15 กุมภาพันธ์ 2566 เว็บไซต์ Pobpad เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโรค 'Refeeding Syndrome' เป็นภาวะผิดปกติที่พบได้ในผู้ป่วยภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) หรือผู้ที่อดอาหารเป็นระยะเวลานานแล้วกลับมาได้รับสารอาหารตามปกติอย่างฉับพลัน โดยภาวะนี้ถือเป็นภาวะที่มีความรุนแรง อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
หลายคนคงทราบกันดีว่า การอดอาหารหรือการรับประทานอาหารในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความของร่างกายติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะทุพโภชนาการได้ แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าการรักษาภาวะผิดปกตินี้ไม่ใช่การกลับมารับประทานอาหารตามปกติด้วยตัวเอง แต่ต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสมโดยแพทย์อย่างใกล้ชิดหรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Refeeding
อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธี Refeeding อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เรียกว่าภาวะ Refeeding Syndrome ได้ ซึ่งอย่างที่ได้กล่าวไปว่าภาวะ Refeeding Syndrome เป็นภาวะที่มีความรุนแรง บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับภาวะนี้ ทั้งกลไกการเกิดภาวะ อาการที่บ่งบอกถึงสัญญาณผิดปกติ และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ มาให้ได้ศึกษากัน
ภาวะ Refeeding Syndrome เกิดขึ้นได้อย่างไร มีอาการใดที่เป็นสัญญาณบ้าง
โดยปกติแล้ว ในกระบวนการย่อยสารอาหารต่าง ๆ ของร่างกาย ตับอ่อนจะมีหน้าที่หลั่งอินซูลินออกมาเพื่อนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์และเปลี่ยนให้เป็นพลังงาน แต่เมื่อร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอหรือมีการอดอาหารติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ร่างกายจะเริ่มขาดแร่ธาตุ และระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกายจะเริ่มเปลี่ยนไป
โดยตับอ่อนจะเริ่มหลั่งอินซูลินออกมาน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้เซลล์เปลี่ยนไปใช้ไขมันและโปรตีนที่สะสมในร่างกายเป็นแหล่งพลังงานแทน
จากนั้น เมื่อร่างกายกลับมาได้รับสารอาหารอีกครั้ง ระบบการเผาผลาญของร่างกายจะเกิดการปรับเปลี่ยน ส่งผลให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินออกมาอย่างฉับพลัน เพื่อปรับให้เซลล์กลับไปใช้กลูโคสซึ่งได้จากการย่อยอาหารที่รับประทานเข้าไปใหม่เป็นแหล่งพลังงานหลักเหมือนเดิม
ทั้งนี้ โดยปกติแล้วกระบวนการเปลี่ยนกลูโคสให้เป็นพลังงานของเซลล์ต้องใช้วิตามินบี 1 และแร่ธาตุบางชนิด เช่น ฟอสเฟต แมกนีเซียม และโพแทสเซียม ซึ่งเมื่อสารอาหารและแร่ธาตุดังกล่าวถูกดึงไปใช้ในกระบวนการนี้มากขึ้น อาจส่งผลให้สารอาหารบางอย่างหรือแร่ธาตุในเลือดลดต่ำลงผิดปกติจนนำไปสู่กลุ่มอาการผิดปกติบางอย่าง หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Refeeding Syndrome ได้
โดยผู้ป่วยที่มีภาวะ Refeeding Syndrome มักจะเริ่มพบอาการผิดปกติ หรือภาวะแทรกซ้อนบางอย่างภายในเวลาประมาณ 4 วันหลังจากกลับมาได้รับสารอาหารอีกครั้ง เช่น รู้สึกอ่อนเพลีย ท้องเสีย รู้สึกสับสน หายใจลำบาก ชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง บวมน้ำ ภาวะอัมพาต หัวใจวาย สูญเสียการรับรู้ หรือเสียชีวิต
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Refeeding Syndrome
Refeeding Syndrome เป็นภาวะที่มักพบเฉพาะในผู้ที่ได้รับการรักษาภาวะทุพโภชนาการขั้นรุนแรงเท่านั้น โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างร่วมด้วย เช่น
ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ต่ำกว่า 16
ผู้ที่น้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ภายในช่วง 3–6 เดือน
ผู้ที่อดอาหารนานติดต่อกันเกิน 10 วัน
ผู้ที่มีระดับแร่ธาตุฟอสเฟต โพแทสเซียม หรือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ
ผู้ที่มีประวัติติดสุรา
ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น อินซูลิน ยาเคมีบำบัด ยาขับปัสสาวะ หรือยาลดกรด
ผู้ที่เพิ่งได้รับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
ผู้ที่มีแผลไหม้จนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ หรือต้องอยู่ในภาวะงดอาหาร
ผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพบางชนิด เช่น ผู้ป่วยโรคอะนอเร็กเซีย (Anorexia) ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ และผู้ที่มีภาวะลำไส้สั้น
เนื่องจากภาวะ Refeeding Syndrome เป็นภาวะผิดปกติที่รุนแรงและควรได้รับการดูแลและการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย และลดความเสี่ยงในการเกิดอาการผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี