เมนูเด็ดรับหน้าร้อน! "ลอดช่องแป้งสาคู" ละมุนนุ่มลิ้น สุดแสนอร่อย ของแท้และสดจากป่าสาคู ผืนสุดท้ายของจังหวัดตรัง ซึ่งหากินได้ยากมากแล้วในปัจจุบัน ก่อเกิดจากภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของคนในชุมชน “บ้านนาข้าวเสีย”
“ต้นสาคู” เป็นพืชจำพวกปาล์มชนิดหนึ่ง ซึ่งมีแป้งในลำต้นและนำมาผลิตเป็นสาคู โดยนำแป้งจากส่วนหัวหรือลำต้นมาใช้ประโยชน์สำหรับทำขนม แต่ปัจจุบันนี้แป้งจากต้นสาคูมักจะไม่ค่อยมีคนนิยมมากเท่าไรแล้วนัก เนื่องจากมีการนำแป้งอื่นๆ เช่น แป้งข้าวเจ้า หรือแป้งมันสำปะหลัง มาทดแทน เพราะหาง่าย และราคาถูกกว่า โดยที่แป้งของสาคูนั้นสามารถนำไปทำขนมได้หลากหลายอย่าง และต้นสาคู 1 ต้นกว่าจะได้ใช้ประโยชน์จากแป้งต้องอายุ 20-25 ปีขึ้นไป
โดยที่ “ป่าสาคู้บ้านนาข้าวเสีย” ซึ่งถือเป็นป่าสาคูผืนใหญ่ผืนสุดท้ายที่สุดของ จ.ตรัง มีต้นสาคูเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและชาวบ้านร่วมกันปลูกเพิ่มขึ้นมา อยู่ตามริมแม่น้ำ ลำคลอง หรือที่ชื้นน้ำ ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่อีกจำนวนหนึ่ง แต่บ้างก็ล้มตายไปตามกาลเวลา และยุคสมัยของการพัฒนา บ้างก็ถูกทำลายลงไปโดยโครงการของภาครัฐเช่นการขุดลอกคลอง การทำเขื่อน เป็นต้น กระทั่ง ปี พ.ศ. 2543 ชาวบ้านในพื้นที่ได้จัดตั้ง “กลุ่มผู้หญิงป่าสาคูร่วมใจ” หรือศูนย์การเรียนรู้การจัดการและการใช้ประโยชน์ป่าสาคูอย่างยั่งยืน ขึ้นมาเพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกล้ำค่าที่ขึ้นชื่อว่า “ต้นสาคู” ให้ยังคงหลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน
หนึ่งในเมนูที่ได้จากต้นสาคู คือ “ลอดช่องแป้งสาคู” โดยที่ นางละเมียด รัตนะ หรือป้าเมียด อายุ 71 ปี ประธานกลุ่มผู้หญิงสาคูรวมใจ หมู่ 7 บ้านทุ่งแกเจ้ย ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง กำลังขะมักเขม้นทำ “ลอดช่องแป้งสาคู” ตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งไว้เพื่อนำไปเลี้ยงแขกเหรื่อในงานมงคล โดยป้าเมียด ได้เริ่มจากการนำถ่านไม้ ซึ่งทำด้วยตัวเองมาใส่ในเตาอั้งโล่ ก่อนจะก่อไฟ ซึ่งในระหว่างที่รอให้ถ่านติดไฟได้ที่นั้น ป้าเมียดได้ทำการนำแป้งสาคูที่บดละเอียดแล้ว และได้จากต้นสาคูในพื้นที่ มาผสมละลายเข้ากับน้ำปูนใส ก่อนจะกรองเศษของแป้งที่ไม่ละเอียดออก และนำแป้งที่ผสมแล้วใส่หม้อขึ้นตั้งบนเตา และใช้ไม้พายคนกว่า 2 พันครั้ง หรือประมาณ 30 นาที และในระหว่างที่คนนั้นต้องหยอดน้ำปูนใสลงไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้แป้งมีความเหนียวหนืดหรือจับตัวกันมากจนเกิดไป และหากเคี่ยวนานหรือคนมากจนเกินไปก็จะทำให้แป้งไหม้ได้
เมื่อสีของแป้งเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ป้าเมียดจึงได้นำมาเทลงในหม้อพิมพ์ หรือหม้อทำตัวลอดช่อง ก่อนที่แป้งสาคูจะหยดลงมาจากรูที่อยู่ก้นของหม้อ ลงมาในภาชนะที่ใส่น้ำรองรับไว้ด้านล่างจนเกิดเป็นตัวลอดช่องขึ้นมา ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “ลอดช่อง” ถือเป็นอันเสร็จสิ้น หลังจากนั้นป้าเมียดได้ไปปั้นกะทิ เพื่อที่จะนำมาราดกินคู่กับลอดช่อง และนำหางกะทิมาใส่ในหม้อตั้งบนไฟ ผสมน้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ และใส่ใบเตยเพื่อเพิ่มความหอม ก่อนจะเคี่ยวจนกว่าจะเดือดและใส่หัวกะทิตามลงไป พร้อมนำหัวกะทิมาราดลงบนตัวลอดช่อง หรืออาจจะใส่น้ำแข็งกินคู่ไปด้วย เพื่อเพิ่มความเย็นและชุ่มฉ่ำ ถือเป็นการกินวัตถุดิบจากต้นไม้สู่ ‘ลอดช่อง’ ที่หอมหวานและแสนอร่อย รับหน้าร้อนนี้
นางละเมียด หรือป้าเมียด บอกให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นที่ป้าได้มาทำ “ลอดช่องแป้งสาคู” ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2537 เพราะป้านำแป้งข้าวเจ้า โดยการโม่แป้งเอง และนำไปทำลอดช่อง แต่ปรากฏว่าเมื่อกวนแป้งแล้ว ปรากฏว่าแป้งเหลว ไม่เป็นตัวลอดช่อง ประกอบกับในสมัยนั้นยังไม่มีแป้งสำเร็จรูป ก็เลยคิดขึ้นได้ว่าเรามีแป้งสาคูอยู่ ก็เลยนำแป้งสาคูมาทำลอดช่องดู ปรากฏว่าสามารถทำได้โดยที่เนื้อแป้งไม่เหลว และกลายเป็นตัวลอดช่องสวย และปรากฏว่าอร่อย จึ่งเริ่มต้นตั้งแต่นั้นมา จนถึงปัจจุบันนี้ นับเป็นเวลากว่า 30 ปีมาแล้ว ซึ่งเริ่มมาจากการที่เราไม่รู้และลองผิดลองถูกมา ปัจจุบันนี้แป้งสาคูสามารถใช้ทำขนมได้ทุกอย่าง พูดง่ายๆว่าสามารถใช้ทำขนมได้ทุกอย่างที่มีวัตถุดิบมาจากแป้ง แต่ขนมบางอย่างก็จำเป็นจะต้องใช้แป้งอื่นๆเข้ามาผสมด้วย เช่น แป้งข้าวเหนียว เป็นต้น
ป้าเมียด บอกต่อไปว่า จุดเด่นของแป้งสาคูคือจะมีความเหนียวมากกว่าแป้งข้าวเจ้า ซึ่งรสชาติเมื่อได้กินลอดช่องสาคูแล้ว จะให้ความรู้สึกว่าลื่นคอ และจะมีกินของสาคูออกมา ซึ่งจะแตกต่างจากแป้งข้าวเจ้า ซึ่งตอนนี้การนำแป้งสาคูมาทำลอดช่องก็ถือเป็นที่นิยม และแพร่หลายไปทั่ว เช่น จ.ตรัง และ จ.พัทลุง ซึ่งตนอาจจะบอกว่าแป้งสาคูไม่ใช่ว่าจะทำได้เฉพาะของหวาน แต่เราสามารถนำไปทำเป็นกินกับของคาวได้เหมือนกัน เช่นนำไปทำเส้นขนมจีน หรือเส้นก๋วยเตี๋ยวก็ได้เช่นกัน
ป้าเมียด ยังบอกอีกว่า เท่าที่ป้าจำความได้รู้จักสาคูมาตั้งแต่เกิด เพราะพื้นที่ ต.นาข้าวเสียแห่งนี้ จะเป็นแหล่งของต้นสาคูมาตั้งแต่อดีตนับหลายร้อยปี ป้าก็เห็นสาคูมาโดยตลอด เมื่อโตขึ้นมาป้าก็เห็นแม่ก็ทำแป้งสาคูมาแล้ว จนมาสู่รุ่นป้า เปรียบเสมือนเป็นการถ่ายทอดพันธุกรรมจากแม่สู่ลูกก็ว่าได้ ความรู้สึกที่ได้มาทำแป้งสาคูเพราะเราอยากจะนำสิ่งที่ดี สิ่งที่มีค่า เช่นต้นสาคูในชุมชน ออกมาทำให้มีคุณค่ามากที่สุด และใช้สาคูเป็นแกนกลางในการส่งเสริมอาชีพให้คนในชุมชน เช่นเสื่อจากสาคู แป้งจากสาคู ซึ่งยอมรับว่ารายได้เมื่อก่อนจากแป้งสาคูได้ดีมาก ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ชาวบ้านมีสามารถสร้างรายได้จากแป้งสาคูได้เป็นอย่างมาก มีรายได้กันรายละนับหมื่นบาทต่อวัน และเป็นหลักแสนบาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันนี้ลดน้อยถอยลด อาจจะเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดีด้วย ราคายางพาราตกต่ำ ทำให้คนไม่มีกำลังซื้อมาเท่าไรนัก
ทั้งนี้แป้งสาคูผงที่สามารถนำไปทำลอดช่อง หรือขนมต่างๆ จะขายอยู่ในราคากิโลกรัมละ 120 บาท แต่หากเป็นสาคูเม็ด จะขายอยู่ในราคากิโลกรัมละ 150 บาท และหากจะสั่งทำลอดช่องสดจากแป้งสาคู ที่พร้อมรับประทานได้ทันที จะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท พร้อมกับทำน้ำกะทิให้คู่กันไปด้วย หากใครสนใจสั่งซื้อ หรือสอบถามที่จะมาเรียนรู้ สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 086-008-0953 และ 088-292-4282 นางละเมียด รัตนะ หรือป้าเมียด ประธานกลุ่มผู้หญิงสาคูรวมใจ - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี