8 มีนาคม 2566 เว็บไซด์ 'Pobpad' เปิดเผยข้อมูลว่า การมีเหงื่อออกมือมากๆ ทำให้หลายคนรู้สึกไม่สบายใจและกังวลโดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว และความเหนียวเหนอะหนะที่ฝ่ามือยังทำให้เราไม่กล้าจับมือหรือสัมผัสกับผู้อื่นจนอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงานได้ หากเราเรียนรู้สาเหตุและวิธีรับมือกับเหงื่อออกมือที่เหมาะสมก็อาจบรรเทาปัญหากวนใจในเบื้องต้นก่อนถึงมือแพทย์ได้
การขับเหงื่อเป็นกลไกที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิหรือความร้อนในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ เมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น ระบบประสาทจะกระตุ้นต่อมเหงื่อให้ขับเหงื่อออกมาตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยมักพบบ่อยบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รักแร้ ใบหน้า หู หนังศีรษะ หรือแผ่นหลัง เมื่อกลไกนี้เกิดขึ้นร่างกายก็จะมีอุณหภูมิเย็นลงนั่นเอง
สาเหตุของเหงื่อออกมือ เหงื่อออกมือมักเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากฝ่ามือของคนเรามีจำนวนต่อมเหงื่อมากกว่าอวัยวะอื่น จึงทำให้เรารู้สึกได้ว่าปริมาณเหงื่อที่มือมีมากกว่าส่วนอื่น ๆ
โดยเหงื่อออกมืออาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ยังเด็กผ่านการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากคนในครอบครัว หรืออาจถูกกระตุ้นให้มีเหงื่อออกจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความเครียด อากาศร้อน การทำกิจกรรมทางกาย หรือการรับประทานอาหารรสจัด
แต่คนที่มีเหงื่อออกมือหรือบริเวณอื่น ๆ มากผิดปกติ โดยไม่ได้สัมพันธ์กับความร้อนหรือการออกกำลังกายทั่วไป และหากพบอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ก็เป็นไปได้ว่าบุคคลนั้นกำลังเผชิญกับภาวะทางสุขภาพที่ในทางการแพทย์เรียกกันว่าภาวะเหงื่อออกมาก (Hyperhidrosis) ซึ่งเป็นผลจากโรคประจำตัวหรือสภาวะสุขภาพบางประการ
ยกตัวอย่างเช่น โรคเบาหวาน ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคหัวใจขาดเลือด โรคในระบบประสาท การติดเชื้อ โรคมะเร็งบางชนิด การใช้ยารักษาโรคอย่างยาแก้ปวด ยาต้านเศร้า ยาเบาหวานบางชนิด หรือยาฮอร์โมน รวมถึงการเข้าสู่วัยทอง และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ หากผู้ที่มีเหงื่อออกมือมากรู้สึกกังวลว่าอาการของตนเองอาจเกิดจากสาเหตุที่ผิดปกติ สามารถไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด ซึ่งหากการมีเหงื่อออกมากเป็นผลจากปัญหาสุขภาพจริง แพทย์จะพิจารณาการรักษาหรือให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
วิธีลดเหงื่อออกมือเบื้องต้น โดยทั่วไป หากเหงื่อออกมือไม่ได้เกิดจากปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสม เราอาจดูแลฝ่ามือและลดปริมาณเหงื่อที่มือได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
ไม่สวมถุงมือหนา ๆ ที่ผลิตจากวัสดุที่ไม่มีรูระบายอากาศหรือระบายอากาศได้ยาก เพราะอาจทำให้ความร้อนสะสมจนมีเหงื่อออกได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่ออยู่กลางแจ้งหรือทำกิจกรรมที่เหงื่อออกอยู่แล้ว
งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มร้อนอย่างชาหรือกาแฟ รวมถึงรับประทานอาหารที่มีรสจัดที่อาจทำให้เราเหงื่อออกได้ ลองทำกิจกรรมเบา ๆ เช่น วาดภาพ ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือ เพื่อผ่อนคลายความเครียดอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีเหงื่อออก
ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารระงับเหงื่อ (Antiperspirant) อย่างอะลูมิเนียมคลอไรด์ (Aluminium Chloride) ช่วยลดการขับเหงื่อให้น้อยลง โดยทาลงฝ่ามือก่อนนอนและล้างออกให้สะอาดหลังตื่นนอน
ผสมเบคกิ้งโซดา 2–3 ช้อนชากับน้ำในปริมาณเล็กน้อยจากนั้นนำมาถูบริเวณฝ่ามือประมาณ 5 นาที แล้วจึงล้างออกให้สะอาด โดยเบคกิ้งโซดามีส่วนช่วยลดเหงื่อและทำให้เหงื่อระเหยออกไปได้เร็วขึ้น
แม้เหงื่อออกมือมักไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง แต่หากอาการนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความทุกข์ วิตกกังวล จนไม่อยากเข้าสังคมหรือพบปะกับใคร มีเหงื่อออกมากจนผิดปกติเฉียบพลัน หรือมีเหงื่อออกตอนกลางคืนโดยไม่ทราบสาเหตุก็ควรไปปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ
ในกรณีที่มีเหงื่อออกมากร่วมกับเวียนศีรษะ คลื่นไส้ สั่น มีไข้ เจ็บหน้าอก ลำคอ ขากรรไกร แขน หรือหัวไหล่ ผิวเย็น หรือชีพจรเต้นเร็ว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาโดยเร็ว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี