ปัญหาความรุนแรงในคู่รัก (Intimate Partner Violence -IPV) ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบของความรุนแรงที่พบเจอได้ง่ายที่สุดผ่านพฤติกรรมหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางร่างกาย วาจา จิตใจ และเพศ การทารุณกรรมทางการเงิน (Financial Abuse) รวมไปถึงการพยายามควบคุมพฤติกรรมของอีกฝ่าย ปัญหาความรุนแรงในคู่รักยังเป็นปัญหาสังคมหลักที่เกิดขึ้นในทุกสังคมและภูมิภาค
โดยหนึ่งในสามของสตรีทั่วโลกล้วนมีประสบการณ์กับความรุนแรงในคู่รักในชีวิต และมีผู้ประสบปัญหานี้เพียงบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับความยุติธรรมอย่างที่ควรจะเป็น
ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำทุกฝ่ายต้องอยู่ใช้เวลาในเคหสถานร่วมกันมากขึ้นทำให้อัตราความชุกความรุนแรงต่อสตรีและบุคคลในครอบครัวในหลายประเทศทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดมากที่สุดถึง 60% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ โบเต้ (YSL Beauty) ภายใต้ ลอรีอัล ประเทศไทย แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “Abuse is Not Love”เพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนของความรุนแรงในคู่รัก (Intimate Partner Violence)ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นแก้ปัญหาความรุนแรงในคู่รักในประเทศไทยต่อไป
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากสถิติของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัวทางหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน โดยในปี 2563 มีข่าวฆาตกรรมในคู่รัก มากถึง 323 ข่าว คิดเป็น 54.5% ของข่าวความรุนแรง
ในครอบครัวทั้งหมด เมื่อวิเคราะห์ข่าวฆาตกรรมในคู่รัก พบอยู่ในช่วงอายุไม่เกิน 30 ปี ถึง 54.1% สาเหตุหลักมาจากความหึงหวง ขาดสติเนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติด และความขัดแย้งเรื่องหนี้สิน
9 สัญญาณอันตราย (9 Warning Signs) ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงในคู่รัก
1. ‘หมางเมิน’ ในวันที่พวกเขาโกรธ
2. ‘แบล็กเมล์’ ถ้าคุณปฏิเสธที่จะทำบางอย่าง
3. ‘ทำให้อับอายขายหน้า’ จนคุณรู้สึกไม่ดีกับตนเอง
4. ‘พยายามปั่นหัว’ เพื่อบังคับให้คุณทำหรือพูดบางอย่าง
5. ‘หึงหวง’ ในทุกอย่างที่คุณทำ
6. ‘ควบคุม’ ว่าคุณจะไปไหนและแต่งตัวแบบใด
7. ‘รุกราน’ ด้วยการตรวจโทรศัพท์หรือติดตามที่อยู่ของคุณ
8. ‘ตัดขาด’ ให้คุณออกจากเพื่อนและครอบครัว
9. ‘ข่มขู่’ ด้วยการบอกว่าคุณไม่ปกติและปลูกฝังความกลัว
ยิ่งไปกว่านั้น จากรายงานความรุนแรงต่อเด็กและสตรีปี 2564 พบหญิงไทยถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจไม่ต่ำกว่า 7 คนต่อวัน มีการแจ้งความปีละ 30,000 ราย ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มูลนิธิฯทำงานใกล้ชิดผู้ประสบปัญหา พบว่าหลายครั้งสามารถป้องกันไม่ให้รุนแรงบานปลายได้ หากผู้อยู่ในสถานการณ์มีความรู้ ความเข้าใจในสัญญาณความรุนแรงแต่เนิ่นๆ ดังนั้นตนหวังว่าโครงการ Abuse is Not Love จะทำให้ประชาชน ตระหนักเรื่องความรุนแรงในคู่รักมากขึ้น และส่งเสริมให้สังคมมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น
นายจะเด็จกล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวยังคงเกิดขึ้นตลอด มีทั้งคู่รักชายหญิง คู่รักเพศเดียวกัน ทุกเพศมีโอกาสเผชิญความรุนแรงหมด ในแต่ละวันเรายังเห็นข่าวฆ่ากันตายในครอบครัว จนหลายคนอาจชาชิน ทั้งที่เป็นสิ่งที่ไม่ปกติมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลจึงพยายามประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) มีกลไกและเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้เสียหาย
นายจะเด็จกล่าวว่า ผู้หญิงบางคนอาจดีใจว่าคนรักแสดงความหึงหวง และไม่คิดว่าเป็นความรุนแรงอะไร แต่ความรุนแรงนั้นไม่ได้มีเพียงการทุบตี ทำร้ายกันเห็นในเชิงรูปธรรม แต่ยังมีเชิงนามธรรม เช่น การใช้คำพูดทำร้ายจิตใจ การเพิกเฉย ก่อนนำไปสู่ความรุนแรงที่ใหญ่กว่า จึงต้องมีการรณรงค์ในเรื่องนี้ รักหึงหวงไม่ใช่รักโรแมนติก แต่เป็นการแสดงความเป็นเจ้าของ หรือการใช้อำนาจอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับการควบคุมคนรัก ก็อยากรณรงค์ว่ารักคือความเท่าเทียม รักคือการเคารพสิทธิกัน
“เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว ผู้เสียหายไม่ควรอดทน บทเรียนผู้เสียหายที่มูลนิธิฯ ช่วยมา การอดทน ไม่ใช่ทำให้สถานการณ์คลี่คลายดีขึ้น คือ ผู้กระทำไม่อาจเลิกกระทำด้วยตัวเขาเอง ฉะนั้นผู้เสียหายต้องรักตัวเองให้มาก พาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ตรงนั้น” ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าว
นางสาวเน (นามสมมุติ) อายุ 25 ปี ซึ่งเคยประสบกับสถานการณ์ถูกกระทำอย่างรุนแรง เล่าว่า ตอนอายุประมาณ 19 ปี ตนเริ่มคบหากับอดีตแฟนได้ประมาณ 1 ปี ช่วงแรกๆ ฝ่ายชายให้เกียรติ เอาใจใส่อย่างดี แต่พอช่วงหลังเริ่มดุด่า มีปากเสียงรุนแรง หึงหวง กล่าวหาว่าตนจะไปมีแฟนใหม่ ตอนทะเลาะกันมักจะมีญาติฝ่ายชายพูดจาเสียดสี มีอคติ แต่ตนยอมเพราะรักและอยากสร้างครอบครัวร่วมกัน แม้ถูกทำร้ายร่างกายก็อดทน เมื่อฝ่ายชายขอโทษก็หายโกรธ แต่สุดท้ายเหตุการณ์รุนแรงขึ้น มีการทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง ตบตี ชกต่อย ใช้มีดจี้คอ ผลักให้รถชน
“ที่รุนแรงสุดคือเตะที่ท้องอย่างแรงต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลและถึงแม้แพทย์แจ้งว่าตนตั้งครรภ์ แต่ฝ่ายก็ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ยังทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง จึงตัดสินใจเลิกและทำงานหาเงินเลี้ยงลูกคนเดียวจนถึงปัจจุบัน โชคดีที่ได้รับคำแนะนำเสริมสร้างพลังใจจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเรื่อยมา โดยมีลูกเป็นกำลังใจสำคัญในการสู้กับปัญหาต่างๆ” นางสาวเน
ดังนั้น จึงอยากฝากถึงคู่รักทุกรูปแบบว่า ควรให้เกียรติกันไม่ควรกระทำความรุนแรงไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม และต้องจับสัญญาณความรุนแรงที่เขาแสดงออกมาให้ดี เพื่อจะได้หาทางเอาตัวเองออกจากความรุนแรงหรือยุติความสัมพันธ์
ขณะที่ จูลี่ เฮซเซล ผู้จัดการทั่วไปของ YSL Beauty ประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในคู่รัก เป็นหนึ่งในรูปแบบของความรุนแรงที่พบได้ง่ายสุด ทั้งร่างกาย วาจา จิตใจ และเพศ การทารุณกรรมทางการเงิน เป็นต้น ทั้งนี้ การแก้ปัญหาคือการตระหนักสัญญาณเชิงพฤติกรรมและการแสดงออก ซึ่งโครงการ Abuse is Not Love จะช่วยรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจและตระหนักรู้มากขึ้น โดยดำเนินการ 3 แนวทางคือ 1.สนับสนุนเงินทุนสำหรับงานวิจัยเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันปัญหาความรุนแรงในคู่รัก 2.การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ 9 สัญญาณของความรุนแรงใน แก่ผู้คนอย่างน้อย 2 ล้านคนผ่านองค์กรพันธมิตรในหลากหลายประเทศ และ 3.อบรมพนักงาน YSL Beauty และBeauty Advisor เกี่ยวกับความรุนแรงของคู่รักในสถานที่ทำงาน
โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2563 ทาง YSL Beauty ได้ร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นแล้วใน 17 ประเทศทั่วโลก และได้ให้ความรู้แก่เยาวชนกว่า 100,000 คนในการเข้าใจถึงสัญญาณอันตรายของความรุนแรงในคู่รัก และภายในปี 2573 YSL Beauty มีเป้าหมายที่จะเผยแพร่ความรู้ให้กับคน 2 ล้านคนทั่วโลกผ่านความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นในหลายภูมิภาคทั่วโลก
สำหรับการดำเนินการโครงการ ‘Abuse is Not Love’ ในประเทศไทยจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 2566 โดยเป็นการร่วมมือระหว่าง YSL Beauty และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลองค์กรพัฒนาเอกชนที่ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึง 9 สัญญาณอันตราย (9 Warning Signs) ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงในคู่รักให้แก่คนไทยต่อไป โดยตั้งเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ความรู้ในเรื่องความรุนแรงในคู่รักให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ 800 คนภายในปีแรกของโครงการ นอกจากนี้ยังจะมีกิจกรรมรูปแบบต่างๆ อาทิ โร้ดโชว์ตามมหาวิทยาลัย การเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสัญญาณความรุนแรงในความสัมพันธ์ในวงกว้าง
“การสนับสนุนผู้หญิง โดยเฉพาะอิสรภาพของพวกเธอ เป็นความเชื่อหลักที่แบรนด์เรายึดมั่นมาโดยตลอด ความรุนแรงจากคู่รักทำให้พวกเธอไม่ได้รับความปลอดภัย ความเป็นอยู่ที่ดี และอิสรภาพ เราจึงริเริ่มการทำงานที่ช่วยแก้ปัญหาที่ยับยั้งและเป็นอุปสรรคในการมีอิสรภาพตามคุณค่าและความเชื่อหลักของแบรนด์” ผู้จัดการทั่วไปของ YSL Beauty ประเทศไทย กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี