถ่ายทอดความรู้ของเราไปต่อยอดให้ผู้อื่นให้มีรายได้ และหากคนที่เรียนมีทุนก็จะไปได้เร็ว เพราะเรียนทำครั้งเดียวก็ปลูกเป็นแล้ว สิบวันก็ปลูกเป็นแล้ว และสามารถกลับมาปรึกษาได้อีก เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมา"
"เราทั้งคู่ซึ้งแล้วว่าต้องเจออุปสรรคอะไรบ้าง ก็ไม่อยากให้คนอื่นเสียเวลาในการทำเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะการเพาะต้นอ่อนผักบุ้ง ทำให้เราถ่ายทอดความรู้ให้หมดเลยในช่องยูทูบ บางคนบอกว่า โง่ ทำไมไม่ทำให้เรารวยขึ้น ไม่เก็บความรู้ไว้ แต่เรามองว่าการให้ความรู้ ให้แล้วมีมิตรเพิ่มขึ้น ได้กัลยาณมิตรเพิ่มขึ้น ซึ่งคอร์สสอนปลูกต้นอ่อนผักบุ้งนั้นเปิดสอนฟรีผ่านยูทูบ ส่วนการทำกิมจิคิดราคาคอร์สเรียนเพียง 99 บาท และ ตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดคลี่คลายแล้ว ก็เริ่มนำผลิตผลและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆไปจำหน่ายร่วมกับตลาดกรีนเนอร์รี่ มาร์เก็ต” นายดิเรกเล่าให้ฟัง
สำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปของบ้านพระพรฯ อย่าง “กิมจิ” ซึ่งทำจากต้นอ่อนผักบุ้งนั้น ทางมหาวิทยาลัยราชภัฎจอมบึง จังหวัดราชบุรี ได้ออกค่าใช้จ่ายในการนำไปตรวจที่ห้องวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งพบว่ามีแบคทีเรียแลคติกแอซิส(Lactic Acid Bacteria) ถึง 2 ล้านตัวต่อ 1 กรัม ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
สำหรับดีกรีของนายดิเรกจบการศึกษาด้านไฟฟ้ากำลัง ระดับ ปวส. ที่เทคโนโลยีหมู่บ้านครู หนองแขม และ มีโอกาสทำงานในฝ่ายซ่อมบำรุงของห้างดังแห่งหนึ่ง ส่วนภรรยาจบการศึกษาระดับ ปวส.บัญชี โรงเรียนดรุณา ราชบุรี โดยนายดิเรกได้นำความรู้จากสิ่งที่เรียนมาต่อยอด ประดิษฐ์เครื่องรดน้ำไฟฟ้า ที่มีระบบรดน้ำอัตโนมัตสามารถใช้กับถั่วงอก, ผักบุ้ง และ ผักอื่นๆที่ต้องการดูแลรดน้ำเป็นเวลา โดยนายดิเรกเล่าว่า เครื่องดังกล่าวมีระบบตั้งเวลารดน้ำได้เอง แต่เครื่องนี้ยังไม่ได้จดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นขึ้นมา
นายดิเรกทิ้งท้ายว่า กระแสการบริโภคพืชผลเกษตรอินทรีย์ยังไปได้อีกไกล เพราะคนในเมืองยังมีความต้องการในการบริโภคสูง และ ผู้ผลิตยังมีน้อย ประกอบกับการผลิตอาหารทางการเกษตรอินทรีย์ต้องอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้ได้ผลผลิตได้จำกัด ไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค
เรียกว่าแนวทางการดำเนินชีวิตของนายดิเรกและภรรยานั้น เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มจากการทำในสิ่งเล็กๆ ด้วยการเพาะต้นอ่อนผักบุ้ง นำมาสู่การต่อยอดไปยังสินค้าเกษตรแปรรูปและสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นนวัตกรรมด้านการเกษตรที่เหมาะกับวิถีชีวิตของคนเมือง เพื่อให้คนเมืองทำเกษตรอินทรีย์ได้ง่ายขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี