ช่วงฤดูฝนอาหารป่ามีความคึกคักมากโดยเฉพาะเห็ดมักจะขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายนตามป่าเบญจพรรณ รวมถึงป่าชุมชน แต่ปีนี้ฤดูฝนมาช้ากว่าปกติ เห็ดจึงเกิดชุกในเดือนมิถุนายน ชาวบ้านที่มีชุมชนใกล้กับป่า ก็จะออกหาเห็ดกัน เพื่อนำมาประกอบอาหาร หรือจำหน่ายตามริมถนน
เช่นเดียวกับชาวบ้านพื้นที่บ้านนาโพธิ์ หมู่ 5 หมู่ 12 และ หมู่ 17 ต.บ้านผึ้ง อ.เมือง จ.นครพนม หลังจากช่วงต้นสัปดาห์มีฝนตกลงมา เชื้อเห็ดที่ซุกเชื้ออยู่ใต้ดินจะโตเป็นตุ่มเห็ด และค่อยๆ โผล่พ้นดินเป็นเห็ดป่า ที่พบมากสุด คือ เห็ดระโงก เห็ดเผิ่งทาม เห็ดเผิ่งข้าว เห็ดโคน เห็ดหน้าแหล่ เห็ดเผาะ เห็ดยูคา เห็ดดิน เห็ดปลวก ฯลฯ โดยกลุ่มชาวบ้านจะออกหากันในช่วงฝนแรกนี้จำนวนมาก ส่วนหนึ่งก็นำออกมาวางขายเรียงราย อยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 22 หรือถนนนิตโย (นครพนม-สกลนคร) ฝั่งขาออกเมือง ระหว่างหน้าตลาดไปถึงวัดบ้านหน้าโพธิ์ โดยที่พบเป็นเห็ดระโงกขาว เหลือง และเห็ดเผิ่ง เป็นต้น
ถ้าวางขายอยู่กับที่ก็ถือเป็นปกติทั่วไป แต่มีแม่ค้ารายหนึ่งใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้าง นำเห็ดที่หามาได้เองและรับซื้อต่อมาอีกทอดใส่กระบะ เร่ขายตามตรอกซอกซอยรอบชุมชน รวมถึงหมู่บ้านข้างเคียงแบบเดลิเวอรี่ (Delivery) ผู้สื่อข่าวจึงไปดักรอพบอยู่ริมถนนทางหลวง ทราบต่อมาว่าแม่ค้ารายนี้ชื่อ นางสาวฉันธนี ศรีชื่น อายุ 38 ปีหรือ สาวเน่อ แต่ชาวบ้านจะเรียกว่า "แม่ค้าปากแดง" เนื่องจากชอบทาปากด้วยลิปสติกสีแดง โดยระหว่างสาวเน่อขับรถพ่วงข้างคู่ใจเร่ขายของ จะตะโกนเรียกตลอดทาง ลูกค้าพอได้ยินเสียงก็จะเดินออกมากวักมือเรียกให้จอด
โดยนางสาวเน่อ หรือแม่ค้าปากแดง เปิดเผยว่าสิ่งของที่วางอยู่บนกระบะพ่วงข้าง วันนี้มีเห็ดไม่มากเนื่องจากช่วงเช้า นำไปส่งลูกค้าที่สั่งออเดอร์ไว้ล่วงหน้าแล้ว 3 กิโลกรัม เป็นเห็ดระโงกราคาโลละ 300 บาทจัดใส่จานๆละ 100 บาท นอกจากนี้ยังมีแมงแคงจานละ 50 บาท ถ้าขายเป็นโลจะตกกิโลกรัมละ 800 บาทลูกค้านิยมซื้อไปคั่วกินเล่นเป็นของว่าง หรือตำป่นเป็นแจ่ว (น้ำพริก) ฯลฯ ถือเป็นเมนูเด็ดชาวอีสาน อีกทั้งยังมีกบตัวเล็กๆในกล่องพลาสติกขายตัวละ 1 บาท ส่วนหนึ่งซื้อไปเพาะเลี้ยงให้โต หรือจะเอาไปทำอาหารเลยก็ได้
ส่วนรายได้ในแต่ละวัน สาวเน่อแม่ค้าปากแดงเดลิเวอรี่ เจ้าเดียวแห่งบ้านนาโพธิ์เผยว่า หักต้นทุนแล้วมีรายได้ตกวันละ 1,000-1,500 บาท ถ้าหมดหน้าเห็ดก็จะเอาเสื้อผ้ามือสองมาตระเวนขาย หรือผักผลไม้ตามฤดูกาล
ทั้งนี้ หมู่บ้านนาโพธิ์ อดีตเป็นที่ตั้งค่ายผู้ลี้ภัย หรือศูนย์อพยพชาวลาวพลัดถิ่น เรียกสั้นๆ ว่าศูนย์ลาว ส่วนใหญ่เป็นชาวม้ง โดยรอบหมู่บ้านมีป่าเบญจพรรณ ป่าชุมชน รวมถึงป่าตามหัวไร่ปลายนาเยอะ จึงมีของป่าโดยเฉพาะเห็ดขึ้นจำนวนมากในหน้าฝน ช่วงนี้ริมถนนทางหลวงหมายเลข 22 (นครพนม-สกลนคร) จึงคึกคักด้วยแผงขายเห็ดของชาวบ้าน - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี