‘สะพาน’เชื่อม‘สวรรค์กลางอ่าวไทย-แผ่นดินใหญ่’ ฟื้นความหวัง-พลิกศก.แดนใต้
แนวคิดการก่อสร้างสะพานเชื่อม “เกาะสมุย-แผ่นดินใหญ่” กลายเป็นมหากาพย์ เล่าไม่จบ ที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน 20 กว่าปี แรกทีเดียว มีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้าน แต่ยิ่งนานวันเสียงคัดค้านเริ่มแผ่วลง ด้วยประจักษ์พยาน และความเดือดร้อนของคนเกาะสมุย ที่ต้องรับสภาพ “ชีวิตติดเกาะ” แบกภาระค่าใช้จ่ายสูงกว่าคนแผ่นดินใหญ่และคนทั่วไปถึง 2 เท่า ทั้งต้นทุนการใช้ชีวิต ค่าสาธารณูปโภค ค่าเดินทาง เวลา แม้แต่โอกาสของการมีลมหายใจ ในยามเจ็บไข้ได้ป่วย
คนเกาะสมุยเท่านั้น ที่จะเข้าใจ
จากเสียงของความเดือดร้อน ค่อย ๆ ดังขึ้น ๆ จนกลายเป็นเสียงสนับสนุนให้ก่อสร้าง แต่ .... ความหวัง ยังเป็น ความฝัน แม้จะมีการอนุมัติให้มีการศึกษาความคุ้มค่าจากการก่อสร้าง ทุกอย่างเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่บทเรียนการเมืองไทย มติครม. สมัยไหน ๆ ก็ยกเลิกได้ตลอดเวลา ถ้ารัฐบาลใหม่มา ไม่พึงใจในโครงการ
ไม่เช่นนั้นคงไม่ลากยาวมา นับสิบปี
แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้เห็นปรากฏการณ์ การรวมตัวกันของกลุ่มนักธุรกิจ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และชาวเกาะสมุย ที่ต้องการให้มีการสร้างสะพานเชื่อมแผ่นดินใหญ่ - เกาะสมุย โดยจัดให้มีการเสวนา ระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่าย
เชิญ “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ที่มาพร้อมกับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. สุราษฏร์ธานี เขต 2 พงศ์ศรี นาคเมือง หรือทนายอ๋อย ทนายความชื่อดังแห่งเกาะสมุย ที่เกาะติดการเรียกร้องก่อสร้างสะพานมาอย่างต่อเนื่องด้วย ในฐานะของคนพื้นที่และทนายของประชาชน ซึ่งคราวนี้ดูจริงจัง เพราะเป็นการรวมตัวกันของคนทุกวงการและชาวบ้านในพื้นที่ ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าจำเป็นต้องมี “สะพาน” เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และการผูกขาดธุรกิจการบินและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ที่ชาวบ้านเข้าไม่ถึงโอกาส
#ย้อนรอยเส้นทางการเรียกร้องสร้างสะพาน
เสียงเรียกร้องให้มีการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะสมุย – แผ่นดินใหญ่เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2540 ด้วยเหตุผลที่ชาวบ้านต้องรอคิวเรือเฟอร์รี่นานมาก เนื่องจากมีท่าเรือราชาเฟอร์รี่ที่ ต.ลิปะน้อย ให้บริการเพียงแห่งเดียว แต่คราวนั้นผู้ประกอบการโรงแรมส่วนใหญ่คัดค้าน เกรงว่านักท่องเที่ยวจะไม่พักแรมบนเกาะ และจะทำให้สมุยหมดเสน่ห์
ผู้จุดประกายและเรียกร้องให้มีการก่อสร้างสะพานมาโดยตลอดคือ นายวิรัช พงษ์ฉบับสภา หรือ โกฉุย เจ้าของโรงแรมพาวิลเลียน สมุย บูติค รีสอร์ท
“โกฉุย” มีเชื้อสายจีนไหหลำ สันนิษฐานว่าเป็นชนกลุ่มแรกที่มาตั้งรกรากที่เกาะสมุย ด้วยเหตุนี้ โกฉุย จึงรักและผูกพันกับเกาะสวรรค์แห่งนี้มาก จึงมาจับธุรกิจโรงแรม ที่เริ่มพัฒนามาจากพื้นที่เล็ก ๆ เมื่อ 36 ปีที่แล้ว จนขยายใหญ่เป็นโรงแรมบูติค ขนาด 90 ห้อง ริมหาดละไม
สิ่งที่โกฉุย เห็นและสัมผัสมาตลอดชีวิต คือ การท่องเที่ยวคือท่อน้ำเลี้ยงของการท่องเที่ยว ทั้งชาวเกาะสมุยเอง และของประเทศ แต่วันนี้เกาะสมุยพัฒนาได้ไม่สุด เพราะติดขัดในหลายปัญหา โดยเฉพาะการเดินทาง ที่มีปัญหาค่าโดยสารเครื่องบินแพง เนื่องจากผูกขาดอยู่เพียงรายเดียว และถึงแม้จะสามารถเลือกใช้บริการ สนามบินสุราษฎร์ธานี แล้วนั่งรถไปที่ท่าเรือดอนสักเพื่อลงเรือข้ามไปที่เกาะสมุย สนนราคาค่าเดินทางถูกกว่ามาก แต่ต้องเสียเวลาเพิ่มขึ้นประมาณ 3-4 ชั่วโมง นอกจากนี้ด้วยข้อจำกัดของเรือเฟอร์รี่ข้ามฟากและเรือเร็ว การส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลศูนย์มีความยากลำบาก โชคร้ายที่สุดคือ ไปไม่ทัน ต้องเกิดการสูญเสียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันคนบนเกาะสมุย ยังต้องแบกค่าสาธารณูปโภค ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าน้ำมันเชื้อเพลง ค่าครองชีพต่าง ๆ สูงกว่า คนบนแผ่นดินใหญ่ถึง 2 เท่าตัว
#ลงทุนออกแบบสะพาน เพื่อประโยชน์ของคนสมุยและเศรษฐกิจของประเทศ
โกฉุย เล่าว่า จากการเดินทางไปท่องเที่ยวในหลายประเทศ ด้วยความที่เป็นคนชอบถ่ายรูป และชิมอาหาร ดื่มด่ำสัมผัสบรรยากาศอย่างใกล้ชิด เห็นสะพานข้ามถนน และข้ามไปยังเกาะต่าง ๆ ของหลายประเทศ ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ถ้ามีสะพานข้ามเกาะ เราจะสามารถ นำหลากหลายธุรกิจ มารวมไว้ที่สะพานได้ จึงได้ออกแบบสะพานมีชีวิตขึ้นมา ซึ่งเขาเรียกมันว่าเป็น “นวกรรม” เพราะถือเป็นสะพานแห่งแรกของเอเชีย ที่คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย มีช่องทางรถยนต์ และเลนสำหรับรถจักรยานยนต์ที่แยกส่วนเพื่อความปลอดภัย ส่วนบริเวณกึ่งกลางสะพานออกแบบเป็นจุดชมวิว มีที่จอดรถเพื่อชมความงามของทะเลอ่าวไทยและถ่ายรูป นอกจากนี้ ด้านล่างมีพื้นที่ช้อปปิ้งมอลล์ มีลานสำหรับทำกิจกรรม จัดประชุม จัดคอนเสิร์ต เป็นที่รวมของซอฟท์พาวเวอร์ มีเลนจักรยาน มีพิพิธภัณฑ์พื้นเมือง ลานค้าขายของดีแต่ละจังหวัด ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เลี้ยงรากหญ้าได้ทั้งภาคใต้จนสุดปลายด้ามขวาน และจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ที่จะสร้างเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตามโกฉุยออกตัวว่า การออกแบบนี้เป็นเพียงแนวความคิดของตนเท่านั้น แต่หากเป็นไปได้ ก็อยากให้รัฐได้ทำในรูปแบบที่เขาคิดไว้ ดีกว่าสร้างสะพานข้ามเพียงอย่างเดียว
“ถึงเวลาแล้วที่ต้องทำสะพานจากแผ่นดินใหญ่ฝั่งขนอมเชื่อมมายังเกาะสมุย ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร เพราะมันจะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกมิติ รวมทั้งสายเคเบิลไฟฟ้า ท่อส่งน้ำประปา ก็เดินคู่มากับสะพานได้เลย ไม่ต้องลงใต้ทะเลแล้ว รูปแบบของสะพานที่ผมออกแบบนี้ มีความพิเศษแตกต่างจากสะพานในต่างประเทศ เพราะจะมีช่องทางสำหรับปั่นจักรยาน เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวดึงดูดให้นักปั่นจากทั่วประเทศนับล้านคนมาปั่นจักรยานข้ามทะเลระยะทาง 18 กิโลเมตร โปรโมทออกไป ผมเชื่อว่าใครก็อยากมา และนักท่องเที่ยวที่มากับเครื่องบินเช่าเหมาลำมาลงสนามบินสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช จะมีความสะดวกมากขึ้นที่จะเดินทางเข้ามาเป็นการเติมเต็มนักท่องเที่ยวให้กับเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ที่สำคัญจะทำให้คนไทยสามารถมาท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น” โกฉุย กล่าว
ด้วยความพยายาม และความร่วมมือร่วมใจกันของผู้ประกอบการท่องเที่ยว และนักธุรกิจบนเกาะสุมย ที่ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือถึงรัฐบาล บอกเล่าถึงเหตุผลและความจำเป็น นำไปสู่การเข้าสู่การลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม กับ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการกำหนดแนวทางในการพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โครงการทางหลวงชนบท และโครงการทางพิเศษ ทั้งสิ้น 5 โครงการ และ 1 ใน นั้นคือ โครงการสะพานเชื่อมจากเกาะสมุย ไปยัง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช แต่.. ความร่วมมือดังกล่าวยังเป็นเพียงการวางแผนการศึกษา และออกแบบโครงการเท่านั้น
แต่ถึงกระนั้น โกฉุย บอกว่า ถึงจะมีการศึกษาอย่างจริงจัง แต่จากประสบการณ์ในอดีต แม้จะออกมาเป็น มติครม. ก็สามารถยกเลิกได้ตลอดเวลา หากรัฐบาลต่อมา ไม่เห็นความสำคัญ และสิ่งที่พวกเขากังวลคือ ในอนาคตหากเกาะสมุยไม่เตรียมความพร้อมการเดินทางเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวแล้ว อาจทำให้เกาะสมุยไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ซึ่งนั่นนอกจากจะทำให้เกาะสมุยขาดโอกาสที่จะพัฒนาแล้ว ประชาชนทั้งภาคใต้ ก็จะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปอย่างน่าเสียดาย
“ทั่วโลกที่เดินทางมาที่นี่ เขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สมุยคือสุดยอดของเกาะ ทำไมเราไม่ใช้โอกาสสร้างเกาะนี้เป็นที่จรรโลงระบบซอฟท์แวร์ เป็นที่ทำงานของคนทั่วโลก คนที่บอกว่า มีสะพานแล้วจะเสียความเป็นเกาะ คุณไปดู City Island ของปีนังโน่น มีสองสะพาน บางคนกลัวว่า คนจะไม่พักค้าง อันนี้ไม่ต้องกลัว เพราะอย่างน้อยเขาก็ต้องกิน ต้องซื้อของ ไปมาสะดวก ได้ประโยชน์ทั้งคนบนฝั่งและคนบนเกาะ ข้อกังวลเดียวที่ผมเห็นด้วย และต้องวางแผนจัดการคือ การจราจร ซึ่งจะเป็นปัญหาตามมา สิ่งเหล่านั้นบริหารจัดการได้ ก็ต้องบริหารพื้นที่ หรือถมทะเลบางจุด เพื่อเป็นที่จอดรถ แล้วเคลื่อนคนด้วยรถยนต์สาธารณะ”
นอกจากนี้ ยังส่งผลดี ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนกรณีมีผู้ป่วยฉุกเฉินก็สามารถส่งไปรักษาต่อยังรพ.สุราษฎร์ธานี หรือโรงพยาบาลอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพราะในปัจจุบันการส่งต่อผู้ป่วย จะส่งผ่านเรือเฟอร์รี่เป็นหลักในเวลากลางวัน แต่หากมีผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่ต้องส่งต่อในเวลากลางคืน หรือในช่วงมรสุม มีคลื่นลมแรง จะมีความยากลำบากมาก ซึ่งกรณีดังกล่าว เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชาชน
“เมื่อปีที่แล้ว ลูกน้องผมประสบอุบัติเหตุ ต้องผ่าตัดสมอง แต่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพบนเกาะต้องเสียค่าใช้จ่าย 3-5 ล้านบาท ผมถามว่าชาวบ้านที่ไหนจะมีเงินจ่าย แล้วถ้าส่งต่อไปยังโรงพยาบาลบนฝั่ง ก็ต้องใช้เวลานาน สุดท้ายลูกน้องผมเสียชีวิต ประชาชนบนเกาะสมุย พบเจอกับเหตุการณ์นี้ไม่เว้นแต่ละวัน”
ขณะที่ กรณ์ จาติกวณิช กล่าวเชิงสนับสนุนว่า สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน สิ่งที่ต้องรีบแก้ไขเพื่อสะสางปัญหาด้านอื่น ๆ ได้คือ ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน ประเทศเราจะมีทรัพยากรเพียงพอในการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนได้ เศรษฐกิจต้องดีก่อน จากการพูดคุยกับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคที่จ.สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช ทุกคนเห็นตรงกันว่า การจะแก้ปัญหาปากท้องได้ เราต้องมีจุดยืนในการสร้างสะพานเชื่อมเกาะสมุย-แผ่นดินใหญ่ สะพานแห่งนี้จึงเป็นเพชรเม็ดงามของอ่าวไทย แต่เพชรจะงามได้ต้องอยู่บนแหวน ที่ออกแบบเพื่อให้การท่องเที่ยวเชื่อมโยงกันได้สะดวก
“ดังนั้นพวกเราจึงตั้งใจจะมาทอดสะพานแห่งโอกาสและระดมสมองเพื่อให้การก่อสร้างสะพาน เกิดขึ้นได้ เพื่อไปสู่เป้าหมายคือ พลิกฟื้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวของภาคใต้ให้สามารถรับนักท่องเที่ยวรายได้สูงจากทั่วโลกได้ตลอดทั้งปี มี land-bridge มอเตอร์เวย์พาดผ่าน จากอ่าวไทยถึงอันดามัน จากหาดเฉวงจนถึงปลายแหลมพรหมเทพ ซึ่งจะกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ครึกครื้น พลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคใต้ และส่งผลต่อจีดีพีประเทศ” หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าว
หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ยังเห็นว่า นอกจากส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว การมีสะพานยังเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชนด้วย เพราะปัจจุบัน ต้นทุนค่าครองชีพที่สูงมากทั้งราคาน้ำมันที่โดยทั่วไปก็สูงอยู่แล้ว แต่ที่เกาะสมุยราคาสูงกว่าแผ่นดินใหญ่ถึง 2 บาท ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายต่างๆ แพงกว่าปกติเกือบทุกรายการ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ท เข้าถึงแหล่งเงินทุนค่อนข้างยากลำบาก อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน ในขณะที่ รถไฟฟ้าใน กทม. มีรถไฟฟ้านับสิบสายมีการลงทุนเป็นแสนล้าน แต่เกาะสมุยกลับไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังมองถึงผลในทางบวกต่อประชาชนที่จะได้รับ คือ 1.ลดค่าครองชีพของชาวเกาะสมุยกว่า 6 หมื่นคน และพี่น้องชาวใต้ ชาวอีสาน ที่ทำมาหากินที่นี่อีกหลายแสนคนในแต่ละปี 2.การเพิ่มคุณภาพชีวิต เข้าถึงการรักษาพยาบาล ลดต้นทุนการเดินทางของนักเรียนนักศึกษา และประชาชน ที่มีค่าใช้จ่ายสูงต่อการเดินทางแต่ละครั้ง และอาจต้องพักค้างบนฝั่งเนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องเวลาให้บริการของเรือ 3.การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชาวสมุยที่มีธรรมชาติงดงามมาก ส่วนกระบวนการก่อสร้างนั้น คิดว่าถึงเวลาแล้ว ต้องสื่อสารให้พี่น้องชาวเกาะสมุยได้รู้ถึงประโยชน์ที่จะได้รับ
“ส่วนผลกระทบทางลบมีแต่บริหารจัดการได้ กระบวนการทางการเมืองที่เหมาะสมคือต้องมาจากภาคประชาชนส่งสัญญาณไปยังพรรคการเมืองว่าเราได้กลั่นกรอง ทบทวน พิจารณาแล้ว ในอนาคตอาจเปิดให้มีการทำประชาพิจารณ์ จากนั้นเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันทั่วโลก เป็นโอกาสในการสร้างประติมากรรมและแลนด์มาร์กที่สำคัญ และจะเป็นประโยชน์แก่ลูกหลานนับชั่วอายุคน และผมก็พร้อมที่จะเคียงข้างประชาชนไปพูดทุกเวที หากมีการดีเบทเรื่องการสร้างสะพานแห่งนี้” กรณ์ กล่าว
เกาะสมุย มีพื้นที่ประมาณ 252 ตารางกิโลเมตร ข้อมูลก่อนเกิดสถานการณ์โควิด เกาะสมุยมีประชากรตามทะเบียนราษฎร 69,064 คน มีประชากรแฝงประมาณ 300,000 คน มีผู้เดินทางเข้ามายังเกาะสมุย 2,651,500 คน เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัด ทำรายได้ 64,726.98 ล้านบาท หรือ 63 เปอร์เซ็นต์ของรายได้การท่องเที่ยวรวมทั้งจังหวัด เป็นชาวต่างประเทศ 85 เปอร์เซ็นต์ ชาวไทย 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นชาวเยอรมัน จีน ยุโรปตะวันออก ออสเตรเลีย และอังกฤษ
วันนี้ “เกาะสมุย” จะเป็น “สวรรค์กลางอ่าวไทย” ปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และเป็นท่อน้ำเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศอยู่หรือไม่ ชาวเกาะสมุยพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า...
สะพาน…
คือ ‘คำตอบ’
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี