“ทุกคนก็ทำงานแลกกับเงินทั้งนั้น เป็นครูก็ได้เงินเดือน เป็นอาจารย์ก็ได้เงินเดือน เป็น กสม. ก็ได้เงินเดือน เป็นนักร้องก็ได้เงินเดือน แล้วทำไมเราให้บริการทางเพศมันผิดกฎหมาย?มันดูแปลกมาก เป็นอะไรที่แปลกมาก แล้วเราก็มีกฎหมายออกมาอีกนะว่าการค้าบริการมันผิด มีโทษทางอาญา แต่กลายเป็นว่าตัวกฎหมายมันกลายเป็นเครื่องมือทำมาหากินของคนบางกลุ่มไปเสียอีก เราก็ได้ยินเรื่องราวเยอะแยะ
จับปรับ ออกใบสั่ง จ่าย 1,000 ยืนได้ 5 วัน อะไรอย่างนี้ มันก็กลายเป็นช่องทางทำมาหากิน คือมันไม่ได้ดูแลคุ้มครองคนที่เป็น Sex Worker หรือเป็นพนักงานบริการเลย เพราะฉะนั้นมันจะมีกฎหมายนี้ไปทำไม อันนี้คือโจทย์เป็นคำถามว่า พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี มันถึงเวลาที่ต้องยกเลิกแล้วมั้ง?”
สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวในวงเสวนา “เพียงแค่เราเห็นคนทุกคนเป็นคนเท่ากันอนาคต Sex Worker ประเทศไทย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเปิดตัวสารคดี “GIANT SWING” ณ โรงภาพยนตร์ 2 Quartier CineArt ศูนย์การค้า EmQuartier (BTS พร้อมพงษ์) เมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ถึงคำถามหนึ่งที่ติดอยู่ในใจ ในฐานะที่เรียนมาทางด้านกฎหมายและเคยทำงานเป็นทนายความอยู่หลายปี ว่า “เหตุใดการขายเรือนร่างของตนเองถึงถูกกำหนดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย?” ทำแบบนี้แล้วใครเดือดร้อนอย่างไร?
สารคดี GIANT SWING ฉายภาพของ “พนักงานบริการทางเพศ (Sex Worker)” ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่ง สุภัทรา ยืนยันอีกเสียงถึงความยากลำบากของ Sex Worker ในเวลานั้น จากการลงพื้นที่ช่วงปี 2563-2564 เคยพบหญิงไร้บ้านบริเวณย่านพัฒน์พงษ์ เมื่อสอบถาม
ก็ทราบว่าเคยเป็น Sex Worker แต่เมื่อสถานบริการถูกปิด ไม่มีรายได้ไปจ่ายค่าเช่าที่พักก็ทำให้ต้องมานอนอยู่ข้างถนน
ทั้งนี้ ในเดือน พ.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หยิบยกกรณีเจ้าหน้าที่ตรวจค้นจับกุมการลักลอบค้าประเวณีโดยใช้วิธี “ล่อซื้อ” ที่สถานบริการแห่งหนึ่ง จ.ชลบุรี ขึ้นมาพิจารณา และให้ความเห็นไปว่า “การล่อซื้อการค้าประเวณีคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน” ซึ่งในอดีตถึงขั้นเจ้าหน้าที่ที่ล่อซื้อต้องมีเพศสัมพันธ์กับเป้าหมายที่จะจับกุมจึงครบองค์ประกอบให้จับได้ แต่ต่อมาเมื่อทราบว่าการกระทำดังกล่าวหมิ่นเหม่ที่เจ้าหน้าที่จะทำผิดกฎหมายด้วย จึงได้ปรับเปลี่ยนเป็นเพียงให้เป้าหมายถอดเสื้อผ้า แต่ก็ยังนับว่าเป็นการละเมิด
สุภัทรา ยังกล่าวถึงการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมาย ซึ่งต้องดำเนินการทุก 5 ปี ว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กำลังอยู่ระหว่างทบทวน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือฉบับปี 2539 ว่าจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร แต่ในความเห็นแล้วสมควรยกเลิกไปเลยเพราะเป็นกฎหมายที่ไม่ได้เป็นคุณกับใคร หลังจากนั้นจึงค่อยร่างกฎหมายใหม่ที่มีเนื้อหาไปในทางคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงานบริการ ไม่ใช่เน้นการจับกุมอย่างที่ผ่านมา
ส่วนข้อกังวลว่าหากยกเลิกความผิดอาชีพขายบริการทางเพศ จะเพิ่มปัญหาการบังคับหรือล่อลวงเด็กหรือผู้หญิงเข้ามาสู่วงจรนี้หรือไม่ ในความเป็นจริง การบังคับหรือล่อลวงผู้ที่ไม่เต็มใจมาขายบริการทางเพศนั้นเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งกำหนดอัตราโทษไว้หนักกว่าความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ดังนั้นการไม่มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี จึงไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ต่อขบวนการค้ามนุษย์แต่อย่างใด
“สมัยก่อนทำงานกับเพื่อนหญิง ก็เป็น NGO มาทั้งชีวิต เราไปช่วยน้องที่ถูกหลอกไปขายในซ่อง ถูกล่ามโซ่ไว้ มีหมด อันนั้นเราต้องจัดการให้เด็ดขาดเพราะนี่มันคือการค้ามนุษย์ ซึ่งตอนนี้เราก็มีกฎหมายแล้ว แต่ถ้ามันไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นคนที่ผ่านการทำงานมาทุกอย่างแล้วแต่ชีวิตมันไม่เคยดีขึ้น แล้วก็เลือกมาอยู่ในอาชีพนี้เพราะว่ามันช่วยให้อาชีพเขาดีขึ้น แล้วก็เป็นความสุขของคนที่ไปหาซื้อความสุข ตกลงกันไม่ได้มีใครบังคับใคร มันผิดอย่างไร? มันนึกอย่างไรมันก็นึกไม่ออก” สุภัทรา กล่าว
แต่ความพยายามในการยกเลิกกฎหมายที่มุ่งเอาผิดการขายบริการทางเพศ ความท้าทายประการหนึ่งคือ “ทัศนคติเชิงลบ” เช่น ในกฎหมาย พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 (ปัจจุบันถูกยกเลิกไปแล้ว) มีการระบุว่าการค้าประเวณีเป็นกิจกรรมอันน่ารังเกียจ ซึ่ง ธนษิต จตุรภุช ศิลปินนักร้อง ให้ความเห็นว่า “เรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนเกิดมาบนโลกนี้”โดยเปรียบเทียบกับกรณีพ่อแม่ที่ย้ำกับลูกว่าไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งในความเป็นจริงไม่สามารถห้ามได้ จึงน่าจะเป็นการแนะนำการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยจะดีกว่า
หรือมุมมองที่ยอมรับเรื่องเพศได้ในบางกรณีเท่านั้น เช่น การแต่งงานมีครอบครัว คำถามคือ “ถ้าคนที่ไม่คิดแต่งงานคือห้ามมีเพศสัมพันธ์เลยหรือ? ทั้งที่เรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์” ดังนั้นสำหรับคนที่ไม่ได้แต่งงานแต่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ก็ต้องไปหาคนที่ขายบริการซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจยาก อนึ่ง ด้วยความที่พักอยู่แถวย่านสะพานควาย ได้เห็นคลินิกของ มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) อยู่แล้ว ในตอนแรกก็เข้าใจว่าเป็นคลินิกตรวจเชื้อ HIV แต่เมื่อเข้ามาศึกษาก็ทราบว่าทำงานช่วยเหลือ Sex Worker ด้วย
“เรามองว่า Sex Worker มันก็คืองานประเภทหนึ่ง อย่างเราก็บริการด้วยเสียงเพลง เราร้องเพลงแล้วเราก็ได้เงินมา เราก็รู้สึกว่า Sex Worker มันก็เป็นงานอีกรูปแบบหนึ่ง แล้วทำไมเขาถึงไม่ได้รับการช่วยเหลือขนาดนี้ เรารู้สึกว่าเขาถูกผลักดันอยู่ในชายขอบ แล้วคน Threat (ปฏิบัติ)ไม่ค่อยดีเท่าไร แล้วได้รับการช่วยเหลือน้อยมาก เราก็เลยรู้สึกว่าช่วยเขาดีกว่า” ธนษิต เล่าถึงที่มาที่ไปของการไปร่วมรายการ “ร้องคู่ Together” โดยเลือกบริจาคเงินรางวัลให้กับ SWING ซึ่งทำงานกับทั้ง Sex Worker รวมถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)
ในมุมคนทำงานขับเคลื่อนด้านสิทธิของ Sex Worker มานานกว่า 3 ทศวรรษ สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) กล่าวว่า ทุกครั้ง
ที่มีความพยายามผลักดันให้ Sex Worker กลายเป็นอาชีพหนึ่งขึ้นมาอยู่บนดินก็มักจะมีเสียงโต้แย้งเสมอ เช่น จะเป็นการส่งเสริมการขายบริการทางเพศบ้าง จะทำให้ประเทศไทยน่าอับอายในสายตาชาวโลกบ้าง ทั้งที่ในความเป็นจริง สถานบริการ คนขายบริการ และผู้รับประโยชน์จากงานบริการก็มีอยู่ แต่ไม่สามารถพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาได้
นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 ที่ยกเลิกไปแล้ว มาจนถึง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ที่ยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน เป้าหมาย
คือต้องการกำจัดอาชีพขายบริการทางเพศให้หมดไป ทั้งที่คนคนหนึ่งใช้เนื้อตัวร่างกายของตนเองไม่ใช่ของผู้อื่นเพื่อทำงานหารายได้ เพื่อไม่ให้ตนเองเป็นภาระของผู้ใด แต่การกระทำนั้นกลับถูกบอกว่าผิด ซ้ำร้ายกฎหมายยังกลายเป็นช่องทางให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ พร้อมกับที่คนในสังคมกลับยอมรับให้สภาพแบบนี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาได้หลายสิบปี
“ส่วนใหญ่วางแผนจะทำงานอยู่ในอาชีพนี้ 5 ปี แต่วันที่ถูกจับถูกปรับวันละ 300 เท่ากับที่ตั้งใจว่าจะอยู่ในอาชีพนี้ 5 ปีมันอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายคือการยืดให้อยู่ในอาชีพนี้ ยืดให้อยู่ใต้การกดขี่ยาวนานมากยิ่งขึ้น เราเห็นปัญหากันมาถ้านับรวมตั้งแต่มี พ.ร.บ. ฉบับแรกปี 2503 จนถึงปัจจุบัน 60 กว่าปี เรามองเห็นแล้วเราก็นิ่งเฉย ปล่อยให้เป็นแบบนี้ พอถึงจุดหนึ่งจะลุกให้ขึ้นมายกเลิก ก็สารพัดเหตุผลออกมาว่ามันทำไมได้ มันทำแล้วจะเกิดผลเสีย แต่ถามว่าที่มีกฎหมายอยู่นี้มันส่งผลดีอะไร” สุรางค์ ระบุ
ผอ.มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ทิ้งท้ายว่า แม้จะมีกฎหมายเอาผิดการขายบริการทางเพศ แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีคนที่ทำงานนี้อยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ และใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ดังนั้นจึงอยู่ที่ “ความกล้าที่จะยอมรับความจริง” และ “ความกล้าที่จะมองว่าคนทุกคนเท่ากัน” จากที่เรามองตนเองว่าเป็นคนดีแล้วมองคนอีกกลุ่มเป็นคนไม่ดีจึงสมควรแล้วจะให้มีชีวิตอยู่แบบนั้นโดยมีกฎหมายควบคุม มุมมองแบบนี้ของสังคมใจร้ายเกินไปหรือเปล่า?
สำหรับสารคดี “GIANT SWING” จัดทำโดย มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (AHF) ประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) มีความยาว 16.30 นาที สามารถรับชมได้ทางช่องยูทูบ “SWING THAILAND” หรือค้นหาคลิปวีดีโอชื่อ “(ENG Sub) สารคดี GIANT SWING”
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี