นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของ กสม. เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ว่า ตามที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือน เมษายน 2565 เรื่อง สิทธิคนพิการ ระบุว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีรายละเอียดไม่ครอบคลุมสตรีพิการและเด็กพิการ
ส่งผลให้ถูกกีดกันจำกัดสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรและแหล่งทุน ขาดโอกาสการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจระดับนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อสตรีและเด็กพิการ ถูกแสวงหาประโยชน์ กระทำความรุนแรงและการล่วงละเมิดในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้บทบัญญัติบางมาตราในกฎหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชนงานวิจัย และความคิดเห็นจากผู้ร้องหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่ากรณีบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ
อาจกระทบต่อหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และอาจไม่เป็นไปตามหลักความเสมอภาคหรือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 4 และมาตรา 27 ที่กำหนดคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล และกำหนดว่าการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพของบุคคลจะกระทำไม่ได้
ด้วยเหตุดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมกสม. ด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไปยังกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สรุปได้ดังนี้
1.ให้แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 โดยกำหนดให้คำว่า “องค์การคนพิการแต่ละประเภท” หมายความว่า องค์กรสมาชิกระดับชาติตามประเภทความพิการ หรือองค์กรคนพิการที่สมาชิกมีความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ และสถานะของบุคคลที่ได้แจ้งชื่อไว้กับกรมตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
2.ให้แก้ไขปรับปรุง มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้เชี่ยวชาญในด้านสิทธิคนพิการซึ่งมีประสบการณ์ทำงานหรือมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นสตรีพิการไม่น้อยกว่าสองคน เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้แทนของสตรีพิการจะสามารถเสนอนโยบายและความเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการต่อคณะรัฐมนตรีได้ รวมถึงคำนึงถึงสัดส่วนผู้พิการชายและหญิงด้วย
3.ให้แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยยกเลิกมาตรา 15วรรคสาม ที่ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติที่มีเหตุผลทางวิชาการ จารีตประเพณี หรือประโยชน์สาธารณะ ต่อคนพิการ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการใช้ดุลพินิจของผู้ใช้กฎหมายในการตีความกฎหมายที่อาจมีผลเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ
และ 4.ให้เพิ่มเติมคุณสมบัติขององค์กรที่ขอแจ้งเป็นองค์การคนพิการใน ข้อ 4ของระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยการรับแจ้งชื่อองค์การคนพิการแต่ละประเภท พ.ศ. 2554 โดยให้ “มีผู้แทนของกลุ่มคนพิการที่สะท้อนถึงภูมิหลังหรืออัตลักษณ์ที่หลากหลายของแต่ละบุคคล” ด้วย เพื่อให้องค์กรที่จะได้รับแจ้งชื่อเป็นองค์การคนพิการมีคุณสมบัติสอดคล้องกับนิยามองค์การคนพิการแต่ละประเภทตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี