“ถ่างผิง (Tang Ping)”, “ซาโตริ (Satori)”, “เดอะ เกรท รีซิกเนชั่น (The Great Resignation)”แม้จะต่างกันด้วยภาษา คือ จีน ญี่ปุ่น และอังกฤษตามลำดับ แต่ความหมายนั้นคล้ายกันคือ “การที่บุคคลเลิกมุ่งมั่นขยันหมั่นเพียรไล่ตามความฝัน แต่เลือกทำงานและใช้ชีวิตพอให้อยู่ไปวันๆ ไม่วางเป้าหมายระยะยาว” ซึ่งกระแสนี้ถูกพูดถึงมากในปัจจุบันไม่ว่าโลกตะวันออกหรือตะวันตก โดยเฉพาะกับ “คนรุ่นใหม่-เจนแซด (Generation Z)” หมายถึงคนที่เกิดในช่วงปี 2540-2555 (หรือบางแห่งก็หมายถึงเกิดปี 2538-2553) ที่พบการใช้ชีวิตลักษณะนี้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ที่ “หมดอาลัยตายอยาก”ข้างต้น มีความพยายามอธิบายกันมากว่า “เพราะยุคสมัยปัจจุบันที่พวกเขาอยู่นั้นมองไม่เห็นอนาคต” ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้นและค่าครองชีพที่แพงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ ทำให้อย่าว่าแต่เก็บหอมรอบริบสร้างเนื้อสร้างตัวแบบคนรุ่นพ่อแม่ ลำพังจะเอาตัวรอดให้พ้นแต่ละวันก็ยากแล้ว ซึ่งเมื่อหันกลับมามองประเทศไทย ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ก็ดูจะเป็นแบบเดียวกัน
ดังเรื่องเล่าจากนักวิชาการและคนทำงานกับคนรุ่นใหม่ ในวงเสวนา “Lost & Found: ตามหาความฝันที่หล่นหายของคน GEN Z” จัดโดย The MATTER และ The Active เมื่อเร็วๆ นี้ เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง 4 ปัจจัยที่ “กินฝัน”
ของผู้คน คือ 1.โลกหมุนเร็วขึ้น ในอดีตกาลเมื่อกระแสโลกเจะปลี่ยนแปลงมักใช้เวลา 50-80 ปี แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนทุกๆ 5 ปี ซึ่งความพร้อมที่จะไปข้างหน้าของแต่ละพื้นที่นั้นไม่เท่ากัน ทำให้ผู้ที่ต้องการแสวงหาโอกาสก็ต้องเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ที่พร้อมก่อน ก็เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
2.เศรษฐกิจโตแต่การจ้างงานกลับลดลง ภาคธุรกิจเห็นว่าคนเป็นต้นทุนคงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จึงปรับโครงสร้างโดยลดจำนวนคนทำงาน 3.ผลกระทบจากค่าครองชีพเร็วขึ้น ในอดีตใช้เวลา 10 ปี กว่าค่าครองชีพจะมีผลกระทบกับชีวิตคน แต่ปัจจุบันผู้คนรู้สึกถึงผลกระทบเร็วขึ้น เทียบกันเพียงต้นปีกับปลายปีชีวิตตนเองอาจแตกต่างกันแบบหน้ามือเป็นหลังมือ และ 4.ทักษะที่จำเป็นเปลี่ยนเร็วจนปรับตัวไม่ทัน ในอดีตทักษะที่เรียนรู้อาจใช้ได้ถึง 10 ปี แต่ปัจจุบันอยู่ได้ไม่ถึง 5 ปี หมายถึงสิ่งที่คนได้เรียนในเวลานี้ พอถึงวันจบการศึกษาก็อาจจะใช้การไม่ได้แล้ว
“นี่คือลักษณะของโลกที่จะเจอ ตัวกินฝันพวกนี้มันจะเขย่าเขาแรงมาก แล้วถ้าใครที่กำไม่แน่นความฝันมันก็จะตกไประหว่างทาง แล้วมันจะกลายเป็นชีวิตที่ไร้ความหมาย เป็นชีวิตที่หันไปทางไหนก็ยังนึกไม่ออก ดังนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องที่คนตัวเล็กๆ แก้ปัญหาไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่ต้องแก้เชิงโครงสร้าง” อาจารย์เกียรติอนันต์ กล่าว
วรดร เลิศรัตน์ นักวิจัยนโยบายสาธารณะ 101PUB สะท้อนปัญหา “โอกาสในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย” เมื่อแหล่งงานเข้ามากระจุกตัวในเมืองใหญ่ สำหรับคนที่อยู่ไกลจากแหล่งงาน-ไกลจากแหล่งบริการสาธารณะ ชีวิตก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนการเดินทางที่สูงไม่ว่าในแง่ค่าใช้จ่ายหรือเวลา แต่คนที่อยู่ใกล้แหล่งงานก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้น และหากความฝันเรื่องที่อยู่อาศัยยังดูเลื่อนลอย โอกาสที่จะเอื้อมถึงฝันในเรื่องอื่นๆ ก็เป็นไปได้ยาก
“กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เคยตั้งเกณฑ์ระดับค่าใช้จ่ายเรื่องบ้าน มันไม่ควรจะเกิน 15-20% ของรายได้ครัวเรือน แต่จริงๆ ทุกวันนี้ระดับค่าใช้จ่ายเรื่องบ้านในกรุงเทพฯ มันสูงเกินไปสำหรับครัวเรือนมากถึง 80% ส่วนหนึ่งคือค่าใช้จ่ายเรื่องบ้านมันโตเร็วกว่าค่าจ้างมาก ถ้าเราดูข้อมูลย้อนหลังไปประมาณ 8 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นบ้านในกรุงเทพฯ ราคาขึ้นประมาณ 27-62% สวนทางกับค่าจ้างแรงงานที่ลดลง 6% ในสถานการณ์แบบนี้มันทำให้คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะเข้าถึงบ้านได้ยากขึ้นเรื่อยๆ” วรดร ยกตัวอย่าง
ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงคำว่า “เจเนอเรชั่นเคว้ง” โดยหากมองย้อนไปเมื่อตนเองยังมีอายุเท่ากับคนเจนแซดในปัจจุบัน อันหมายถึงช่วงวัยเลข 2 ที่เพิ่งเรียนจบและกำลังหางานทำ จำได้ว่าก็เคว้งอยู่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้ความรู้สึกเคว้งของคนหนุ่ม-สาววัยดังกล่าวในยุคปัจจุบันดู Significant (มีนัยสำคัญ) สาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอกเปลี่ยนแปลงไปมาก
เช่น “ในอดีตสังคมมีความเชื่อมโยงช่วยเหลือกันระหว่างคนในชุมชน แต่ปัจจุบันด้วยปัจจัยไม่ว่าสังคมหรือเศรษฐกิจได้ทำให้คนอยู่กันอย่างแยกตัว โอกาสที่จะเกิดการสนับสนุนทางจิตใจซึ่งกันและกัน อันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งแต่ก่อนเคยมีแต่ยุคนี้ดูจะน้อยลง” แต่คนก็ต้องการหาทางออกให้กับสภาพจิตใจ หากหาได้ก็ดีไป แต่หากหาไม่ได้ปัญหาทางจิตใจก็จะยิ่งมากขึ้น ดังจะเห็นจากสถิติภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น ซึ่งในฐานะนักจิตวิทยา ก็ได้เห็นสถิติของคนวัยเรียนและวัยเพิ่งเริ่มทำงานกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงในเรื่องนี้
“อย่างเรารู้สึกว่าเป็นช่วงอายุที่เขากำลังเริ่มต้น แต่หากมองในแง่เศรษฐกิจ-สังคม มันเป็นการสูญเสียกลุ่มประชากรที่น่าเสียใจมากเลยนะ เพราะกว่าเขาจะเติบโตมาขนาดนี้เขาจะเป็นพลัง เป็นแรง ดังนั้นปัญหาทางจิตใจที่เขาเจอทั้งในระดับบุคคลที่มันเป็นโจทย์ของเจเนอเรชั่นนี้อยู่แล้ว ปัญหาที่มันเกิดจากการกดทับของสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เขาไม่สามารถหาทางออกได้ เราเหมือนจะมองว่ามันเป็นปัญหาส่วนตัว แต่ความจริงมันมีมวลมากพอสมควรที่เราควรจะต้องดู” ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าว
ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ บรรณาธิการบริหาร Mutual กล่าวว่า ปัญหาของคนเจนแซด สะท้อนผ่าน 4 ตัวอักษรในภาษาอังกฤษ ประกอบด้วย “L-Lonely” ความโดดเดี่ยวจากการเผชิญการแข่งขันตั้งแต่เด็ก อายุ 4-5 ขวบ อยู่อนุบาลก็ต้องกวดวิชาสอบเข้ากันแล้ว ส่งผลกระทบกับสภาพจิตใจไม่มากก็น้อย “O-Overload” การแบกรับที่หนักหน่วง ทั้งความฝันของพ่อแม่ที่สมัยยังหนุ่ม-สาวต้องเน้นทำมาหากิน ส่วนความฝันก็เก็บไว้ก่อน แล้วก็เอาความฝันนั้นไปลงกับลูก ให้ลูกสานต่อทั้งที่ลูกอาจไม่อยากทำ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแบกความฝันของตนเองด้วย
“S-Suffer” ความทุกข์ทรมาน สะท้อนผ่านสถิติปัญหาสุขภาพจิต เช่น ประชากรอายุ 15-24 ปี เผชิญกับภาวะซึมเศร้า ในขณะที่จิตแพทย์ 1 คนต้องดูแลประชากรถึง 1 แสนคนดังนั้นแม้จะเป็นครัวเรือนที่มีเงินก็ใช่ว่าจะเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้โดยง่าย แน่นอนครัวเรือนฐานะไม่ดีก็ยิ่งเข้าไม่ถึง และ “T-Target” จากสภาพที่เผชิญกับ 3 ข้อข้างต้น เรี่ยวแรงก็แทบจะไม่มีเหลือไปค้นหาเป้าหมายแล้ว
“แค่ตื่นเช้ามาฉันจะไปทำงานอย่างไรให้ทัน ในเมื่อคนรุ่นใหม่ คนเริ่มทำงานไม่ได้มีคอนโดฯ ไม่ได้มีบ้านติดรถไฟฟ้ากันทุกคน วันที่ฝนตกน้ำท่วม ฉันจะสามารถกลับถึงบ้านอย่างไม่ตกหลุมตกท่อ ไม่ตกค้างในสถานีรถไฟฟ้าหรือเปล่า? แค่นี้ก็เยอะอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงระยะยาวเลย” ทิพย์พิมล กล่าว
หมายเหตุ : สำหรับงานเสวนา “Lost & Found: ตามหาความฝันที่หล่นหายของคน GEN Z”ยังมีช่วงแสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาของคนเจนแซด โดยตัวแทน 4 พรรคการเมือง คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคก้าวไกล และพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งจะได้นำมาเสนอต่อไปเร็วๆ นี้!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี