“รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของงบประมาณรายจ่ายกองทุนไตวายเรื้อรังในการชดเชยค่าบริการ สำหรับการจัดบริการบำบัดทดแทนไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระหว่างปีงบประมาณ 2553-2565 พบว่า มีแนวโน้มค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกปีตามจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปีงบประมาณ 2565 พบว่ามีค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดบริการบำบัดทดแทนไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 11,808 ล้านบาท สำหรับการจัดบริการผู้ป่วยประมาณ 7 หมื่นคน”
ภก.ไตรเทพ ฟองทอง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในงานเสวนาวิชาการสานต่อ “วันไตโลก” เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 เผยสถานการณ์การเข้ารับบริการสุขภาพของผู้ป่วย“ไตวายเรื้อรัง” โดยในปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา จากการสำรวจฐานข้อมูลบริการผู้ป่วยใน สปสช. พบผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง Stage 1-5(ทุกประเภทสิทธิตามระบบหลักประกันฯ) ที่มาใช้บริการประเภทผู้ป่วยในจำนวน 304,369 คน
ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่มีความจำเป็นต้องเข้าสู่การดูแลโดยกระบวนการบำบัดทดแทนไตอีกเป็นจำนวนมากในประเทศไทย หากขาดการจัดระบบบริการสำหรับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ในเชิงการป้องกันที่ดีพอ โดยเฉพาะการจัดระบบบริการในระดับชุมชน ที่ต้องการการบูรณาการทรัพยากรจากหลายภาคส่วน และกำหนดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการออกแบบระบบบริการ
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไตเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง คือ “พฤติกรรมการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม” ดังตัวอย่างของ ธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่เล่าว่า ตนเองป่วยเป็นโรคไตเสื่อมและเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยรู้มาตั้งแต่ปี 2546 สาเหตุนั้นเกิดจากการใช้ยา“เอ็นเสด (NSAIDs)” หรือ “ยาชุด” แก้ปวดแก้เคล็ดขัดยอก และกลุ่มยาสมุนไพร เช่น ยาหม้อ ยาต้ม ยาลูกกลอน ยาจีน มาต่อเนื่องนานหลายปี
“เท่าที่จำได้คิดว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 3 ปี จนต้องฟอกไต จึงอยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำกับการดูแลร้านยาอย่างจริงจัง เนื่องจากปัจจุบันร้านยายังมีการขายยาชุดอยู่ และอยากให้ภาครัฐจัดการเรื่องการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนหลงเชื่อและซื้อมาบริโภคทำให้ส่งผลกระทบต่อการเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น” นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าว
งานครั้งนี้จัดโดยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายรวม 6 องค์กร ได้แก่ ชมรมเภสัชชนบท คณะทำงานสร้างเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลภาคประชาชน (สยส.) มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โดยข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในปี 2565 พบ 1 ใน 25 ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง กลายเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 3 จำนวน 420,212 ราย ระยะ 4 จำนวน 420,212 ราย และระยะที่ 5 ที่ต้องล้างไตมากถึง 62,386 ราย มีผลต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีรายงานปี 2565
ชี้ว่างบประมาณที่ต้องใช้ในการล้างและเปลี่ยนถ่ายไต สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สูงถึง 9,731 ล้านบาท
“โรคไตมีหลายสาเหตุแตกต่างกันในประเทศต่างๆ ประเทศพัฒนาพบอายุการทำงานของไตลดลงเมื่ออายุเพิ่มสูงขึ้นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน และการสูบบุหรี่ มีความสัมพันธ์กับโรคไตเรื้อรัง สำหรับประเทศกำลังพัฒนาพบการป่วยด้วยโรคติดเชื้อนำไปสู่โรคไตเรื้อรัง นอกจากนี้ การใช้ยาไม่ถูกต้อง การรับประทานยาชุด ยาแก้ปวดยาสมุนไพรบางชนิดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้สูญเสียการทำงานของไต” ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าว
องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้วันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม เป็นวันไตโลก ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 9 มี.ค. 2566 (หรือ 3 สัปดาห์ก่อนวันจัดงานสัมมนาครั้งนี้) โดยในปี 2566 จะเน้นการรณรงค์เรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของยากลุ่มเสี่ยง ยาเอ็นเสดยาสเตียรอยด์ งดใช้ยาชุด เพื่อลดปัญหาความเสี่ยงต่อไต ซึ่งการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล หรือ RDU (Rational Drug Use) สำคัญต่อทั้งการรักษาโรค และป้องกันโรคไตที่เกิดจากการใช้ยา
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กล่าวว่า กพย.และภาคี สนับสนุนการยกระดับการจัดการปัญหาไตวายจากการใช้ยาให้ชัดเจนขึ้น ร่วมมือกับภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน (เครือข่ายผู้ป่วย ภาคประชาสังคม เครือข่าย นพย. ชมรมเภสัชชนบท ภาคีวิชาการระดับภาค ภาคีวิชาชีพ และอื่นๆ) ร่วมเฝ้าระวัง ติดตามวิเคราะห์เชิงระบบของการขึ้นทะเบียนตำรับยา การกระจายและการใช้ยากลุ่มที่เป็นสาเหตุหลักต่อโรคไต พร้อมกับการจัดการระบบติดตามโรคไตที่มีสาเหตุจากการใช้ยาร่วมด้วย
“อยากให้พรรคการเมืองเสนอแนะนโยบายที่ชัดเจนจัดการปัญหาเรื่องยาที่กระทบโรคไต ที่รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างมากมายในการรักษาปลายเหตุ ให้ทำอย่างไรจะเป็นการป้องกันการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมจะป้องกันโรคไตที่ต้นเหตุและลดภาระงบประมาณไปได้มาก”ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี