“โซลาร์เซลล์” พระเอกขี่ม้าขาว ยุคค่าไฟแพง แปลงแสงแดดเป็นมูลค่า
จากกระแสที่ชาวเน็ตแห่แชร์ บิลค่าไฟหลักพันต่อเดือนเหลือหลักสิบหลักร้อยบาทด้วย “โซลาร์เซลล์” ทำให้เกิดกระแสหาข้อมูลเรื่องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ พระเอกขี่ม้าขาวตัวช่วยที่ไม่เพียงประหยัดค่าไฟฟ้า แต่ยังสร้างเงินจากแสงแดดพาให้กระเป๋าตุง หรือถ้าไม่เน้นเงิน ก็อาจจะทำให้เปิดแอร์ได้ตลอดเวลากลางวันโดนไม่ต้องกังวล ท่ามกลางกระแสดังกล่าว เต็มไปด้วยคำถามมากมายเช่น โซลาร์เซลล์มีกี่แบบ? ต้องติดแบบไหน? อายุการใช้งานเป็นยังไง? กระแสว่ากันว่าลงทุนแล้วคืนทุนไวจริงหรือไม่? การบำรุงรักษามีอะไรที่ต้องกังวลหรือระวังหรือไม่? โปรดติดตามกันต่อจากนี้
“โซลาร์เซลล์ 3 แบบ” ให้เลือก
คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) “ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์” บอกว่าเริ่มแรกของผู้ที่สนใจอยากจะติดโซลาร์เซลล์ ต้องรู้ถึง “รูปแบบของระบบการติดตั้งโซลาร์เซลล์” ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 3 แบบ ที่เราจะสามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์การใช้งานและลักษณะบ้านเสียก่อน อันได้แก่
1.On Grid System (ออนกริด) ระบบโซลาร์เซลล์ที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบไฟบ้านของการไฟฟ้าโดยตรง ทั้งนี้ต้องขออนุญาตจากการไฟฟ้าด้วย ซึ่งแต่ละปีมีโควต้าจำกัดพอสมควร โดยผู้ใช้จะต่อแผงโซลาร์เซลล์และอินเวอร์เตอร์ โดยแปลงไฟฟ้ากระแสตรงจากแผงโซลาร์เซลล์เป็นไฟฟ้ากระแสสลับเพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์การไฟฟ้าได้ทันที เรียกว่า เอาแดด มาแปลงเป็นไฟฟ้า แล้วใช้ทันที ไม่ได้เก็บตุนเอาไว้ หากผลิตเกินก็ขายคืนให้การไฟฟ้าไป แต่อาจจะขายได้ในราคาที่ถูกหน่อย
2. Off Grid System (ออฟกริด) ระบบโซลาร์เซลล์ที่ไม่ต่อกับระบบไฟบ้านของการไฟฟ้า แต่เชื่อมกับตัวแบตเตอรี่และ ใช้อินเวอร์เตอร์เป็นส่วนประกอบหลังจากนั้นเพื่อแปลงไฟฟ้ากระแสตรงเป็นกระแสสลับใช้งานกับอุปกรณ์ต่างๆ ในบ้าน ซึ่งทำให้เอาไฟฟ้ามาใช้ในยามค่ำคืนที่ไม่มีแสงแดดแล้ว แต่หากแบตเตอรีมีขนาดเล็กจุไฟฟ้าได้ไม่มาก ก็จะลำบากตอนกลางคืนมากหากไฟฟ้าจากแบตเตอรีหมด
3. Hybrid System จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ โดยมีแบตเตอรีหรือไม่ก็ได้ และเชื่อมต่อเพื่อรับไฟฟ้าจากการไฟฟ้า โดยแบตเตอรี่จะเก็บกักพลังงานไฟฟ้าเอาไว้เมื่อเหลือใช้ โดยจะไม่สามารถขายไฟฟ้าคืนให้การไฟฟ้าได้ ส่วนตอนกลางคืนก็จะดึงไฟฟ้าจากแบตเตอรีมาใช้ หากไฟฟ้าจากแบตเตอรีหมดก็ใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าต่อได้เลย เป็นส่วนผสมของระบบ ‘On grid’ และ ‘Off Grid’ เข้าด้วยกันในการใช้ไฟ ซึ่งระบบนี้ช่วยให้ตอนกลางวันก็ใช้ไฟได้ ส่วนพอมืดค่ำแล้วก็เซฟหน่วยการใช้ไฟฟ้าให้ลดลง อันเป็นการลดค่าไฟฟ้าได้พอสมควร
โดยชัด ๆ แล้ว ออนกริดต้องขออนุญาตเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้า ไม่จำเป็นต้องมีแบตเตอรี เพียงแต่โควต้ามีจำกัด ส่วนออฟกริดเหมาะกับบ้านที่การไฟฟ้าเข้าไม่ถึง หรือคนที่ไม่ต้องการจ่ายค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าเลย ดังนั้นระบบที่เหมาะสมกับบ้านเราคงเป็นไฮบริดมากกว่า โดยจะมีแบตเตอรีขนาดเท่าไรก็ขึ้นกับผู้ใช้งานที่ต้องวางแผน
“เทียบง่ายๆ กรณีนี้ยกตัวอย่าง เช่น แบตเตอรี่แบบน้ำ (Flood) ที่เราใช้งานในรถยนต์ทั่วไป แบตเตอรี่ขนาด 100 แอมป์ จำนวน 2 ลูก มีความจุไฟฟ้าอยู่ที่ 2.4 กิโลวัตต์ ด้วยความจุขนาดนี้น่าจะเพียงพอที่จะใช้เปิดแอร์ขนาด 10,000 btu ที่ตั้งไว้สัก 26 องศา เป็นระยะเวลาประมาณ 5 ถึง 6 ชั่วโมง หรืออาจจะเสียเงินค่าไฟเพิ่มเล็กน้อย อย่างไรก็ตามการติดตั้งโซลาร์เซลล์และแบตเตอรีขนาดเท่าไร ต้องวางแผนคำนวณหรือปรึกษาวิศวกรผู้ชำนาญในเรื่องนี้มาช่วยวางแผน”
“5 ปีคืนทุน” และ “สร้างเงิน” ขายแดด
สำหรับในด้านต้นทุน “ชิงชัย ถนอมชาติ” กรรมการบริหาร บริษัท เจนธเมตต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำงานด้านติดตั้งโซลาร์เซลล์ และ เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้ให้ข้อมูลว่า “สนนราคาเริ่มต้นการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์เซลล์ทั้งระบบ มีตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขั้นไปจนถึงหลายแสนบาท โดยเฉลี่ยคำนวณง่าย ๆ ว่ากิโลวัตต์ละ 35,000-45,000 บาท โดยลักษณะขนาดบ้าน ก็สามารถใช้ในการคำนวณเงินลงทุนได้อย่างง่ายๆ เช่น บ้านทาว์นเฮาส์ หรือทาวน์โฮม จะใช้ประมาณ 3 กิโลวัตต์ ส่วนบ้านเดี่ยวหลังเล็กมักจะติดตั้ง 5 กิโลวัตต์ ส่วนบ้านหลังใหญ่ขึ้นมาหน่อยขนาด 60-100 ตารางวา หรือใช้ไฟ 3 เฟส ก็จะต้องใช้ 10 กิโลวัตต์ขึ้นไป เป็นต้น”
“ส่วนในเรื่องการคืนทุนนั้น บ้านขนาดปกติ หากติดตั้งแบบ On Grid เน้นผลิตไฟใช้เฉพาะกลางวันก็ช่วยประหยัดไฟได้เดือนละ 2,500-3,000 บาท ส่วนบ้านหลังใหญ่ที่ใช้แบบ 10 กิโลวัตต์ ก็จะช่วยประหยัดเงินค่าไฟได้ เดือนละ 5,000-7,000 บาท ซึ่งตรงนี้จะคำนวณได้เลยว่ากี่ปีคืนทุน”
“สมมุติราคาค่าไฟบ้านเราเดิมคือ 1,000 บาทต่อเดือน หรือปีหนึ่ง 12,000 บาท หากเราติดโซลาร์เซลล์แบบ 3 กิโลวัตต์ ราคาราว 50,000 บาท พอใช้โซลาร์เซลล์เป็นเวลา 5 ปี ก็จะคุ้มมูลค่าเท่ากับค่าไฟของเรา ดังนั้นในปีที่ 6 ก็จะเป็นช่วงคืนกำไร การใช้โซลาร์เซลล์ก็แทบไม่ต้องจ่ายเงินต่อเดือนหลังจากติดตั้งเลย ซึ่งอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์อยู่ที่ 20-30 ปีโดยประมาณ” คุณชิงชัย ถนอมชาติ สรุป
ขณะที่ ดร.ชัยพร ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีได้ให้เหตุผลเสริมต่อว่า “ข้อดีของการติดตั้งโซลาร์เซลล์ คือ ไม่เพียงประหยัดเงินในกระเป๋า แต่ยังสามารถที่จะผลิตงอกเงินจากแสงแดดได้อีกด้วย ด้วยอัตราการรับซื้อกิโลวัตต์ละ 2 บาทกว่า ที่การไฟฟ้ารับซื้อไฟจากประชาชน ทำให้ตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมในหมู่บ้านจัดสรรใหม่ๆ ที่จะทำระบบนี้ไว้ให้กับลูกบ้านไว้เลย โดยปกติการไฟฟ้าจะติดตั้งมิเตอร์ให้ 2 ตัว คือ มิเตอร์ที่เราใช้ไฟกับมิเตอร์ที่เราจ่ายไฟกลับไป ซึ่งหมู่บ้านจัดสรรใหม่ๆ จะติดตั้งและจดทะเบียนให้ด้วย ส่วนใครจะทำขายเองก็ต้องไปขออนุญาตที่การไฟฟ้าและทำเรื่องให้การไฟฟ้ารับซื้อไฟคืน ซึ่งก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีเพราะมีโควต้ารับซื้อคืนในแต่ละปีที่จำกัด”
ดูแลไม่ยากระวังแค่ “เศษฝุ่นใบไม้” กับ “เงาตกกระทบ”
พื้นฐานที่ผู้ใช้งานสามารถทำได้ในวิธีการดูแลรักษา อาจารย์ ดร.ชัยพร บอกต่อไปว่า 1.ต้องดูแลพวกเศษฝุ่นกับใบไม้ที่จะลดทอนประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์ 2.ถ้าใช้แผงโซลาร์เซลล์บางประเภทต้องระวังเงาที่พาดผ่านแผงโซลาร์เซลล์บางส่วน ข้อกำหนดสองอย่างนี้จะทำให้สามารถยืด “ประสิทธิภาพ” การใช้งานยาวนานขึ้น
“ขอควรระวังการใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่พบบ่อยก็คือแผงแตก หรือเกิดฟองอากาศ แล้วก็ดูพวกสายไฟที่ชำรุด กรอบ หรือจุดเชื่อมต่อหลวมที่อาจทำให้เกิดการอาร์คเป็นประกายไฟได้ ที่สำคัญอีกเรื่องคือแบตเตอรี่ที่ใช้โดยเฉพาะ ‘แบตเตอรี่ลิเธียม’ ซึ่งเหมือนกับแบตเตอรีของโทรศัพท์มือถือ โดยถ้าไม่ดูแลบำรุงรักษาให้ดีอาจเกิดการลัดวงจรและนำไปสู่การเกิดเพลิงไหม้ได้ นอกจากนี้พวกระบบแรงดันสูงก็ต้องระวังไม่สามารถใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าของไฟสลับมาใช้กับระบบไฟฟ้าของโซลาเซลล์ที่มีแรงดันไฟฟ้าสูงได้ เพราะอันตรายมาก รวมทั้งขั้วต่อของแบตเตอรีควรมีการป้องกันการชอร์ตระหว่างขั้วแบตเตอรีที่ดี ต้องระวังสัตว์จำพวกจิ้งจก หนู ที่จะมาเดินบนขั้วแบตเตอรี ขอฝากไว้เรื่องที่ต้องใส่ใจดูแลอีกประการด้วย” อาจารย์ชัยพร กล่าวทิ้งท้าย.-008
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี