ผ่านพ้นไปแล้วกับงานสัมมนาพหุภาคี “สู้ชนะความจน : บนฐานความรู้ พลังภาคี” จัดโดย งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่ (บพท.) เมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยมีการบรรยายในหลายหัวข้อ อาทิ เอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์-สศช.) บรรยายเรื่อง “ความจน-ความเหลื่อมล้ำภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ” เล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รวมถึงเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม
ทั้งนี้ แม้จะเป็นเมืองใหญ่ที่พัฒนาไปมากแต่ก็ยังปรากฏภาพบ้านเรือนของคนจน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทย ยังมีรายงานจากสื่อมวลชนในปี 2559 ว่าด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่น 3 ใน 4 ของคนไทยไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน หรือเยาวชนในครัวเรือนยากจนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยน้อยกว่าเยาวชนในครัวเรือนร่ำรวยถึง 19 เท่า เป็นต้น นำมาสู่ความพยายามของคณะทำงานยุทธสาสตร์ชาติในการแก้ไขปัญหา
ขณะที่ทางสภาพัฒน์ สรุปช่องว่างในการแก้ไขปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำ ว่า 1.นโยบายปัจจุบันยังเน้นแก้ปัญหาที่ตัวบุคคล ไม่ใช่การแก้ไขที่โครงสร้างอำนาจ โดยมักเป็นนโยบายที่มีลักษณะเป็นการแจกหรือสงเคราะห์คนจน มากกว่าจะเป็นการเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสให้คนจนยกระดับฐานะของตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะอุปสรรคทางกฎหมาย พอคิดทำอะไรก็ดูจะติดขัดไปหมด การกระจายอำนาจที่ไม่ถ่ายโอนสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง รวมถึงระบบภาษีที่คนร่ำรวยมีช่องทางมากมายเพื่อขอลดหย่อน
กับ 2.นโยบายการคุ้มครองทางสังคมขาดการพัฒนาเชิงระบบ เช่น ขาดการบูรณาการฐานข้อมูล รวมถึงการขาดการประเมินผลกระทบของนโยบาย ทำให้การจัดสรรงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ตั้งเป้าหมายไว้ 4 ข้อ คือ 1.ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ 2.กระจายศูนย์กลางความเจริญ ทุกจังหวัดควรมีความเจริญที่ไม่แตกต่างกันมากจนเกินไป ซึ่งจะลดปัญหา “ครอบครัวแหว่งกลาง” พ่อแม่ต้องทิ้งลูกให้อยู่กับปู่ย่าตายายเพื่อไปหางานทำในเมืองใหญ่ (เช่น กรุงเทพฯ) ได้ด้วย
3.สร้างพลังทางสังคม เพราะปัญหาความยากจนไม่สามารถแก้ได้โดยง่ายเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในส่วนของภาครัฐนอกจากส่วนราชการแล้วยังรวมถึงรัฐวิสาหกิจด้วย นอกจากนั้นยังต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน และ 4.สร้างขีดความสามารถของชุมชน ประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาหลายสิบปี แต่ถูกปล่อยปละละเลยให้ต้องดิ้นรนกันเอง ทั้งที่ผู้บริหารท้องถิ่นในปัจจุบันก็เป็นผู้มีความรู้ จบ ป.ตรี ป.โท กันมากมาย
“ลองแน่จริงกระจายไปเลยแล้วลองทดสอบดูก็ได้ดูอาจารย์กิตติ (กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท.) ทำ 20 จังหวัด แล้วดูอันไหนเข้าท่า หรือทดลอง 7 จังหวัดดูดีกว่า 76 จังหวัดก็เหมือนกัน ลองทดลอง 10 จังหวัดดูก่อน แล้วปีถัดมาเป็น 20 จังหวัด ภายในไม่เกิน 20 ปีของแผนยุทธศาสตร์ชาติ ผมเชื่อว่าท้องถิ่นเจริญแน่นอน แล้วเขาจะตอบโจทย์ของชาวบ้านด้วย” เอ็นนู กล่าว
จิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองและส่งเสริมความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บรรยายเรื่อง “แนวโน้มความยากจน ภายใต้พลวัตเศรษฐกิจปัจจุบัน” แสดงความเป็นห่วงในประเด็น “หนี้ครัวเรือน” ซึ่งข้อมูล ณ ไตรมาส 3/2565 พบว่า
อยู่ที่ร้อยละ 87 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) หรือคิดเป็นจำนวนเงินจะอยู่ที่ 15 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ภัยพิบัติใหญ่ๆ เป็นสาเหตุสำคัญของหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น เช่น น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 หรือการระบาดของไวรัสโควิด-19 ช่วงปี 2563-2564
เมื่อมองฉากทัศน์แห่งอนาคต หากไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหา หนี้ครัวเรือนอาจทรงตัวหรือปรับลดลงได้เพียงเล็กน้อย คืออยู่ที่ร้อยละ 84 ของ GDP ในขณะที่เกณฑ์สากลระบุว่าควรจะอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 80 ของ GDP ทั้งนี้ ข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ในปี 2563-2565 สำหรับ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่ำที่สุดในประเทศไทย พบว่า มี 18 จังหวัด ที่มีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ และต้องบอกว่าเป็นข้อมูลเฉพาะหนี้ในระบบ แต่หากรวมหนี้นอกระบบมาด้วยจะยิ่งมากกว่านี้
“สิ่งที่เรากังวลเพราะอะไร? การที่เรามีหนี้เยอะๆ รับรายได้มา 100% 87 บาทเราต้องไปจ่ายหนี้ เหลือ 13 บาทกิน-ใช้ มันก็ฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะรายได้ส่วนใหญ่ต้องไปจ่ายหนี้ นอกจากนี้ เรื่องของเสถียรภาพระบบการเงิน ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็อยู่ไม่ไหว ถ้าเจ้าหนี้อยู่ไม่ไหว หมายความว่าสถาบันการเงินบางประเภท ธนาคารก็ไม่มีสภาพคล่องไปคืนผู้ฝากเงินเมื่อทวงถาม อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องดูด้วย นอกจากนี้ก็จะเป็นเรื่องของปัญหาสังคมต่างๆ ที่จะตามมา” จิตเกษม กล่าว
กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) บรรยายเรื่อง “เอกชนกับการแก้ไขปัญหาความยากจน” อธิบายความหมายของความจน 2 ประเภท คือ 1.ความจนแบบอดอยาก หมายถึงไม่มีอะไรจะกิน กับ 2.ความจนเชิงเปรียบเทียบ หรือก็คือ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่หมายถึงแม้ทุกคนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่สุดท้ายก็ยังมีกลุ่มที่เข้าข่ายเป็นคนจน ซึ่งการเปรียบเทียบที่ว่านี้หมายถึงเทียบกับมาตรฐานของสังคมนั้นๆ
เช่น ชาวอเมริกันหรือชาวสวิตเซอร์แลนด์มีรายได้สูงกว่าชาวไทยแม้แต่ในอาชีพที่ถูกมองว่าเป็นงานระดับล่าง แต่หากเทียบกับคนในสังคมเดียวกันหรือเพื่อนร่วมชาติเดียวกัน คนในอาชีพระดับล่างนั้นก็คือคนจนในสังคมหรือในประเทศของเขา ดังนั้นหัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรจึงสามารถสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งชุมชนเองก็แก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง อาทิ การตั้งกลุ่มออมทรัพย์มาแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและสร้างสวัสดิการ แต่สิ่งที่ชุมชนทำเองไม่ได้คือการหารายได้เพิ่มอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนเชิงเปรียบเทียบ
“สินค้าเกษตรที่ขายในห้างสรรพสินค้า 100 บาท ชาวบ้านได้ 3-5 บาท นี่คือตัวเลขจริง แล้วถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? เพราะว่าที่เหลือคือคนกลางหมดเลย มาห้างคิด 30% พ่อค้าเขากดขี่เรา บอกว่าขายหรือไม่ขาย ถ้าไม่ขายก็ไปซื้อคนถัดไป เน่าแน่เลยใช่ไหม? ทั้งหมดนี้มันรวมกันเสร็จแล้วกลายเป็นของ 100 บาทชาวบ้านได้ 3 บาทเท่านั้นเอง แล้ว 3 บาท มันยากที่จะให้ชาวบ้านเลี้ยงตัวเองได้อยู่ในระดับนั้น เราต้องทะลุทะลวงว่าทำอย่างไรให้การแก้ไขปัญหาความยากจนของเรายกระดับรายได้ของชาวบ้าน ต้องเอาตลาดเข้ามาร่วมด้วย” กอบศักดิ์ กล่าว
(อ่านต่อฉบับวันอาทิตย์ที่ 9 ก.ค. 2566)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี