เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงกรณีรัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษประกาศนโยบาย “swap to stop”ที่จะรณรงค์ให้ผู้สูบบุหรี่จำนวน 1 ล้านคนทั่วประเทศ เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับบริการให้คำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ ว่า นโยบายนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักในกลุ่มนักวิชาการที่ทำงานด้านควบคุมยาสูบจากทั่วโลก
เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่เป็นกลางว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ยอมรับให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการเลิกบุหรี่ นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ ในเครือสหราชอาณาจักร เช่น สกอตแลนด์ก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ รวมทั้งไอร์แลนด์เหนือและเวลส์ ก็ไม่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าหลักฐานทางการแพทย์ที่นำมาสนับสนุนนโยบายดังกล่าวนี้ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง
เช่น กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยที่นำมาอ้างมีจำนวนน้อยเกินไปและการติดตามผลยังเป็นระยะเวลาเพียงสั้นๆ ยังไม่ทราบผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ที่สำคัญการมองเรื่องการช่วยเลิกสูบบุหรี่ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่แล้ว อาจไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่จะเกิดกับเด็กและเยาวชนที่จะเป็นนักสูบหน้าใหม่เพราะบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ อังกฤษเป็นประเทศที่ประกาศสนับสนุนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าอย่างชัดเจน แต่ผลที่เกิดขึ้นคือสัดส่วนผู้ใหญ่ที่เลิกสูบบุหรี่ธรรมดากลับมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนเด็กและเยาวชนอังกฤษที่เข้ามาติดบุหรี่ไฟฟ้า
โดยจากข้อมูลการสำรวจเยาวชนอายุ 16-19 ปี จำนวน 104,467 คน โดยโครงการประเมินผลนโยบายควบคุมยาสูบระหว่างประเทศ ระหว่างปี 2560-2565 พบเยาวชนอังกฤษติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มถึง 3 เท่า จากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 24 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยสถานการณ์แย่ลงตั้งแต่ปี 2564
ถึงปัจจุบัน ที่อัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนอังกฤษเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว จากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 24 ในขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ธรรมดาในผู้ใหญ่ลดลงเพียงเล็กน้อยคือร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 13.3
“ข้ออ้างที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% เป็นข้ออ้างที่ถูกปฏิเสธจากแวดวงวิชาการควบคุมยาสูบ เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงแค่การประมาณค่าจากคนกลุ่มเล็กๆ เพียง 12 คน ที่ไม่ได้ระบุว่ามีความเชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบ และบางคนในกลุ่มนี้เคยได้รับเงินสนับสนุนทุนวิจัยจากบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าหรือบริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่ขายบุหรี่ไฟฟ้า ซ้ำรายงานนี้ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้ายังมีน้อยมาก ตรงข้ามกับในปัจจุบันที่มีข้อมูลต่างๆ ออกมามากมายที่สนับสนุนว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพเทียบเท่าหรืออาจจะมากกว่าบุหรี่มวนด้วยซ้ำ” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า สภาพการควบคุมยาสูบของอังกฤษต่างจากไทยอย่างสิ้นเชิง ทั้งเรื่องงบประมาณที่อังกฤษทุ่มเทกับการควบคุมยาสูบมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยคิดเป็นงบประมาณต่อหัวผู้สูบบุหรี่สูงกว่าไทยถึง 80 เท่า รวมทั้งการมีนโยบายควบคุมยาสูบที่เข้มแข็ง เช่น มาตรการภาษียาสูบ การบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ ที่มีประสิทธิภาพกว่าไทย
หรือกรณีที่อังกฤษมีมาตรการอื่นๆ อีกมากมายที่ไทยยังไม่มี เช่น การให้สิทธิประโยชน์เรื่องยารักษาการเลิกสูบบุหรี่ในระบบประกันสุขภาพ การลงสัตยาบันในพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้ายาสูบผิดกฎหมาย การมีข้อบังคับเพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบจากกลุ่มธุรกิจยาสูบ และการออกกฎหมายควบคุมส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ยาสูบ
“การที่นักการเมืองที่กำลังใช้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้ามาหาเสียง คงต้องคิดให้รอบคอบและควรหันมาสนใจพัฒนามาตรการควบคุมยาสูบอื่นๆ ของไทยให้ดีอย่างประเทศอังกฤษเสียก่อน โดยหากพื้นฐานการควบคุมยาสูบของประเทศเรายังไม่พร้อม การนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาอีกจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์การสูบบุหรี่ในประเทศโดยเฉพาะจะยิ่งเป็นการเพิ่มนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี