จังหวัดนครพนมเตรียมจัดพิธีบวงสรวง'พญาศรีสัตตนาคราช'อย่างยิ่งใหญ่ 7 วัน 7 คืน ทุกหน่วยงานร่วมจัดหนักเต็มพิกัด ระหว่าง 7-13 กรกฎาคมนี้ งดจ้างศิลปินรำถวาย
การประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดนครพนม (กรอ.นครพนม) ครั้งที่ 3/2566 ที่มีนายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธาน โดยมีเรื่องหารือรวม 7 เรื่องด้วยกัน หนึ่งในนั้นเป็นการจัดงานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 7-13 กรกฎาคม รวม 7 วัน 7 คืน ซึ่งงานบวงสรวงถือเป็น 1 ใน 3 งานบุญประเพณีประจำปีที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดฯ ได้แก่ 1.งานนมัสการองค์พระธาตุพนม 2.งานประเพณีออกพรรษาไหลเรือไฟ และ 3.งานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวในที่ประชุมว่า ปีนี้ทางจังหวัดได้งบสนับสนุนจากส่วนกลางมา 500,000 บาท มูลนิธิพญาศรีสัตตนาคราช 300,000 บาท รวมเป็น 800,000 บาท ที่ผ่านมาว่าจ้างศิลปินดาราชื่อดังมาเป็นนางรำ สำหรับปีนี้ขอเป็นจิตอาสา ดารา นักแสดงคนไหนที่ศรัทธาต่อองค์พญาศรีสัตตนาคราช ประสงค์มารำก็ขอให้แสดงเจตจำนงได้ โดยทางจังหวัดจะดูแลด้านค่าตั๋วเครื่องบิน อาหาร ที่พัก
ด้านนายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่าตลอด 7 วัน 7 คืนของงานบวงสรวงฯจะมีกิจกรรมต่าง ๆ เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา เช่น แห่ขบวนเครื่องบูชา และรำบวงสรวงพญานาคจาก 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ ที่เป็นการแสดงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละชนเผ่าสู่สายตานักท่องเที่ยว รวมถึงการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยลุ่มแม่น้ำโขง การแสดงวงดนตรีพื้นเมือง การจัดจำหน่ายสินค้าดีสินค้าเด่นของจังหวัดฯแล้ว
ปีนี้มีพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีกระดับ โดยทางสถาบันพระปกเกล้าที่มาศึกษาดูงานในพื้นที่นครพนม เสนอมาบินโดรนแปลอักษร แปลภาพให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้ชมกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ติดเงื่อนไขว่าต้องไม่มีฝน เพราะถ้าฝนตกโดรนจะขึ้นบินไม่ได้ ตอนนี้ได้ประสานบริษัททรูฯ และการไฟฟ้าฯ เนื่องจากสัญญาณเน็ตต้องเสถียร ระบบไฟต้องไม่สะดุด ทางจังหวัดได้เตรียมภาพหลักๆประมาณ 3-4 ภาพ เช่น พระธาตุพนม,พญาศรีสัตตนาคราช และ พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ 9 กับยายตุ้ม ให้ทางสถาบันพระปกเกล้าดูก่อนว่าจะแปลได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งหากประชาชนเห็นว่าควรจะเพิ่มเติมภาพอื่นๆก็เสนอมาได้
"สถาบันพระปกเกล้า เสนอตัวบินโดรนครั้งนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ แต่เราก็จะดูแลในเรื่องอื่น เช่น ที่พัก เป็นต้น ซึ่งทีมงานเขาก็มาไม่เยอะ และอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม เสนอภาพที่เกี่ยวกับจังหวัดนครพนมส่งให้เขาพิจารณาด้วยฯ"
นายคงกริช พงษ์พันธ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครพนม (ทกจ.ฯ) กล่าวว่าได้ประสานไปยัง ไผ่หลิว-กมลวลัย ประจักษ์รัตนกุล มิสแกรนด์นครพนม 2023 ซึ่งเป็นชาวจังหวัดนครพนมโดยกำเนิด เบื้องต้นกำลังกำหนดวันมารำบวงสรวงถวายองค์พญาศรีสัตตนาคราช และหากหน่วยงานไหนติดต่อดารา นักร้องคนไหนเพิ่มเติม ก็จะมาหารือกันเพื่อแยกให้มารำในวันที่ไม่ต้องกัน เพื่อความหลากหลายในแต่ละวัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมจากแหล่งข่าวว่า เห็นด้วยที่ไม่มีการว่าจ้างศิลปิน ดารา นักร้องมารำบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช เพราะถือเป็นการเสียค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ อีกอย่างเป็นการพิสูจน์ศิลปินบางคนไปในตัว เพราะที่ผ่านมาเห็นมาใช้สถานที่ประกอบพิธีบวงสรวง เพื่อโปรโมทผลิตภัณฑ์เยอะแยะ เมื่อถึงเวลาบวงสรวงใหญ่ประจำปี จะมีใจเป็นจิตอาสากันหรือไม่
ทั้งนี้ งานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราชได้มีการยกระดับเป็นเทศกาลประเพณีในระดับชาติและนานาชาติ ตามนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม ถือเป็นงานประเพณีที่จัดขึ้นทุกปี เพื่อบวงสรวงองค์พญาศรีสัตตนาคราช ณ ริมฝั่งโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม รวม 7 วัน 7 คืน ชาวพื้นถิ่นเรียกวัน 7 เดือน 7 ปีนี้ตรงกับวันที่ 7-13 กรกฎาคม โดยมีนางรำใส่ชุดพื้นเมือง มาจากทั้ง 12 อำเภอ โดยรวมแล้วกว่า 1,000 คน และมีพิธีเทวาภิเษก วัตถุมงคลที่ระลึกประจำปี 2566 การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การจัดแสดงสินค้าของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP สินค้าธงฟ้า และมหกรรมโรงทานตลอดทั้ง 7 วัน และได้มีกิจกรรมเพิ่มเติม เช่น ประกวดภาพถ่ายนาคในคติศาสนาและวิถีชีวิต ประเพณี 12 เดือน ร้อยมุมมองวิถีไทย โดยสมาคมภาพถ่ายและกรมส่งเสริมวัฒนธรรมฯ การแสดงโขนจากวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ แสง สี เสียงยิ่งใหญ่อลังการ
ในโอกาสเดียวกันนี้วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม ได้มีการจัดกิจกรรมเพิ่มเติม คือการเสวนาองค์ความรู้เกี่ยวกับความเชื่อความศรัทธาต่อพญาศรีสัตตนาคราช เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานได้รับรู้ถึงความเป็นมา และคติความเชื่อของคนลุ่มน้ำโขงที่เชื่อกันมาแต่โบร่ำโบราณ ว่า พญาศรีสัตตนาคราชคอยปกปักรักษาองค์พระธาตุพนมและคนในลุ่มน้ำโขง
รวมถึงมหกรรมผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม และผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยที่เกี่ยวเนื่องกับพญานาคจากทั่วประเทศ ตลอดจนได้เชื่อมโยงกับคติความเชื่อกับทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากนาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ประเภทสัตว์ในตำนาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำเส้นทางความเชื่อความศรัทธาแห่งลุ่มน้ำโขง ภายใต้โครงการจาริกเส้นทางบุญในมิติทางศาสนา เป็นการเชื่อมโยงวัดต่างๆที่มีความสำคัญเข้ากับความเชื่อความศรัทธาเพื่อเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อสร้างการรับรู้ กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ กระจายรายได้ให้กับประชาชนในชุมชนอีกด้วย - 003
ภาพจากแฟ้ม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี