รัฐบาลใหม่ อย่าลืมวาระ “ปราบหมูเถื่อน” ศิริกุล สดับสำเนียง นักวิชาการด้านปศุสัตว์
วันนี้สังคมจับตาดูโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ ที่ประชาชนเทเสียงให้เข้ามาบริหารหวังเปลี่ยนประเทศไทยเพื่ออนาคตใหม่ที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคมเป็นระเบียบ และบ้านเมืองสงบสุข ถึงแม้วันนี้จะยังอยู่ระหว่าง “จัดตั้งรัฐบาล” แต่ภาคประชาชน ภาคเอกชน นักลงทุนและอีกหลายภาคส่วน ต่างมีข้อเรียกร้องและข้อเสนอไว้รอท่ารัฐบาลใหม่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไร
“หมูเถื่อน” เป็นปัญหา “มาราธอน” มามากกว่า 1 ปี ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยต้องขับเคี่ยวและร่วมกันเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐกำจัดให้หมด เพราะหมูเถื่อนกดราคาหมูไทยจนร่วงหล่นต่ำกว่าต้นทุนที่เกษตรกรแบกภาระขาดทุนหนักสุดมานานกว่า 4 เดือนแล้ว จากต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 98-100 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่หมูมีชีวิตราคา 70-82 ต่อกิโลกรัม (ช่วงเดือนพฤษภาคม) ขาดทุน 20-30 บาทต่อกิโลกรัม
ขณะที่หมูเถื่อนยังคงถูกจับกุมได้ไม่ขาดสายตั้งแต่หลักร้อยกิโลกรัมไปจนถึงหลักล้านกิโลกรัม ล่าสุดจับกุมได้ในตู้สินค้าตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ ปริมาณ 4.5 ล้านกิโลกรัม ล็อตใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจับกุมได้ในประเทศไทย
จนถึงวันนี้ ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐออกมาสร้างความเชื่อมั่นและให้หลักประกันกับผู้เลี้ยงหมูได้ว่า “เมื่อใดหมูเถื่อนจะหมดไปจากประเทศไทย?” จึงเป็นโจทย์รอรัฐบาลใหม่สั่งการให้ กรม กอง ของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องบูรณาการการทำงานรับไม้ต่อกันอย่างไม่มีช่องโหว่ เพราะที่ผ่านมามีคำถามจากผู้เลี้ยงหมู ว่า หมูเถื่อนหลุดรอดการตรวจสอบที่ท่าเรือออกไปกระจายอยู่ตามตลาด ร้านหมูกระทะ และร้านอาหารได้อย่างไร
ผู้เลี้ยงหมูไทย ขอเสนอรัฐบาลชุดใหม่ให้พิจารณา “หมูเถื่อน” เป็นหนึ่งในปัญหาที่ต้องใส่ใจและแก้ไขให้หมดสิ้น เพียงสั่งการให้หน่วยงานภาครัฐผนึกกำลังกันสกัดกั้นไม่ให้สินค้าผิดกฎหมายและทำลายสุขภาพที่ดีของคนไทยจากโรคระบาดที่ติดโรคมากับหมูเถื่อน เข้ามาในประเทศไทยได้ กรมศุลกากร ต้องเป็นด่านแรกในการตรวจตู้สินค้าทุกตู้อย่างละเอียดโดยไม่มีข้อยกเว้นเช่นที่ผ่านมา และหากพบหมูเถื่อนต้องจับกุมดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.โรคระบาด พ.ศ.2558 เพื่อกำหนดโทษสูงสุดให้ผู้กระทำผิด...ในความจริงหาก “หมูเถื่อน” ไม่สามารถผ่านการตรวจค้นอย่างเข้มข้นที่ท่าเรือได้ ปัญหาทั้งเรื่องราคาตกต่ำ และความเสี่ยงของผู้บริโภคจากเนื้อสัตว์ด้อยคุณภาพก็จะไม่เกิดขึ้น
แม้ว่าวันนี้ “หมูเถื่อน” จะถูกจับกุมไปบ้างแล้วก็ตาม แต่ผู้เลี้ยงหมูเชื่อว่าหมูเถื่อนอีกจำนวนไม่น้อยยังคงตกค้างอยู่ในประเทศไทยพร้อมสร้างปัญหาทันทีที่ออกมาจากที่ซ่อน โดยเฉพาะห้องเย็นในจังหวัดต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย และอีกทางหนึ่งที่ยังต้องคุมเข้ม คือ การลักลอบนำเข้าผ่านชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้านทั้ง ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย เพราะการปราบปรามในไทยบีบให้ขบวนการหมูเถื่อนเปลี่ยนกลยุทธ์ จากการสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเล เป็นปลา หรือ โพลิเมอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุม เป็นการ Re-export สินค้าจากไทยไปท่าเรือประเทศเพื่อนบ้านแล้วหาทางลักลอบกลับเข้าไทยอีกครั้ง กลยุทธ์เหล่านี้ทำให้ปัญหาราคาตกต่ำวนเวียนไม่รู้จบ
เมื่อรัฐบาลใหม่ ได้รับทราบข้อมูลและความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูดังกล่าวข้างต้นแล้ว ขอให้กำหนดปัญหานี้เป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วน เพื่อเป็นกำลังใจให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยเห็นอนาคตของตัวเอง เห็นโอกาสในการขายผลผลิตในราคายุติธรรมไม่ต้องแบกขาดทุนรวมถึงรัฐบาลใหม่ต้องพิจารณาแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่อยู่ในระดับสูง เพราะผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง ทำให้ราคาอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นด้วย เหล่านี้เป็นปัญหาที่ต้องการรัฐบาลใหม่ที่เข้าใจความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต เพื่อวางแผนแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สู่การยกระดับราคา คุณภาพ และความสามารถแข่งขันของไทยในเวทีโลก รวมถึงต่อลมหายใจของผู้เลี้ยงหมูไทยให้ผลิตหมูปลอดภัยให้คนไทยบริโภคอย่างเพียงพอและยั่งยืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี