“ภูพานเฮ” ชื่อนี้ดูแปลกและน่าสนใจ โดยเป็นชื่อของพันธุ์ไม้ซึ่งเป็นพืชยืนต้นที่นำสายพันธุ์ดั้งเดิมมาจากทางประเทศแถบละตินอเมริกา ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ปูปู้นเย” (PUPUNHA) ตามภาษาท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกเป็นภาษาทางการว่า “พีช ปาล์ม” (peach palm) เพราะเป็นพืชในสปีชีส์เดียวกับ “ปาล์ม” นั่นเอง และ “ปูปู้นเย” ถูกนำมาพัฒนาสายพันธุ์โดย “ดร.กฤษดา จักรเสน” เจ้าของสวนภูพานเฮ จังหวัดสกลนคร และมีการเปิดตัว “ภูพานเฮ” ในงานบ้านและสวนแฟร์ 2022 ที่อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งมีผู้เข้าชมงานให้ความสนใจอย่างมาก
“ผมโตมาจากการทำสวนอินทผาลัม จึงพยายามค้นหาพืนพันธุ์ใหม่ โดยในปี 2555 พยายามค้นคว้าหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ก็พบกับพืชปูปู้นเย ซึ่งในตอนนั้นได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวอเมริกากลางผ่านทางแอพพลิเคชั่นวอทส์ แอพ (Whats App) โดยมีคุณพ่อโธมัส (MR.Lou Thomas) ชาวเบลีซ ได้มีเมตตากับผมอย่างมาก หลังคุยผ่านแอพพลิเคชั่น ทางคุณพ่อโธมัสได้ส่งต้นปูปู้นเยมาให้จำนวน 1,000 ต้น เป็นของขวัญ ผมก็เริ่มใช้จุดนั้นทำการวิจัยตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปี 2557 ซึ่งก็เริ่มมีผลผลิตติดผล มีการผสมเกสรกันเองโดยธรรมชาติ และ พบปัญหาเรื่องโรคแมลง โดยนำมาทดลองวิจัยปลูกที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีสภาพดินที่แตกต่างจากสภาพดินเดิมของพืชชนิดนี้ ที่ชอบอยู่ใกล้ลุ่มแม่น้ำ อย่างเช่น พื้นที่ลุ่มแม่น้ำอะเมซอน เพราะฉะนั้นจึงพบว่า พืชชนิดนี้ปลูกได้ดีในภาคใต้ เพราะมีฝนแปดแดดสี่ ส่วนพื้นที่ในภาคอิสาน ธรรมชาติจะให้ฝนสี่ แดดแปด แต่ก็แก้ปัญหาด้วยการรดน้ำทุกวัน เพื่อให้ดินมีสภาพชุ่มน้ำ” ดร.กฤษดาเล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเองถึงจุดเริ่มต้นการนำพืชสายพันธุ์จากละตินอเมริกาเข้ามาทำวิจัยปลูกในไทย ซึ่งปัจจุบันคุณพ่อโธมัส ชาวเบลีซ ซึ่งเป็นผู้มอบสายพันธุ์มาเป็นของขวัญได้เสียชีวิตแล้ว
เรื่องราว (storytelling) ของ “ปูปู้นเย” สนุกยิ่งขึ้น เมื่อ ดร.กฤษดา นำสายพันธุ์มาวิจัยในไทย แต่การเรียกชื่อปูปู้นเยตามภาษาอิสานนั้น ออกเสียงยากมาก จึงกลายมาเป็นชื่อพันธุ์ไม้ “ภูพานเฮ” เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “PUPANHA” และ ใช้ชื่อบริษัทโดยเขียนว่า “PHUPHANHA” ขณะที่ชื่อของพันธุ์ไม้ดังกล่าว หากสะกดเป็นภาษาอังกฤษตามภาษาเดิมในท้องถิ่นของประเทศแถบอเมริกากลาง อาทิ เบลีซ และแถบประเทศละตินอเมริกาอย่างบราซิล จะเขียนว่า “PUPUNHA” โดยออกเสียงว่า “ปูปู้นเย” ตามรากภาษาของโปรตุเกส
นอกจากนี้ ดร.กฤษดายังเล่าว่าไม้พันธุ์ดังกล่าวยังมีความเชื่อในประเทศแถบอเมริกาใต้อย่างโคลอมเบียและเอกวาดอร์ว่า เป็นไม้ของเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ และ ไม้ของเทพเจ้าที่เกี่ยวกับบุตร เพราะน้ำมันของผลให้คุณค่าเรื่องการบำรุงกำลังทั้งในผู้ชายและผู้หญิง รวมทั้งยังพบว่าในอดีตคนพื้นเมืองนำผลของปูปู้นเยมาผลิตเครื่องดื่มชื่อ ชิชา เหมือนกับเหล้าหมักในไทย โดยให้เอาผลที่ต้มแล้วมาเคี้ยว และนำไปหมักเพื่อทำเป็นเบียร์ เพราะน้ำลายจะเปลี่ยนแป้งเป็น น้ำตาล ต่อมาวิธีการเหล่านี้ได้ถูกพัฒนามาใส่ยีสต์แทน
ด้วยประวัติที่น่าสนใจของพันธุ์ไม้ดังกล่าว ทำให้ ดร.กฤษดานำสายพันธุ์ที่ได้จากคุณพ่อโธมัส ซึ่งมอบให้ในปี 2557 มาพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ โดยจัดให้เป็น GEN 1 ด้วยวิธีการนำพันธุ์ที่ไร้หนาม กับ มีหนาม มาผสมกัน ผ่านการผสมเกสร ซึ่ง “ดร.กฤษดา” เรียกวิธีผสมพันธุ์แบบนี้ว่า เป็นการคัดสายพันธุ์ และ ชิงผสมเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ดีขึ้น โดยใช้เวลาถึง 4 ปี จนได้สายพันธุ์ที่ดีขึ้นในปี 2560
สำหรับสายพันธุ์ที่ได้ใหม่เป็นพันธุ์ไร้หนาม และให้ผลดี จากนั้นในปี 2563 พืช “ภูพานเฮ” นี้ได้พัฒนาตัวเองโดยอาศัยธรรมชาติ ให้พ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ขึ้น ด้วยการออกจั่นและผสมกันเอง จึงได้ทำการเปิดตัวพืชเศรษฐกิจ “ภูพานเฮ” อย่างเป็นทางการ ในปี 2564 และ รายการ “มหาอำนาจบ้านนา” ทางไทยพีบีเอสได้มาสัมภาษณ์ออกรายการ ยิ่งทำให้ “ภูพานเฮ” มีผู้รู้จักมากขึ้น
ล่าสุด “ภูพานเฮ” เข้าตากรรมการโดยมีกลุ่มธุรกิจสนใจนำภูพานเฮไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และ การนำไปพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มขายพันธุ์ภูพานเฮ ซึ่งมี 2 บริษัทที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตร ได้แก่ บริษัทดีเน็ตเวิร์ก (ไทยแลนด์) และ บริษัทเวลเนส (ประเทศไทย) โดยบริษัทเวลเนสฯเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทเวลเนส เอเซีย (WELLNESS ASIA) ที่เป็นบริษัทผลิตและทำตลาดอาหารและเสริมเพื่อสุขภาพ โดยมีคุณชมพู ฟรุ๊ตตี้ เป็นแบรนด์ แอมบาสเดอร์ และปัจจุบันมีการนำผลภูพานเฮผลิตเป็นน้ำมันสำหรับดื่มเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ
“ปัญหาตอนนี้คือ ต้องเร่งการปลูกต้นภูพานเฮให้ได้ 1 ล้านไร่ จากปัจจุบันมีผู้ปลูกเพียง 10,000 ไร่ เพราะความต้องการของผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพนั้นมีมากขึ้น เพราะภูพานเฮให้ผลที่ไม่มีน้ำตาลร้อยเปอร์เซนต์ และ มีค่าของโปรตีนสูงมาก สามารถทานเพื่อทดแทนอาหารสัตว์ได้ ทำให้ภูพานเฮเป็นอาหารแห่งอนาคต สำหรับผู้ทานอาหารคีโตและวีแกน ที่งดเนื้อสัตว์ จึงได้รับความสนใจจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการนำไปพัฒนาเป็นอาหารที่ทดแทนเนื้อสัตว์ และมหาวิทยาลัยมหิดลยังรับรองว่า ผลของภูพานเฮมีโฟเลตสูงมาก มีผลดีสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ และ ให้ผลดีต่อร่างกายทั้งผู้ชายและผู้หญิง รวมทั้งผลรับรองคุณค่าทางอาหารจากมหาวิทยาลัยรังสิต ,สถาบันวิจัยวิทยาศาสต์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. และ ฯ ซึ่งในส่วนของต่างประเทศยังพบว่า ทางโคลัมเบีย และ เอกวาดอร์ เรียกผลจากพืชตัวนี้ว่า ไวอะกร้า ทรี (Viagra tree)” ดร.กฤษดาเล่าให้ฟัง
ดร.กฤษดายังทิ้งท้ายเกี่ยวกับการทดลองวิจัยปลูก “ภูพานเฮ” มาตลอดกว่า 10 ปี พบว่า ถ้าพืชตัวใดก็ตามขึ้นที่ดินในแถบภาคอิสานได้ ก็สามารถนำไปปลูกในพื้นที่ต่างๆได้ทั่วประเทศไทย
ฟังเรื่องราวกว่าจะมาเป็น “ภูพานเฮ” ต้องยอมรับว่า นักวิจัยไทยโดยเฉพาะด้านการเกษตรนั้นมีความพยายามและอดทนสูงมาก ในการนำสายพันธุ์พืชต่างประเทศมาพัฒนาและต่อยอดจนได้สายพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพดินและสภาพอากาศในประเทศไทย ซึ่งพบว่าพันธุ์ไม้ดังกล่าวนั้นให้ผลที่มีคุณค่าต่อร่างกาย และ เป็นอาหารที่ทานสดก็ได้ หรือ แปรรูปก็ดี เพื่อนำมาทดแทนเนื้อสัตว์ เรียกว่า “เป็นพันธุ์ไม้แห่งอนาคต” ที่เหมาะสำหรับคนเมืองซึ่งกำลังถวิลหาอาหารที่ทำให้สุขภาพแข็งแรงอย่างยั่งยืน(Plant Based) แต่ขณะนี้พันธุ์ไม้ดังกล่าวยังมีการปลูกในจำนวนที่น้อยในไทย และ ได้ผลผลิตที่ไม่เพียงพอในการนำไปต่อยอดเพื่อแปรรูป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี