‘ห้ามยืนบนรถสองแถว’ปลอดภัยแต่ไม่สอดคล้องวิถีสังคมไทย แนะรัฐอุดหนุนหากอยากเปลี่ยนแปลง
19 ก.พ. 2566 นายฉัตรไชย ภู่อารีย์ นักวิชาการอิสระด้านการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง และที่ปรึกษาชมรมผู้ประกอบการรถโดยสาร หมวด 4 เอกชน กรุงเทพฯ (รถสองแถว) กล่าวถึงกรณี เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การยกเว้นให้คนโดยสารไม่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยในรถบางประเภท พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อห้ามการยืนโดยสารบนรถสองแถวอยู่ด้วย ว่า กฎหมายนี้จะสร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างแน่นอน เพราะไม่สอดคล้องกับบริบทความเป็นจริงของสังคมไทย
กล่าวคือ ในการประกอบรถสองแถว มีการติดตั้งหลังคาพร้อมราวจับในลักษณะที่สามารถยืนได้ แต่ปัญหาคือ ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกกำหนดแต่เฉพาะจำนวนที่นั่ง ดังนั้นการยืนนั้นก็ถือว่าผิด ซึ่จริงๆ แล้วควรแก้กฎหมายอนุญาตให้ยืนภายในตัวรถได้ หากจะห้ามก็ควรห้ามการยืนล้ำออกมานอกตัวรถเพราะแบบนั้นคือไม่ปลอดภัย และเชื่อได้ว่า ในวันที่ 19 มี.ค. 2566 ที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ หากมีการจับกุมเกิดขึ้นจริงจะเกิดการประท้วงอย่างแน่นอน ซ้ำรอยแนวคิดห้ามนั่งท้ายรถกระบะเมื่อหลายปีก่อน ที่สุดท้ายรัฐบาลทนแรงต้านไม่ไหวต้องยอมถอย
“กฎหมายกับสังคมมันต้องไปด้วยกันได้ แล้วเราจะเห็นว่า มีที่ไหนบ้างที่รถสองแถวไม่มียืน มันไม่มี แล้วรถเมล์ทั้งหลายทุกวันนี้ ทั้งรถเมล์ไฟฟ้า รถเมล์ ขสมก. รถใครต่อใคร ยืนได้แค่ 11 คน เอาตามกฎหมาย ที่ผ่านมาก็ผิดกันมาตลอด จริงๆ ข้างรถเข้าจะระบุว่ายืนกี่คน แต่ถ้าเป็นรถเมล์ร้อนจะยืนได้ 30 กว่าคนก็มี ที่เราจะเห็นติดไว้ทางด้านท้ายของด้านซ้าย นั่งกี่คนยืนกี่คน แต่รถแอร์รุ่นใหม่ตามกฎหมายเลยแค่ 11 คน แล้วทุกวันนี้ที่ยืนจริงๆ เอาที่เห็นมันก็เกิน 11 คน ผิดกฎหมายทั้งนั้น ถ้าจับมันต้องจับให้หมด” นายฉัตรไชย กล่าว
นายฉัตรไชย กล่าวต่อไปว่า หากกฎหมายห้ามการยืนบนรถสองแถวบังคับใช้จริง ก็เป็นไปได้ที่กลุ่มรถสองแถวอาจจะไปจี้ให้เจ้าหน้าที่ไล่จับรถเมล์ที่ให้ผู้โดยสารยืนเกินจำนวนที่กำหนด สรุปคือจะวุ่นวายกันไปหมด ซึ่งในฐานะที่ตนเป็นนักกฎหมาย เห็นว่ากฎหมายต้องเป็นไปตามสภาพสังคมที่เป็นอยู่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และรถสองแถวผู้โดยสารก็ยืนกันมาตลอด จะจับคนนั่งบนหลังคาหรือยืนห้อยโหนด้านท้ายรถก็จับไปไม่ว่ากัน เป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกต้องไปปรับแก้กฎหมายกำหนดจำนวนคนยืน
ขณะเดียวกัน ค่าโดยสารรถสองแถวที่เก็บกันอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ได้สะท้อนต้นทุนการเดินรถที่แท้จริง เช่น ในกรุงเทพฯ ตลอดสาย 8 บาท ส่วนต่างจังหวัด ตลอดสาย 10 บาท แต่ที่ยังวิ่งรถกันอยู่ได้ส่วนหนึ่งก็ด้วยค่าโดยสารจากผู้โดยสารประเภทยืน หากให้มีเฉพาะผู้โดยสารประเภทนั่งเพียงอย่างเดียวคงมีเลิกวิ่งกันไปนานแล้วเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว แต่หากจะให้นั่งอย่างเดียวก็ต้องปรับราคาค่าโดยสารเพิ่มขึ้น ประชาชนก็จะเดือดร้อนกันอีก
ด้าน นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การยกเว้นให้คนโดยสารไม่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยในรถบางประเภท พ.ศ. 2566 เกิดขึ้นจากการแก้ไขกฎหมายหลักคือ พ.ร.บ.จราจรทางบก เมื่อช่วงกลางปี 2565 ซึ่งก็มีหลายเรื่อง อาทิ ระบบตัดแต้มใบขับขี่ผู้ทำผิดกฎจราจร กำหนดให้มีการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือคาร์ซีท จากนั้นมีข้อกำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไปออกข้อยกเว้นประเภทรถที่ไม่ต้องใช้คาร์ซีท
ซึ่งโดยทั่วไปก็คือรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หรือรถเก๋ง แบบนี้จะไม่ค่อยมีปัญหาเพราะกำหหนดมาตรฐานมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าทุกที่นั่งต้องมีเข็มขัดนิรภัย และรถที่มีเข็มขัดนิรภัยก็สามารถใช้คาร์ซีทได้ ดังนั้นหากดูประกาศที่เป็นการยกเว้นไม่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยในรถบางประเภท เท่ากับว่ารถแบบใดที่ยกเว้นไม่ต้องใช้เข็มขัดนิรภัยก็ไม่ต้องใช้คาร์ซีทไปด้วย เช่น รถโดยสารประจำทางที่วิ่งในเขตเมือง เหตุเพราะใช้ความเร็วไม่สูง แต่หากเป็นรถโดยสารที่วิ่งระหว่างเมืองจะติดตั้งเข็มขัดนิรภัยอยู่แล้วและกำหนดให้ต้องใช้ด้วย
ต่อมาคือรถกระบะในส่วนของการนั่งในแค็บ รวมถึงการนั่งท้ายกระบะ ซึ่งจริงๆ ถ้าว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัยในแค็บก็ไม่สมควรให้นั่งมาตั้งแต่แรกแล้ว แต่ด้วยบริบททางเศรษฐกิจและสังคมไทยจึงอนุญาตให้นั่งได้ โดยในแค็บให้นั่งได้โดยไม่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ส่วนท้ายกระบะกำหนดจำนวนคนที่สามารถนั่งได้ และห้ามยืนบนรถรวมถึงห้ามนั่งบนขอบกระบะ เพราะเมื่อรถวิ่งแล้วเบรกกะทันหันอาจเป็นอันตรายร่วงหล่นตกจากรถได้
ส่วนรถสองแถว เท่าที่ตนทราบ รถสองแถวที่เป็นรถกระบะ เมื่อจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกจะไม่มีการให้มีผู้โดยสารยืนอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ว่าประกาศก่อนหน้าเคยให้ยืนได้แล้วประกาศฉบับนี้มาแก้ไม่ให้ยืน โดยรถสองแถวที่อนุญาตให้ยืนได้จะเป็นรถสองแถวขนาดที่ใหญ่กว่ารถกระบะ และจริงๆ ตามมาตรฐานความปลอดภัยเรื่องการยืนก็ไม่ปลอดภัยอยู่แล้ว แต่การยืนภายในรถยังพออะลุ้มอล่วยได้บ้าง ส่วนการยืนห้อยโหนออกมานอกตัวรถนั่นไม่ปลอดภัยแน่นอน นอกจากนั้น รถสองแถวยังมีการจำกัดการใช้ความเร็วด้วยเพราะไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย
“หลายๆ ครั้งใช้คำว่าไม่มีผลบังคับ รวมถึงไม่มีแนวทางการบังคับใช้ที่ต่อเนื่อง ก็ปล่อยอะลุ้มอล่วยมา ก็เหมือนการนั่งกระบะหลัง หนึ่งเลยถ้าจะอนุญาตให้นั่งกระบะหลังมันอนุญาตไม่ได้อยู่แล้วเพราะคุณจดทะเบียนมาเป็นรถบรรทุกส่วนบุคคล รถบรรทุกข้างหลัง คุณจะให้คนนั่งข้างหลังสุดท้ายเหมือนไปทำผิดให้ถูก ทางรัฐก็เลยไม่กล้าไปบังคับ ก็เลยปล่อยแล้วก็ใช้อาจจะเป็นหลักรัฐศาสตร์อะไรก็ว่าไป แต่จริงๆ ยังเป็นปัญหา” นายสุเมธ ระบุ
นายสุเมธ กล่าวต่อไปว่า คงต้องให้มีเรื่องเศร้าสลดเกิดขึ้น อย่างตนก็เติบโตมาในยุคสมัยที่การโดยสารรถเมล์หรือรถประจำทางในเมือง ผู้โดยสารจะยืนห้อยโหนออกมานอกตัวรถ กระทั่งเกิดเหตุคนพลัดตกรถเมล์เสียชีวิต จึงมีการออกกฎหมายห้ามโดยสารห้อยโหนนอกรถอีก หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงเห็นรถเมล์เมื่อวิ่งอยู่จะปิดประตูตลอด เช่นเดียวกับเหตุการณ์รถตู้โดยสารชนกับรถกระบะที่มีคนนั่งเต็มท้ายกระบะ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก หลังจากนั้นมีกฎหมายกำหนดให้ติด GPS จำกัดความเร็วรถ จำกัดเวลาคนขับ ซึ่งหลังจากนั้นอุบัติเหตุจากรถตู้โดยสารก็ลดลง
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวก็สามารถออกกฎหมายควบคุมได้เฉพาะฝั่งรถตู้เท่านั้น เนื่องจากมีจำนวนผู้เกี่ยวข้องน้อยสามารถควบคุมได้ง่าย ในขณะที่การออกกฎหมายห้ามนั่งท้ายกระบะมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากกว่าทำให้เกิดกระแสคัดค้านอย่างรุนแรงจากประชาชน ส่วนข้อกังวลว่า หากไม่ให้ยืนบนรถสองแถว จะทำให้คนหันไปใช้รถส่วนตัว โดยเฉพาะจักรยานยนต์มากขึ้นหรือไม่ เนื่องจากต้องรอรถนานขึ้น ดังตัวอย่างในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ช่วงหนึ่งมีการจำกัดจำนวนผู้โดยสารบนรถเมล์ ทั้งที่คนจำนวนมากยังต้องออกมาทำงานนอกบ้าน
ประเด็นนี้ตนมองว่า เรื่องความปลอดภัยกับคุณภาพการให้บริการ บางทีอาจต้องไปดำเนินการให้เดินหน้าควบคู่กัน แน่นอนงานของกรมการขนส่งทางบกก็จะต้องหนักขึ้น แต่หากไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้ไม่ปลอดภัยอย่างที่เป็นอยู่ หากเกิดเหตุขึ้นมา รัฐบาลหรือกระทรวงคมนาคมก็ต้องรับผิดชอบอีก ปัญหานี้ก็เช่นเดียวกับทุกครั้งที่มีแนวคิดให้ลดการใช้รถส่วนตัวเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ผลคือผู้ใดก็ตามที่เสนอแนวคิดดังกล่าวมักจะถูกกระแสสังคมต่อต้านเสมอโดยยกเหตุผลเรื่องความไม่ปลอดภัยและไม่สะดวกของระบบขนส่งมวลชน
ซึ่งคำถามคือจะทำอย่างไรให้ระบบขนส่งมวลชนที่ทั้งปลอดภัย เพียงพอให้บริการ และราคาที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงสามารถเกิดขึ้นขึ้นได้ อาทิ ในค่างประเทศมีระบบอุดหนุน แต่ที่ผ่านมาไทยนั้นอุดหนุนน้อยมาก ดังนั้นการจัดทำงบประมาณของรัฐ ควรจัดส่วนหนึ่งมาอุดหนุนระบบขนส่งมวลชนหรือไม่โดยเลิกใช้จ่ายเรื่องอื่นแล้วนำงบประมาณมาใช้ตรงนี้แทน
“ถ้ารัฐมีกลไกในการสนับสนุนที่เหมาะสม ก็จะเป็นเรื่องของเงินอุดหนุนบางส่วนให้กับผู้ประกอบการ เพราะปัจจุบันมีเรื่องการกำกับค่าโดยสารด้วย แล้วก็เรื่องของค่าครองชีพ สุดท้ายออกรถมาก็เก็บแพงไม่ได้ ฉะนั้นตรงนี้รัฐเองอาจต้องมองภาพว่าเป็นสวัสดิการรัฐที่อาจต้องลงทุนให้แล้วให้เอกชนมาดำเนินการแทน หรือรัฐต้องให้เงินสนับสนุนอย่างไร อันนี้ก็เป็นโจทย์ที่รัฐ ยังไม่เคยเห็นภาครัฐไหน รัฐบาลไหนใส่เรื่องนี้หลักๆ มาเป็นเรื่องเป็นราว” ผอ.วิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ TDRI กล่าว .-008
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ราชกิจจาฯ ประกาศยกเว้นผู้โดยสารไม่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย ในรถบางประเภท
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี