“นายมนตรี ตั้งไมตรีจิต” เจ้าของสวนทุเรียน “ประตูจันท์” ใช้พื้นที่ 37-38 ไร่ ในอำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี ซึ่งบริเวณสวนทุเรียนที่ชื่อประตูจันท์นี้ มีความเรื่องราวสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์ชาติไทยว่าเคยเป็นพื้นที่ที่พระเจ้าตากสินมหาราชใช้เป็นสนามรบ เพื่อกอบกู้เอกราชกลับคืนมาเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.2310 โดยประวัติศาสตร์ตรงนี้เป็นแรงบันดาลใจให้นายมนตรีตั้งชื่อสวนทุเรียนของเขาว่า “ประตูจันท์” โดยปลูกต้นทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์กว่า 100 สายพันธุ์ จำนวนกว่า 1,000 ต้น และ เมื่อปลายปี 2565 นายมนตรีได้คิดค้นทุเรียนพันธุ์ใหม่ “ไฟว์อินวัน” สำเร็จ โดยเป็นทุเรียนที่จะให้ผลทุเรียนหนึ่งลูก ที่มาจาก 5 พ่อพันธุ์ และ ผสมกับ 1 แม่พันธุ์ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าทุเรียนไทยทั้งในตลาดไทยและส่งออกไปตลาดโลก
“ทุเรียนไฟว์อินวัน คือ ทุเรียนหนึ่งผล ห้าสายพันธุ์พ่อ บวกหนึ่งสายพันธุ์แม่ เป็นทุเรียนที่ได้มาด้วยวิธี หนึ่งผล ห้าสายพันธุ์ โดยแรงบันดาลใจเกิดจากการที่เราทำทุเรียนหนึ่งคู่ผสมแล้วได้ความหลากหลายระดับหนึ่ง เราก็มานั่งสงสัยว่า ทุเรียนหนึ่งผลจะทำอย่างไรให้แก่ไม่พร้อมกันก็เผอิญเจอกับอาจารย์ไก่ (รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ก็ถามอาจารย์ไก่ว่า ทุเรียนที่มันแก่ไม่พร้อมกันในหนึ่งผล มันเกิดจากอะไร มันเกิดจากพ่อคนละสายพันธุ์ หรือเกิดจากการผสมคนละครั้ง อาจารย์ไก่ก็บอกว่า อย่างนั้นไม่ยาก ถ้างั้นก็ทำหนึ่งพลู หนึ่งสายพันธุ์ ก็เป็นที่มาของไฟว์อินวัน ซึ่งไฟว์อินวันพอให้ผลผลิตแล้ว ทำให้ตรวจสอบเพื่อเช็คว่า ทุเรียนแต่ละพลู ถ้าเราใช้คนละพ่อมาผสม ลูกจะเป็นยังไง เพราะทุเรียนเขามี 5 พลู นานๆ จะมี 6 พลูสักครั้งหนึ่ง ทั่วไปก็จะมี 5 พลู เพราะฉะนั้น 1 พลู มี 1 พ่อ พอทำไฟว์อินวันก็สนุกๆ ทำให้รู้ว่ามันเป็นยังไง เพราะจริงๆแล้วก่อนทำ มันมีการเอาเกสรไปย้อมสี พอย้อมสีก็รู้เลยว่าแต่ละพลูมันจะมีเยื่อบางๆกั้น ก็หมายความว่า ถ้าเราเอาเกสรตัวผู้ไปป้าย ให้มันตรงล๊อกของมัน มันจะไม่หลุดไปพลูอื่น ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือค่อนข้างลำบาก เป็นเทคนิคของอาจารย์ที่มาทำให้เรา แล้วก็ทำให้ทุเรียนออกผลดีขึ้น อย่างปีที่แล้ว อาจารย์ไก่ทำออกมาทรงผลทุเรียนสวย ปีนี้ผมทำเองทรงผลทุเรียนไม่สวยเท่าไหร่” นายมนตรีเล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง
นายมนตรีเล่าต่ออีกว่า ทุเรียนไฟว์อินวันได้ต่อยอดขยายความรู้ในการทำ “ทุเรียนแด๊ป” (DAP) ซึ่งทุเรียนแด๊ป เคยทำเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และ ต่อมาพอมาเจอกับอาจารย์วรภัทร์ หรือ อาจารย์ไก่ก็ได้มาแนะนำ ให้ทำพันธุ์หนึ่งแม่กับห้าพ่อ หรือ “ไฟว์อินวัน” โดยพันธุ์นี้ทางนายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย เรียกว่า “เดชบิดร” เพราะวิธีการคือ สามารถนำพ่อพันธุ์ทุเรียนที่เป็นกบพิกุล,กบสุวรรณ,จันทบุรี 1 , พวงมณี, ชะนี มาผสมได้ แต่ขึ้นอยู่กับวันที่ดอกหมอนทองบาน คือ หมอนทองเป็นตัวแม่ และในวันที่ดอกของตัวแม่บานนั้น พันธุ์ทุเรียนที่จะมาเป็นพ่อมีอะไรให้เราเลือกบ้าง เพราะบางครั้งเราคิดว่าได้ แต่ดอกไม่บานให้เราคิด ก็ผสมไม่ได้ นี่คือวิธีการทำไฟว์อินวัน พอทำไฟว์อินวันขึ้นมา ก็ทำให้การทำทุเรียนแด๊ปขยายออกไปสู่การรู้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และ การตอบโจทย์ในเรื่องที่สามารถทำให้ทุเรียนแต่ละพลูสุกไม่เท่ากันผ่านองค์ความรู้เหล่านี้ขึ้นมา
“ชาวสวนดั้งเดิมเรียกวิธีการแด๊ปว่าวิธีการผ่าดอก คือ เขาทำเพื่อให้ดอกติดกันเฉยๆ จะนิยมผ่าดอกในพันธุ์ชะนี และไม่ทำในหมอนทอง เพราะหมอนทอง ไม่ผ่าดอกก็ติดดอกง่าย ส่วนพันธุ์ชะนีติดดอกยาก เขาก็จะเอาเกสร พ่อหมอนทอง มาป้ายชะนี เพื่อให้ชะนีติดง่าย สมัยก่อนมีอาชีพรับจ้างผ่าดอก ดอกละ 6 สลึงโดยวิธีการผ่าดอก เราก็นำมาเรียกใหม่เป็นภาษาอังกฤษว่า แด๊ป เพื่อให้ทุเรียนมันติดดอกง่ายขึ้น เพราะปัญหาทุเรียนคือออกดอกแต่ไม่ติด พอผ่าดอกแล้วมันติดดอก 80-100%” นายมนตรีกล่าว
สำหรับ “ทุเรียนไฟว์อินวัน” แตกต่างชัดเจนจากทุเรียนสายพันธุ์ดั้งเดิม อย่าง ชะนี หมอนทอง กบสุวรรณ พวงมณี และ ฯ คือ สีของทุเรียนจะมีสีเหลืองเข้ม สีจัดจ้านกว่าทุเรียนสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่
นายมนตรีมีดีกรีจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านกีฎะวิทยา หรือ ด้านแมลง ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ปัจจุบันได้รับเลือกให้เป็น “นายกสมาคมนิสิตเก่าคณะเกษตรกำแพงแสน” จังหวัดนครปฐม ซึ่งผลงานการเป็นผู้เชี่ยวชาญจนถึงขั้นอยู่ในระดับนักวิจัยทุเรียนในการคิดค้นพันธุ์ใหม่ๆขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมของเขานั้น ไม่ได้มีเพียงไฟว์อินวัน แต่องค์ความรู้ด้านการเกษตร และ ความรักในทุเรียนเป็นชีวิตจิตใจทำให้เขาคิดค้นทุเรียนพันธุ์ “ประตูจันท์” มาก่อน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสวนทุเรียนประตูจันท์ ความริเริ่มอย่างไม่หยุดยั้งทำให้นายมนตรีสามารถต่อยอดองค์ความรู้จากพันธุ์ประตูจันท์ มาสู่ทุเรียนแด๊ป และ ไฟว์อินวัน โดยในที่สุดปัจจุบันองค์ความรู้ที่ได้ ถูกนำมาใช้กลับไปกลับมา จนกระทั่งตอบโจทย์การรู้พันธุ์พ่อพันธุ์แม่ของทุเรียนในแต่ละพลูได้ สิ่งเหล่านี้นับเป็นความรู้ที่ไม่ได้มาง่ายๆ แต่ต้องใช้เวลา และ เรียนรู้ศึกษาอย่างจริงจังทั้งสิ้น
“ทุเรียนพันธุ์ประตูจันท์เกิดจากผมเอาเม็ดทุเรียนมาปลูก โดยเริ่มแรกผมปลูก 20 ต้น ปรากฏปลูกไปว่า 19 ต้น ใช้ไม่ได้เลย มีต้นเดียวที่พอดูได้ เลยมาตั้งชื่อใหม่ ชื่อ พันธุ์ “ประตูจันท์” ซึ่งยังไม่ได้รับรองพันธุ์ เพราะว่าต้องรอให้มันอร่อย แต่เท่าที่ชิมมา 3-4 ปี ใช้คำว่าอร่อยได้ แต่เปลือกยังหนา ก็มาคิดว่า พันธุ์ประตูจันท์ที่ได้ยังไม่ใช่ตัวจริง จึงเป็นที่มาของการพัฒนาทุเรียนแดป คือ ทุเรียนที่เรารู้ที่มาที่ไป คือ เรารู้พ่อรู้แม่เขา แต่อันนี้ไม่รู้พ่อรู้แม่ ปลูกมาก็ต้องมาลุ้น แต่ถ้าเรารู้ว่า เรากลัวทุเรียนเปลือกบาง เราก็ต้องมาดูทุเรียนคุณภาพที่ดี” นายมนตรีเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปกว่าจะมาเป็นองค์ความรู้ในการพัฒนาพันธุ์ทุเรียนใหม่ๆขึ้นมา
ในอนาคตนายมนตรีทิ้งท้ายว่า กำลังพัฒนาพื้นที่ 37-38 ไร่เป็นเกษตรท่องเที่ยวครบวงจร เพราะ “ประตูจันท์” เป็นจุดที่ไม่ไกลถนนใหญ่ เวลาเพื่อนๆอยากจะมาเที่ยวจันท์ก็แวะ และ ปัจจุบันมีที่พักสำหรับลูกค้าที่หาที่พักไม่ได้ หรือ อยากมากินทุเรียนบุฟเฟ่ต์ในสวนก็มีที่พักไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการค้างคืน
สำหรับท่านใดที่ต้องการเรียนรู้การทำทุเรียน และ แวะชิม แวะช๊อปไปด้วย ก็สามารถไปได้ที่สวนทุเรียน “ประตูจันท์” อยู่ในอำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี