เมื่อวันที่ 21 มี.ค.66 ที่ผ่านมา นายพรมชัย คำเขียว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน นำประชาชนชาติพันธุ์ไทใหญ่ ลาหู่ดำ ลาหู่แดง ปาเกอญอ และชาวกะยัน ในพื้นที่ตำบลปางมะผ้ากว่าพันคนร่วมขบวนแห่โคหลู่ ในงานประเพณีปอยส่างลอง ประจำปี 2566 โดยมีผู้ที่ร่วมบวชส่างลอง จำนวน 37 องค์และบวชจางลอง (พระ) 1 องค์ รวมทั้งสิ้นจำนวน 38 องค์ สำหรับขบวนแห่โคหลู่ หรือการแห่เครื่องไทยธรรมและอัฐบริขารต่างๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญในงานประเพณีปอยส่างลอง
โดยมีมีญาติและประชาชนเข้าร่วมขบวนแห่อย่างเพรียงกัน โดยจะถือช่วยกันแบก ช่วยกันหามอัฐบริขารเครื่องไทยธรรมทุกชิ้นทั้งเล็กและใหญ่ สำหรับขบวนแห่ประกอบด้วย ขบวนจะเริ่มด้วยผู้อาวุโสแต่งชุดขาว อุ้มขันข้าวตอกดอกไม้ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีศีลธรรม เป็นผู้บริสุทธิ์เดินนำหน้าขบวน
"จีเจ่" (กังสดาลใหญ่) ตีเป็นระยะ ๆ เป็นการป่าวประกาศให้ได้ยินกันทั่ว ๆ ไป เมื่อใครได้ยินแล้วให้ร่วมอนุโมทนาหรือเดินทางมาร่วมทำบุญ
"อุ้บ" คือเครื่องสักการะพระพุทธ มีดอกไม้ ธูปเทียน ขนม บรรจุอยู่ในภาชนะใช้คนแบกหาม จำนวน 2 คน เมื่อถึงวันทำบุญจะนำไปถวายพระพุทธ
ม้าเจ้าเมือง เป็นม้าทรงของเจ้าเมือง (เจ้าพ่อหลักเมือง) ที่จะต้องอัญเชิญมาร่วมในขบวนแห่โคหลู่ในประเพณีปอยส่างลองทุกครั้ง
ต้นตะเป่ส่า (ต้นกัลปพฤกษ์) การถวายต้นตะเป่ส่า มุ่งให้เกิดในสวรรค์ มีต้นกัลปพฤกษ์บันดาลสิ่งที่ปรารถนาได้ทุกอย่าง มี 2 ประเภท คือ
1.ต้นตะเป่ส่าพระพุทธ คล้ายจองพารา จัดเป็นส่วนที่เด่นที่สุดในขบวน ใช้สำหรับถวายพระพุทธเจ้า
2.ต้นตะเป่ส่าถวายวัด คล้ายต้นตะเป่ส่าพระพุทธต่างกันตรงเครื่องห้อยซึ่งเป็นเครื่องใช้สำหรับวัด เช่น ถ้วยชาม จาน แก้วน้ำ หม้อ ฯลฯ ตามแต่ศรัทธาเพื่อนำไปถวายวัด
ขบวนโคหลู่นำเครื่องอัฐบริขารที่ใช้ในการบรรพชาและเครื่องไทยธรรมทุกชิ้นมาเข้าขบวนแห่ให้ยิ่งใหญ่และสวยงาม คือ ปุ๊กข้าวแตก คือห่อข้าวตอกด้วยกระดาษสา ผูกติดกับธงสามเหลี่ยมที่เรียกว่า "จ๊ากจ่า" ใช้แทนดอกไม้สำหรับแจกให้ผู้ไปร่วมงานบรรพชาไหว้พระ ปุ๊กข้าวแตกจะขาดไม่ได้และจะต้องมีจำนวนเท่ากับส่างลอง เทียนเงิน เทียนทอง คือธูปเทียนแพ เป็นเครื่องบูชาส่างลองสำหรับถวายแด่พระอุปัชญาย์ พุ่มเงิน พุ่มทอง
สำหรับส่างลองถวายพระพุทธและประดับขบวน อูต่อง ปานต่อง คือกรวยหมากพลูและกรวยดอกไม้ หม้อน้ำต่า คือหม้อดินห่อผ้าขาวใส่ใบไม้ 9 ชนิด จัดไว้เพื่อความร่มเย็น และเป็นสิริมงคล และมีขบวนกลองมองเซิงใช้บรรเลงประกอบขบวนทำให้เกิดความไพเราะรื่นเริงในขบวนเครื่องแห่โคหลู่ เครื่องไทยธรรมที่เป็นปัจจัยถวายพระสงฆ์ที่นิมนต์มาในงานตกแต่งด้วยดอกไม้จัดไว้อย่างสวยงามโดยมากหญิงสาวจะเป็นผู้ถือ อัฐบริขารที่เป็นเครื่องใช้สามเณร ประกอบด้วยส่างกาน (จีวร) เครื่องนอนและเครื่องใช้อื่น ๆ ของสามเณร
ขบวนส่างลอง เป็นกลุ่มซึ่งจะอยู่เกือบท้ายขบวน วันนี้ทั้งส่างลองตะแปส่างลองและผู้ถือทีคำจะแต่งกายสวยงามเป็นพิเศษ ขณะขบวนเคลื่อนที่ไปก็จะฟ้อนรำไปด้วยตามจังหวะกลองก้นยาว ทำให้เกิดความสนุกสนานครึกครื้นมากยิ่งขึ้น
นายพรมชัย คำเขียว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปางมะผ้าได้กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนตำบลปางมะผ้า ร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 20 - 22 มีนาคม 2566 นี้ ณ วัดบ้านแม่ละนา โดยวันที่ 20 มีนาคม วันปลงผมส่างลอง วันที่ 21 มีนาคม วันแห่โคหลู่และวันฮ้องขวัญส่างลอง วันที่ 22 มีนาคม วันบรรพชา เพื่อสืบสานไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวไทใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้คงอยู่สืบไป - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี