“เศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2” นับว่าหืดจับอยู่ไม่น้อย เพราะเพิ่งผ่านฤดูกาลเลือกตั้งมาหมาดๆ และ กว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จก็จะต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 3 เดือน นั่นหมายความว่าในช่วงไตรมาส 2 นี้ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันจัดงานกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในรายไตรมาส โดยไม่ให้เศรษฐกิจภาพรวมทั้งปีได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกมากนัก เช่น ภาวะสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งมีผลต่อราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่จะต้องอยู่คู่กับชาวโลกไปเฉกเช่นโรคไข้หวัดใหญ่
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมชิมลางงาน “DIPROM Smart Market”
มาดูกันที่งานแรก “กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม” กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดงานแสดงสินค้างานใหญ่อีกหนึ่งงานโดยใช้ชื่อว่า “DIPROM Smart Market” ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวสต์เกต จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งนำทัพโดย นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำผู้ประกอบการ 50 ราย มาออกบู๊ธแสดงสินค้าชิมลางตลาดในประเทศว่าทิศทางการตอบรับของผู้บริโภคนั้นจะเป็นอย่างไร เพื่อวางแผนการพัฒนาสินค้าต่อยอดไปยังต่างประเทศได้อย่างถูกทาง โดยภายในงานยังมีเวทีเสวนาหัวข้อ “ปรับตัวอย่างไร ให้มีชัย ด้วยกลไก Smart Marketing” มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, นายสุฤกษ์ ศิลปะอนันต์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดฉะเชิงเทรา , นางสาวธีรดา ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์การตลาด ท็อปส์ ท้องถิ่น บริษัทเซ็นทรัล ฟู้ดส์ รีเทล จำกัด (CRC) , นายเตช เตชะพัฒน์สิริ ผู้บริหาร บจก.ไตรภพ โซลูชั่น ผู้เชี่ยวชาญตลาดสมัยใหม่ และ นายอาคม วงดิศกุล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
ภายในงานนี้มีความน่าสนใจตรงที่ นางสาวธีรดา ศิริพันธุ์ ผู้อำนวการด้านกลยุทธ์การตลาด ท็อปส์ ท้องถิ่น (CRC) ได้มาลงพื้นที่ดูสินค้าในแต่ละบู๊ธ เพื่อทำการคัดเลือกสินค้าที่น่าสนใจไปวางจำหน่ายในท๊อป โดยสินค้าที่ท๊อปส์สนใจคือ อาหารแปรรูป เช่น แอปเปิ้ล ไซเดอร์ ที่อยู่บรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยสามารถวางจำหน่ายบนซูปเปอร์มาร์เก็ต และ โดนใจลูกค้าชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในเมืองไทย
เช่นเดียวกับนายสุฤกษ์ ศิลปะอนันต์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป ยังเป็นดาวเด่นของประเทศไทย เมื่อนำสินค้าเหล่านี้ไปออกงานแสดงสินค้าทั้งในไทยและต่างประเทศก็จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ
ผู้ประกอบการตบเท้า ชูสินค้าท้องถิ่นขายความเป็นไทย
จุดเด่นของสินค้าที่มาออกงานแสดงสินค้า “DIPROM Smart Market” มีความโดดเด่นทั้งในด้านการเป็นสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีเรื่องราว (story) ซึ่งเรียกความสนใจกับผู้ที่มาเดินชมงาน อาทิ ผลิตภัณฑ์ของ “รักเร่ ณ หนองย่างเสือ” โดยนายสิทธิชัย สำเภาพล ประธานวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองย่างเสือ จังหวัดสระบุรี ผู้ผลิตและทำตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแปรรูปที่ทำจากหมากเม่าอินเดีย ออกมาในรูปแบบกาแฟ และโกโก้ พร้อมดื่ม
รวมทั้งยังมีผ้าท้องถิ่นของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ โดยนางสาวสุพัตรา แสงกองมี หรือ แยม อายุ 26 ปี บัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่นำผ้าพื้นเมืองภายใต้แบรนด์ “กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ” มาพัฒนาเปลี่ยนแบรนด์ใหม่ (rebrand) เป็น “ดารานาคี” โดยเน้นจุดเด่นการนำภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำโคลนลุ่มแม่น้ำโขงมาทำให้ผ้านุ่ม ผสมกับเทคนิคการย้อมสีผ้าด้วยเปลือกไม้ชนิดต่างๆ และ ต่อยอดด้วยการดีไซน์ที่ทันสมัย ทำให้ผ้าแบรนด์ “ดารานาคี” ได้รับการตอบรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“แยมเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ จ.บึงกาฬ โดยดารานาคีนั้น ใช้คำว่าดาราซึ่งมาจากชื่อคุณพ่อ ส่วนคำว่า นาคี มาจากโคลนแม่น้ำโขง และ สีของผ้าที่ต่างกันมาจากเปลือกไม้ เช่น สีน้ำตาลมาจากต้นชมพู่ป่า สีของผ้าแต่ละผืนเกิดจากเปลือกไม้ แต่โคลนแม่น้ำโขงทำให้ผ้านุ่ม ซึ่งการพัฒนาต่อยอด จริงๆแล้ว เราทำผ้าขาวม้า แต่ต่อมาปรับเปลี่ยนเป็นดีไซน์ของชุมชน โดยผ้าของดารานาคีแต่ละชิ้นที่ราคาเริ่มต้นที่ 990-3,5000 บาท รวมทั้งยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น พวกกุญแจ เริ่มต้นที่ราคา 50 บาท” นางสาวสุพัตราเล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง
ทายาทรุ่นที่ 3 ของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ในกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ มีคุณแม่สมพร แสงกองมี เป็นผู้นำชาวบ้านมาทอผ้าใช้ โดยใช้กี่ทอผ้าทั้งหมด 70 กี่ หรือ 70 คน ในงานทอผ้า และ ทำให้ในกลุ่มทอผ้ามีรายได้เฉลี่ย 15,000 บาทต่อคน
โมเดล BCG เป็นต้นแบบ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2
โมเดล “BCG” เป็นภาพใหญ่ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นนโยบายภาพรวมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับมหภาค แต่ในทางปฏิบัติพบว่า โมเดล BCG นั้น สามารถนำมาต่อยอดในการแยกเป็นหัวข้อย่อยที่เรียกว่า ซอฟท์ เพาเวอร์ (soft power) อย่างที่ยกตัวอย่างสินค้าของรักเร่ ณ หนองย่างเสือ จ.สระบุรี และ ผ้าหมักโคลนแม่น้ำโขงภายใต้แบรนด์ “ดารานาคี”
นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวถึงโมเดล BCG ว่า เป็นศาสตร์แห่งการบูรณาการด้านเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยใช้องค์ความรู้ด้ายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ นวัตกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่ภาคเกษตรกรรมที่เป็นต้นน้ำ จนถึงภาคการผลิตและบริการ รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจให้มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
ขณะที่ ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวในฐานะเป็นประธานการประชุมเผยแพร่ผลการศึกษา “โครงการบูรณาการเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาสถิติทางการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ในประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีข้อมูลที่สำคัญคือ ระดับประเทศพบว่า ภาพรวมมูลค่าเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทยปรับลดลง จาก 3.5 ล้านล้านบาท ในปี 2561 เหลือ 2.6 ล้านล้านบาท ในปี 2564 แต่คนไทยมีฐานะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยพิจารณารายได้ต่อหัวสูงกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐต่อปี และพบว่าความเหลื่อมล้ำลดลงในช่วงปี 2562-2564 รวมทั้งพบว่าเพียงปีเดียวมีผู้ได้รับการพัฒนาทักษะ BCG สะสมกว่า 600,000 คน นับตั้งแต่ปี 2564-2565 รวมทั้งยังพบประเด็นที่ดำเนินการต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งจำเป็นต้องเร่งพัฒนาในปี 2566 เป็นต้นไป ได้แก่ การลดใช้ทรัพยากร, การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ และ การลดการนำเข้าเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพ
ส่วนระดับจังหวัด โดยเฉพาะ 2 จังหวัดนำร่องโมเดลเศรษฐกิจ BCG พบว่า จังหวัดจันทบุรีมีสัดส่วนของเศรษฐกิจ BCG สูงถึง 60% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GDP : Gross Provincial Product) และ ในจังหวัดราชบุรีมีสัดส่วนของเศรษฐกิจ BCG ประมาณ 30% ของGDP แต่มีประเด็นที่ต้องพัฒนาเพิ่ม ได้แก่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ การใช้ทรัพยากรน้ำ
“สินค้าเกษตร” หัวหอกโมเดลเศรษฐกิจ BCG
สำนักงานสถิติแห่งชาติยังเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสินค้าเกษตรว่า จังหวัดจันทบุรีมีสินค้าเกษตรที่สร้างรายได้สูงให้กับคนในจังหวัด ได้แก่ ทุเรียน, มังคุด และ กุ้งขาว โดยทุเรียนมีสัดส่วนของรายได้ 70% ของจีดีพี ภาคเกษตร ขณะที่จังหวัดราชบุรีมีสินค้าเกษตรที่โดดเด่น ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม, ทุเรียน, มันสำปะหลัง, สุกร และ กุ้งก้ามกราม โดยมีความท้าทายที่สำคัญ คือ สินค้าเกษตรเหล่านี้ยังต้องพึ่งพาตลาดส่งออก โดยเฉพาะประเทศจีน ที่ยังมีความผันผวนด้านราคาซื้อขาย เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับตลาดยางพารา
รวมทั้งประเด็นการบริการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ หรือ ซีโร่ เวสต์ (Zero Waste) ซึ่งในทุเรียนผลสดหนึ่งลูกมีสัดส่วนของเปลือก 75% ที่จะกลายเป็นขยะจำนวนมาก รวมถึงการบริหารจัดการน้ำภาคเกษตรเพื่อป้องกันการแย่งชิงน้ำในช่วงฤดูแล้ง
ทั้งนี้ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” เป็นโครงการที่ตั้งขึ้นตามมติคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมอบหมายให้สำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่ติดตามข้อมูลและผลการดำเนินงานดังกล่าว ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติจึงร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินโครงการเพื่อจัดทำ (ร่าง) บัญชีสถิติทางการประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ ที่ 13
เพราะฉะนั้น ในระหว่างรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังต้องเดินหน้าต่อไป ทำให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG กลายเป็น “ม้าขาว” ที่มาทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไตรมาส 2 ให้ขับเคลื่อน ในห้วงเวลาที่บ้านเมืองต้องส่งไม้ต่อด้านการบริหารการปกครองไปยังรัฐบาลใหม่ ซึ่งในระยะเวลา 3 เดือนหลังจากนี้ ไม่มีใครสามารถบอกได้อย่างแน่นอนว่า หน้าตารัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร ไฉไลแค่ไหน แต่รายได้ของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศยังต้องเดินหน้าเพื่อให้จีดีพีของประเทศไม่สะดุดไปตามกระแสการเมือง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี