“อินเดีย” หนึ่งในดินแดนพุทธภูมิที่ชาวพุทธทั่วโลกต้องเดินทางไปสัมผัส และ หนึ่งในสถานที่ที่สำคัญ คือ “กรุงราชคฤห์” เมืองของพระเจ้าพิมพิสาร และ พระเจ้าอชาติศัตรู รวมทั้งยังเป็นสถานที่ที่สำคัญในครั้งพุทธกาล เช่น กุฏิของพระพุทธเจ้า องค์สมณโคดมบรมครู, พระอานนท์, พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ รวมทั้งยังมีกุฏิของพระเทวทัต , ที่ประมูลศพของนางสิริมา หญิงงามเมืองที่สวยที่สุด และ ภูเขาเวภาร ซึ่งเป็นที่ตั้งของถ้ำสัตตบรรณคูหา โดยในระยะใกล้ๆกับภูเขาเวภารประมาณ 3-4 กิโลเมตร จะมีที่เผาศพของชาวกรุงราชคฤห์
คณะสงฆ์ใน “โครงการจาริกธรรมตามรอยบาทพระศาสดา ครั้งที่ 9” ได้เดินทางมาถึง “ถ้ำสัตตบรรณคูหา บริเวณข้างภูเขาเวภารบรรพตใกล้กรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 เพื่อศึกษาและเรียนรู้สถานที่ในครั้งพุทธกาล โดยพระครูธีรธรรมปราโมทย์ (หลวงพ่อสำเริง ธมฺมธีโร) เจ้าอาวาส วัดดอยเทพนิมิต ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ประธานดำเนินงาน “โครงการจาริกธรรมตามรอยบาทพระศาสดา” ครั้งที่ 9 เมตตาให้พระสงฆ์ในโครงการจาริกธรรมฯ สมมติเหตุการณ์จำลอง “การสังคายนาพระธรรมวินัย” ตามที่จารึกไว้ในใบลานของพระไตรปิฎก
นายสามารถ มังสัง นักเขียนในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ระบุว่า ตามหลักฐานของพระเถระฝ่ายไทย ผู้รจนาหนังสือเรื่องสังคีติยวงศ์ หรือประวัติศาสตร์การทำสังคายนามี 9 ครั้ง รวมทั้งครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงกระทำในรัชสมัยของพระองค์ โดยการสอบทานแก้ไขพระไตรปิฎก แล้วจารึกลงใบลานเป็นหลักฐาน โดยครั้งที่ 1 ได้ทำสังคายนาครั้งที่ 1 กระทำกันที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพตใกล้กรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน 3 เดือน ซึ่งมีมูลเหตุการทำสังคายนาในครั้งนี้คือ พระมหากัสสปะ ปรารภถ้อยคำของภิกษุชื่อสุภัททะ ผู้บวชเมื่อแก่
เมื่อสุภัททะรู้ข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ภิกษุทั้งหลายต่างพากันร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ แต่ภิกษุชื่อสุภัททะ ห้ามมิให้ภิกษุเหล่านั้นเสียใจ เพราะว่าต่อไปนี้จะทำอะไรก็ตามใจ แล้ว ไม่ต้องมีใครมาชี้ว่า นี่ผิด นี่ถูก นี่ควร นี่ไม่ควรต่อไปอีก เหตุการณ์นี้ทำให้พระมหากัสสปะสลดใจในถ้อยคำของสุภัททะ จึงได้นำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมสงฆ์ แล้วเสนอให้มีการทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัย ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบ จึงมีการทำสังคายนาในครั้งที่ 1 โดยพระเจ้าอชาตศัตรู ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ มีพระอรหันต์ประชุมกัน 500 รูป และใช้เวลา 7 เดือนจึงสำเร็จ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะสงฆ์ในโครงการจาริกธรรมฯ ได้เดินเท้าผ่าน “พระพุทธรูปองค์ดำ” ที่บึงลัฏฐิวัน หรือ สวนตาลหนุ่ม ประเทศอินเดีย โดยมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ดังนี้
ที่บึงลัฏฐิวัน หรือ สวนตาลหนุ่ม พระพุทธเจ้าเสด็จมาด้วยบริวาร 1,003 องค์ เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งมีข้าราชบริพาร 12 นหุต หรือ 120,000 คน และ เป็นศิลปะสมัยปาละ ปี พ.ศ.1400 โดยเป็นปางยมกปาฏิหาร์ย ส่วนพระหัตถ์ (มือ) กับพระชานุ (เข่า) หายไป แต่ยังแสดงให้เห็นว่าพระพุทธรูปเป็นปางมือมุทรา แบบเดียวกับการแสดงพระธรรมจักร และแสดงยมกปาฏิหาร์ย แสดงอนุปุพพิกถา , หลวงจีนพระถังซัมจั๋ง เสด็จมายังที่นี้ ใน พ.ศ.1173 สืบเนื่องมาพันกว่าปีสมัย 1760 พระพุทธศาสนาถูกทำลาย ด้วยการทำลายพระนาสิก , พระโอษฐ์ และ พระพักตร์ เป็นการทำลายลมหายใจ และ ไม่สามารถให้พระองค์พูดได้ แล้วก็ทำลายที่พระหัตถ์ ที่พระกร เพื่อไม่ให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรมได้ในปางนี้
ในทางมหายาน การแสดงธรรมไม่ได้แสดงเฉพาะการพูดอย่างเดียว แต่แสดงในปางตรรกมุทรา เราจะเห็นมหายาน และ วัชรญาณแบบทิเบต จะแสดงปางตรรกมุทรา ซึ่งเป็นวิธีการถ่ายทอดธรรมะ โดยไม่ต้องใช้คำพูด ต่อมาปี พ.ศ.2204 ท่านเซอร์คันนิ่งแฮม ชาวอังกฤษได้มาเปิดพุทธศาสถาน ได้เจอพระพุทธรูปองค์นี้กองอยู่บนดิน ตอนนั้นก็เพียงแต่ล้อมรั้วไว้ชั่วคราว เมื่อผ่านเวลามายาวนาน พ.ศ.2543 ภิกษุชาวญี่ปุ่นมาเห็นจึงสลดสังเวชจึงรวมกับชาวลัฏฐิวัน สร้างศาลาแห่งนี้ และ ทำการสมโภชอย่างยิ่งใหญ่
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 คณะสงฆ์ในโครงการจาริกธรรมฯ จะเดินเท้าต่อไปยัง “วัดไทยนาลันทา” ประเทศอินเดีย
ขอบคุณข้อมูลภาพเฟสบุ๊ก : จิตว่างเปล่า ใจปล่อยวาง และ เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี