เมื่อสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลาย ประเทศไทยก็ Move on เต็มรูปแบบ หวังส่งเสริมการท่องเที่ยว ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ โดยเฉพาะมหาสงกรานต์ปีนี้เรียกว่าจัดใหญ่ จัดเต็ม ทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีข้อกังวลในเรื่องของผลกระทบจาก “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนเมาทะเลาะวิวาท เมาแล้วขับจนทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนการล่วงละเมิดทางเพศ
เรื่องนี้ทำให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว และแกนนำชุมชนกรุงเทพมหานาคร เดินหน้ารณรงค์ และส่งเสียงไปถึงผู้มีอำนาจ ผู้บังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้เข้มงวดในการควบคุม ป้องกันปัญหาการคุกคามทางเพศ ตลอดจนการกระทำความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ การดื่มแล้วขับ การดื่มสุราบนรถขณะอยู่บนทาง รวมถึงการทะเลาะวิวาท การละเมิดสิทธิของผู้อื่น
เรียกว่าโหมโรงกันมาตั้งแต่ต้นเดือน เดินทางไปยื่นหนังสือถึงพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 เมษายน ก็ได้ไปยื่นหนังสือถึง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ขอสงกรานต์ปลอดน้ำเมา ปลอดคุกคามทางเพศ”
เหตุผลที่เครือข่ายฯ มีการรณรงค์อย่างเข้มข้นเนื่องจากมองว่าเทศกาลสงกรานต์ถูกห้ามจัดมาหลายปีตามมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นอันเข้าใจได้ และทุกฝ่ายล้วนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่งผลให้ปัญหาดื่มแล้วขับ เมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุทางถนน มีคนบาดเจ็บ เสียชีวิตลดลง แต่ก็จะเห็นว่าในบางช่วงบางตอนที่มีการผ่อนคลายมาตรการ ยอดเมาแล้วขับ อุบัติเหตุทางถนนก็กลับพุ่งขึ้นมาอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ที่ยังพบปัญหาการลวนลาม คุกคามทางเพศอย่างโจ๋งครึ่ม
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ได้วิเคราะห์ข้อมูล จากระบบบูรณาการข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน (ข้อมูล 3 ฐาน) พบว่า ในปี 2562 ก่อนโรคโควิด-19 ระบาด อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ช่วงสงกรานต์อยู่ที่ 25.2 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน ปี 2563 ซึ่งมีโรคโควิด-19 ระบาด อุบัติเหตุลดลงมาอยู่ที่ 10.9 รายต่อแสนประชากร เนื่องจากมีคำสั่งห้ามจัดกิจกรรมสงกรานต์ ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนปี 2565 หลังการระบาดเริ่มคลี่คลาย ก็พบว่าตัวเลขอุบัติเหตุกลับมาสูงขึ้น อยู่ที่ 27.2 รายต่อแสนประชากรดังนั้นในปีนี้ หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงคาดการณ์ว่าอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนจะเพิ่มสูงขึ้น
“แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเตรียมการอย่างเต็มที่ เพราะเป็นปีแรกที่กลับสู่ภาวะปกติหลังโควิด-19 ระบาด มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งหากปล่อยปละละเลยอาจทำให้เกิดความเสี่ยงและสูญเสียเกิดขึ้นได้ สสส.และภาคีมุ่งหวังให้เทศกาลสงกรานต์ในปีนี้
ประชาชนจะมีความตระหนักในการเล่นสงกรานต์ที่ปลอดภัย โดยการดื่มไม่ขับ ไม่ดื่มสุราบนรถขณะอยู่ในทาง ไม่ทะเลาะวิวาท ใช้ความรุนแรงไม่ลวนลาม ฉวยโอกาส จึงร่วมกับกรุงเทพมหานคร ที่จะช่วยกันในการดูแลพื้นที่เล่นน้ำในหลายพื้นที่ให้ปลอดภัย ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมายและร่วมสืบสานประเพณีที่ดีงาม” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
สอดคล้องกับ นางสาวเครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ตอกย้ำว่า เมื่อดูสถิติอุบัติเหตุทางถนนจะพบว่าตัวเลขในปี 2565 จะมากกว่าปี 2564 และในปีนี้ผ่านมาแค่สามเดือนก็พบว่าตัวเลขอุบัติเหตุทางถนนจะมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 ดังนั้นสถานการณ์นอกจากจะไม่ดีขึ้นแล้วจึงมีโอกาสที่จะวิกฤตกว่าเดิม และหลังมีการระบาดของโรคโควิด-19 กว่า 3 ปีที่ผ่านมา จนถึงปีนี้สถานการณ์คลี่คลายซึ่งคาดว่า ประชาชนจะมีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และการเดินทางกลับภูมิลำเนา มีการสังสรรค์ ประกอบกับหลายหน่วยงานมีการจัดกิจกรรมสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่ ทางเครือข่ายจึงกังวลว่า หากมีการปล่อยปละละเลย โดยมองในมุมของการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก จนกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงทำให้สงกรานต์ไม่มีความปลอดภัย
ดังนั้น เพื่อเป็นการย้ำถึงจุดยืนและข้อเสนอแนะของเครือข่ายฯ ดังนี้ 1.ขอสนับสนุนนโยบาย กทม. ที่ระบุให้พื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขอให้เพิ่มการเฝ้าระวังป้องกัน ปัญหาการคุกคามทางเพศทุกรูปแบบ เพื่อสร้างความปลอดภัยกับคนทุกช่วงวัย 2.เร่งประชาสัมพันธ์ และเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับความผิดซึ่งเป็นผลมาจากการดื่มอาทิ การดื่มแล้วขับ ดื่มบนรถขณะอยู่บนทาง ทะเลาะวิวาท ตลอดจนความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รวมถึงพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย อาทิ การลวนลาม คุกคามทางเพศ3.ขอให้กำหนดจุดรับเรื่องร้องเรียน กรณีเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ มีกลไกช่วยเหลือ ระงับเหตุที่ทำได้จริง และ 4.ขอเรียกร้องต่อประชาชน นักท่องเที่ยว ให้ช่วยกันเฝ้าระวัง เมื่อพบพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เทศกิจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
“ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันรณรงค์ให้การเล่นน้ำสงกรานต์อยู่ในกรอบกฎหมาย ให้เกียรติกัน ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม คุกคามทางเพศ ที่สำคัญควรปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้คนขาดสติ มีพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมและทำผิดกฎหมาย ทั้งการดื่มแล้วขับ ดื่มสุราบนรถขณะอยู่บนทาง การทะเลาะวิวาทตลอดจนการใช้ความรุนแรง และการบังคับใช้กฎหมายต้องจริงจังเข้มข้น” นางสาวเครือมาศ กล่าว
เช่นเดียวกับข้อเสนอถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ระบุว่า มีอยู่ 3 ข้อ คือ 1.เสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บังคับใช้กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการลวนลาม คุกคามทางเพศ และความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ การทะเลาะวิวาท 2.ขอให้เร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์ประเด็นกฎหมายดังกล่าวเพื่อป้องกันการกระทำผิด และ 3.ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประสานงานให้พื้นที่เล่นน้ำปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการคุกคามทางเพศทุกรูปแบบ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยกับคนทุกวัย ทุกเพศสภาพ และกำหนดจุดรับเรื่องร้องเรียนช่วยเหลือหากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในพื้นที่เล่นน้ำอย่างชัดเจน
นางสาวอังคณา เปิดเผยข้อมูลว่า มูลนิธิฯ ได้สำรวจความเห็นประชาชนต่อเทศกาลสงกรานต์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2560 กลุ่มตัวอย่าง 1,650 คน พบว่า 28.10% เคยถูกแต๊ะอั๋ง จึงไม่อยากเล่นสงกรานต์/กลัวถูกฉวยโอกาสลวนลาม อีก 15.7% เบื่อคนเมาเหล้า สำหรับรูปแบบพฤติกรรมที่เจอคือ จับแก้ม จับมือ/
เบียดเสียด ใช้สายตามอง แทะโลมทำให้อึดอัด การถูกแซว การผิวปากและการถูกสัมผัสลูบไล้ร่างกาย ซึ่งสอดคล้องผลสำรวจในปี 2566 พบว่า กลุ่มตัวอย่าง มีประสบการณ์ถูกประแป้งที่ใบหน้าตามร่างกาย ถูกแซว/ผิวปาก ถูกฉวยโอกาสลวนลาม แต๊ะอั๋งทำให้ไม่ปลอดภัย และกลุ่มตัวอย่าง 55.6% ระบุว่าหากเกิดเหตุการณ์คุกคามทางเพศหน่วยงานแรกที่ประชาชนนึกถึงคือตำรวจ ตามมาด้วยศูนย์รับแจ้งเหตุในพื้นที่เล่นน้ำ 20.9% และ
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่ 13.4%
ทั้งนี้ ผลจากการรณรงค์เรียกร้องครั้งนี้ ถือว่าน่าพอใจ เพราะ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ลงมารับหนังสือด้วยตัวเอง แถมยังร่วมกิจกรรมปล่อยขบวนสามล้อ จักรยานยนต์รณรงค์ และรับมอบสื่อประชาสัมพันธ์ ตบท้ายด้วยการรับปากว่า “ข้อเสนอที่เครือข่ายฯมีความกังวลห่วงใยนั้น ทางกทม.จะดำเนินการให้ทุกเรื่อง” และยังกล่าวด้วยว่า กทม.มีหน้าที่ต้องทำสงกรานต์ให้เป็นสงกรานต์ที่มีความสุข มีความปลอดภัยกับทุกคน ฝั่งประชาชนเองก็ต้องช่วยกันดูแลเป็นหูเป็นตา ฝั่ง กทม.ก็มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย จึงขอให้ปีนี้เป็นสงกรานต์ที่มีความสุขกับทุกคน
นี่ถือว่าเป็นคำมั่นสัญญาที่จะทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่า สงกรานต์ปีนี้จะมีพื้นที่ให้เล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย ชุ่มฉ่ำโดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีคนเมาทะเลาะวิวาทหรือไม่ จะมีคนเมาขับรถพุ่งชนมาจากทิศทางไหนหรือไม่ คนที่เรารักที่กำลังเดินทางอยู่จะปลอดภัยจากคนเมา และตัวเราเองที่กำลังเล่นน้ำอยู่ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกคุกคาม ลวนลาม หรือหากถูกกระทำจริง ก็ยังมีหน่วยร้องทุกข์ให้พึ่งพาได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี