“พอมาทำงานจริงๆ ก็เริ่มเจอสถานการณ์ที่ว่า วางแก้วแรงถูกหักเงิน มาสายโดนหักเงิน ไม่สบายหยุดโดนหักเงิน หักมากขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ บางครั้งมีนายใหม่มาก็จะมีการมาขอผู้หญิงฟรี ซึ่งพวกเราก็ต้องเสี่ยงจับสลากกันว่าวันนี้ใครจะซวย การมาเป็นพนักงานบริการได้ถึงแม้จะไม่ได้ใช้ต้นทุนอะไรก็แล้วแต่แต่มันก็ต้องใช้ทักษะ ต้องมีลักษณะนิสัยที่จะสามารถมาทำงานตรงนี้ได้ด้วย ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำได้ แต่การที่เรามาเจอสถานการณ์ถูกหักเงินซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นปรากฏว่ามันเป็นความพยายามหักเงินของเจ้าของร้าน ที่ต้องการจะเอาเงินจากเราไปจ่ายส่วย นี่เป็นครั้งแรกที่เราเรียนรู้กฎหมายจากความไม่ยุติธรรม”
ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ตัวแทนมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวในงานแถลงข่าว “กฎหมายใหม่สำหรับยุคใหม่ของพนักงานบริการ” ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 16 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ถึงชีวิตของ “พนักงานบริการทางเพศ (Sex Worker)” โดยย้อนไปเมื่อนานมาแล้ว ได้เข้าสู่วงการนี้เพราะเห็นว่าเป็นงานที่ไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษา แต่มีรายได้เพียงพอสำหรับการเลี้ยงลูกและส่งให้เรียนหนังสือ แม้สังคมจะบอกว่าไม่ควรทำเพราะเป็นงานที่ไม่ดีก็ตาม ซึ่งในเบื้องต้นก็ไม่ได้สนใจเรื่องกฎหมาย กระทั่งมารู้สึกตัวว่ากำลังอยู่ในสภาพที่ไม่เป็นธรรม
มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ องค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ที่รณรงค์เรื่องสิทธิของพนักงานบริการทางเพศ และพนักงานในสถานบันเทิง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2528 ขณะที่ ทันตา เข้าร่วมกับองค์กรนี้ในปี 2539 ทำให้พบว่า พนักงานบริการไม่ว่าจะอยู่ในสถานประกอบการที่มีชื่อเรียกอย่างไรก็ตาม ทั้งบาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ฯลฯ ล้วนถูกเอารัดเอาเปรียบในลักษณะเดียวกัน และเชื่อมโยงกับปัญหาการต้องส่งส่วยเหมือนกัน
“พวกเราพยายามต่อสู้ ไปถามหาความยุติธรรมในหลายเวทีมาก ถามกันทุกเวที ผ่านมาสิบกว่ารัฐบาล ทุกเวทีก็บอกว่าเราไม่สามารถทำได้ ทั้งที่เราทำงานในสถานบริการที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ทำไมเราไม่ใช่ลูกจ้าง? ทุกเวทีบอกว่าเราผิดกฎหมายถึงไม่สามารถทำได้ แต่คนที่บอกเราในเวทีนั้นตอนกลางวัน ตกเย็นมาก็คือลูกค้าเราในตอนกลางคืน ปฏิเสธเราตอนกลางวัน แต่มาเป็นลูกค้าเราตอนกลางคืนอยู่ดี” ทันตา กล่าว
จากความพยายามต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี ล่าสุด “ความหวัง (อาจ) กำลังเกิดขึ้น” เมื่อร่างกฎหมายที่จะมาแทนพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ซึ่งใช้ในปัจจุบัน ได้รับการเปิดเผยจาก จินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่า เสร็จสมบูรณ์แล้ว เพียงแต่ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่และรัฐมนตรีกระทรวงฯคนใหม่หลังการเลือกตั้ง จึงจะเดินหน้ากระบวนการกันต่อ
อธิบดี สค. เล่าว่า กว่าจะมาเป็นร่างกฎหมายได้ ต้องย้อนไปในปี 2564 ที่เริ่มจากการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมาย (RIA) อันเป็นขั้นตอนที่กำหนดว่า การจะร่างกฎหมายใหม่ก็ดี หรือปรับแก้กฎหมายเดิมก็ตาม ต้องมีกระบวนการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมาย จึงนำไปสู่การเปิดรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ทั้งคนทำงานบริการทางเพศ เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ฯลฯ ทั้งช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของ สค. และของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงจัดประชุมกลุ่มย่อยของผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่าย จึงถือว่าค่อนข้างรอบด้าน
โดยสรุปแล้วเห็นตรงกันว่า “พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์คนทำงานถูกเอารัดเอาเปรียบ และเป็นช่องว่างให้เกิดการเรียกรับผลประโยชน์” ขณะที่การรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาในช่วงเริ่มร่างกฎหมาย มีการเปิดเวทีในกรุงเทพฯ 2 ครั้ง จากนั้นไปเปิดเวทีในแต่ละภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงรายภาคใต้ ที่ จ.สงขลา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.ขอนแก่น และภาคตะวันออก ที่ จ.ชลบุรี ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น จนได้มาเป็นร่างกฎหมายใหม่ที่เปลี่ยนสาระสำคัญจากการป้องกันและปราบปราม หรือการกำหนดความผิดทางอาญา มาเป็นการคุ้มครองคนทำงานบริการทางเพศ
“เราจะยังมีขั้นตอนซึ่งอาจปรับปรุงได้ เมื่อมีรัฐบาลใหม่ รัฐมนตรีใหม่ เราก็จะเสนอได้ทัน ซึ่งเราวางแผนไว้ว่าน่าจะเสนอ เลือกตั้งน่าจะเดือนพฤษภา มิถุนา กะว่าเผื่อจะเรียบร้อยที่เราวางแผนไว้คือกรกฎา ไม่เกินสิงหา เราก็จะเสนอกฎหมายนี้ให้รัฐมนตรี รัฐมนตรีต้องเห็นชอบก่อน ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ารัฐมนตรีต่อไปจะเป็นใคร หลังจากรัฐมนตรีเห็นชอบเสนอเข้า ครม. อันนี้ก็ไปดูว่าถ้า ครม. เห็นชอบก็กลับไปกฤษฎีกา แล้วก็เข้าสภาตามกระบวนการ” จินตนา กล่าว
ที่ผ่านมา การ “ปลดล็อก” การขายบริการทางเพศพ้นจากอาชีพผิดกฎหมาย มักเจอ “แรงต้าน” จากสังคมไทยที่แม้จะเห็นว่าอาชีพดังกล่าวมีอยู่จริง แต่ก็กระอักกระอ่วนที่จะยอมรับอย่างตรงไปตรงมา แต่สำหรับความพยายามครั้งล่าสุด อธิบดี สค. ระบุว่า ไม่พบแรงต้าน อีกทั้งยังมี “แรงหนุนจากฝ่ายการเมือง” เห็นได้จากทางสภาผู้แทนราษฎร เป็นฝ่ายเสนอความเห็นมายัง พม. ให้ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 เพราะเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน แม้กระทั่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ก็ส่งตัวแทนมาเป็นคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นชุดใหญ่ ตลอดจนเข้าร่วมในเวทีย่อย ก็ไม่ได้แสดงจุดยืนต่อต้านการแก้ไขกฎหมายเช่นกัน
นักวิชาการผู้มีส่วนร่วมกับการร่างกฎหมายฉบับนี้ ศ.ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วในประเทศไทยไม่ได้กำหนดความผิดฐานค้าประเวณีไว้โดยตรง แต่กำหนดความผิดในส่วนของพฤติกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การชักชวนในที่สาธารณะ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่หากกฎหมายใหม่สามารถออกมามีผลบังคับใช้ การกำหนดให้พฤติกรรมดังกล่าวเป็นความผิดก็จะถูกยกเลิกไปด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนการค้าประเวณีในสถานบริการ ได้กำหนดอายุขั้นต่ำไว้ที่ 20 ปี ซึ่งจากการที่ศึกษากฎหมายแม้ในหลายประเทศกำหนดไว้ที่อายุ 18 ปี แต่ที่มาได้ข้อสรุปที่อายุ 20 ปี เพราะหากกำหนดอายุขั้นต่ำไว้ที่ 18 ปี น่าจะมีแรงต้านค่อนข้างมากเนื่องจากอายุ 18 ปี ยังคาบเกี่ยวกับวัยเรียน แต่ก็ต้องย้ำว่า กฎหมายไม่เอาผิดกับตัวคนขายบริการทางเพศดังนั้นแม้จะพบเห็นผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ค้าประเวณี ตำรวจก็ไม่สามารถไปจับกุมได้
โดยกฎหมายฉบับนี้จะเน้นควบคุมผู้ประกอบการ เช่น ห้ามปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้ามาค้าประเวณีหรือใช้บริการในสถานบริการของตนห้ามบังคับให้ขายบริการทางเพศ ซึ่งการบังคับนี้ไม่ว่าเหยื่อจะอายุเท่าใด ฐานความผิดจะไปอิงกับกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การเอาผิดกับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ยินยอมให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ขายบริการทางเพศ การตั้งสถานบริการที่มีการค้าประเวณีต้องได้รับใบอนุญาต นอกจากนั้น คนทำงานในสถานบริการจะมีสถานะแรงงาน และเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สาธารณสุข ประกันสังคม
“ผู้ให้บริการทางเพศต้องมีสิทธิ์ หมายถึงสัญญาต่างๆ ที่ทางสถานประกอบการเขาจะเขียนสัญญาอะไรในมาตรฐานทั่วไป ก็จะต้องเป็นตามมาตรฐานที่กฎหมายฉบับนี้กำหนดไว้ ซึ่งกฎหมายจะเขียนการันตีไว้ว่า การได้ค่าตอบแทนก็คงจะไม่ใช้หลักเรื่องแรงงานขั้นต่ำ เพราะลักษณะของการได้ค่าตอบแทนของผู้ให้บริการทางเพศจะสูงกว่าปกติอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราคำนึงคือค่าตอบแทนที่สถานประกอบการเขาหัก เช่น ได้ 100 บาท เขาหักไว้60-70% แต่ให้ผู้ให้บริการทางเพศแค่ 30-40% อันนี้มันก็ไม่ค่อยแฟร์เท่าไร” ศ.ณรงค์ ระบุ
ศ.ณรงค์ ยังกล่าวอีกว่า กฎหมายยังเขียนแนวทางไว้ให้มีกลไกการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งให้ใช้ในเบื้องต้นโดยไม่จำเป็นต้องไปถึงขั้นฟ้องศาล โดยมีการแต่งตั้งตำแหน่งพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจไกล่เกลี่ยได้ ซึ่งอิงจาก พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 อนึ่ง จากเหตุผลของกฎหมายเดิมที่ควบคุมการค้าประเวณี คือการป้องกันการระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นร่างกฎหมายใหม่จึงมุ่งเน้นให้ผู้ขายบริการทางเพศได้รับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งอีกมุมหนึ่งก็เชื่อมโยงกับสิทธิของผู้ขายบริการทางเพศด้วย
แอนนา โอลเซน (Ms.Anna Olsen) ผู้เชี่ยวชาญเชิงเทคนิค องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ILO ทำงานเพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงพนักงานบริการด้วย เพราะสิทธิใดๆ ไม่ควรมีการยกเว้น นอกจากนี้ ยังมองเห็นความเป็นไปได้ในทางที่ดีของสังคมในการออกกฎหมายและคุ้มครอง ความเป็นไปได้ที่เราจะเห็นการรวมตัว การจัดตั้งของพนักงานบริการที่ได้รับการยอมรับ
“พนักงานบริการเป็นคนที่มีความสนใจห่วงใยกับสิ่งที่เป็นไปที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะฉะนั้นพนักงานบริการจะลุกขึ้นมาจัดตั้งกันเอง ช่วยเหลือกัน ช่วยเหลือสังคม ที่น่าสนใจคือถ้ามีกฎหมายคุ้มครอง สิทธิที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพนักงานบริการ มันจะทำให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้”แอนนา กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี