ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย และ จีน ที่มีมาถึง 48 ปี ใน พ.ศ.2566 นับเป็นนิมิตหมายที่ดีในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะ “จีน” ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ในเอเซียนั้น ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนสามารถเป็นประเทศที่สามารถส่งนักบินไปพร้อมยานอวกาศเพื่อไปสำรวจอวกาศ และ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารจนทำให้ประเทศจีนขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจผ่านเทคโนโลยี
รมว.อว.ชูงานวิจัยไทยในดินแดนมังกรสานสัมพันธ์ไทย-จีน 48 ปี
ในเวทีของจีนมีหลายเวทีที่เปิดโอกาสให้นานาประเทศเข้าไปร่วมแสดงศักยภาพ และ ต่อยอดมาสู่การค้าการลงทุน ขณะที่ “ไทย” เป็นประเทศที่ “จีน” บอกมาต่อๆกันรุ่นต่อรุ่นว่า ประเทศไทยและประเทศจีนมีความความสัมพันธ์ในแบบ“ไทยจีนพี่น้องกัน” จึงทำให้ความสัมพันธ์ของไทย-จีน เดินหน้ามาถึง 48 ปี รวมทั้งจีนยังเปิดโอกาสให้ทีมวิจัยได้แสดงศักยภาพ ณ กรุงปักกิ่ง
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความสัมพันธ์ไทย-จีน กับการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ในพิธีเปิดการประชุม Think Tank Forum ครั้งที่ 3 (The 3rd Think Tank Forum) ภายใต้หัวข้อ “Ten Years of the Belt and Road: China Thailand Partnership for Sustainable Development” โดยมี Professor Gao Xiang ประธานสถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences: CASS) กล่าวต้อนรับพร้อมเปิดการประชุม โดยมี ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผศ.ดร.ชุมพล เสมาขันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พล.ต.ท. พรชัย สุธีรคุณ ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และคณะนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยเข้าร่วม ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก ชูประเด็นเรื่อง “ความสัมพันธ์ไทย-จีน กับการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี มีความเชื่อมโยงกันในเรื่องของการพัฒนาหลายมิติ โดยเริ่มนับตั้งแต่จีนในสมัย “ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง” ริเริ่มการเชื่อมจีน เอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเข้าด้วยกัน ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงทรัพยากร วัตถุดิบ และสินค้า รวมถึงการเชื่อมโยงเศรษฐกิจเข้าด้วยกันที่เรียกว่า "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ซึ่งการริเริ่มดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของไทยในยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนพัฒนา Thailand 4.0 รวมถึงการพัฒนาที่มุ่งเน้นเรื่องของเศรษฐกิจ BCG ทำให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติและแนวคิดด้านนโยบายทั้งสองประเทศมีความเชื่อมโยงกันอย่างรอบด้าน นำมาซึ่งความร่วมมือไทย-จีนหลายด้าน
โดยเฉพาะด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านข้อมูลและดิจิทัล การยกระดับภาคการผลิตที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม (S-Curves) อาทิ การพัฒนาความเชื่อมโยงไทย-ลาว-จีน การพัฒนาของอนุภูมิภาคระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทยกับกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong - Hong Kong - Macao Greater Bay Area: GBA) และเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) ของจีน รวมถึงโครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมศักยภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยานยนต์ไฟฟ้า
“จีนเป็นแบบอย่างที่ดีในการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งแนวคิดกระบวนการ และวิธีการแก้ไขปัญหาความยากจนของจีนกำลังเป็นที่สนใจในการศึกษาเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศไทยอย่างจริงจัง โดยจีนใช้เวลาเพียง 40 ปี ในการแก้ปัญหาความยากจนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการใช้เทคโนโลยีสร้างความเข้มแข็งภายใน สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชน และสร้างความยิ่งใหญ่ออกไปสู่ภายนอกจนเป็นที่ยอมรับบนเวทีโลก ความสำเร็จของจีนได้แสดงให้โลกได้เห็นถึงศักยภาพของพัฒนาการที่โดดเด่นทุกด้าน ซึ่งนโยบายด้านการวิจัยและนวัตกรรมของไทยให้ความสำคัญกับสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ทัดเทียมกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์เป็นรากฐานอันสำคัญของความเป็นอยู่ของประชาชน และมีความเกี่ยวพันอยู่ในทุก ๆ มิติของการพัฒนาประเทศ
อีกทั้งประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจนวัตกรรมเทคโนโลยี มีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดบนฐานความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และฐานการวิจัยบนความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ และ อว.ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มีอำนาจหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เห็นว่าการจะพัฒนาประเทศตามแนวคิด กระบวนการ รวมถึงวิธีการที่กล่าวมาข้างต้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences: CASS) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อร่วมกันส่งเสริม เชื่อมโยง และผลักดันให้เกิดผลงานวิจัย นวัตกรรมทางสังคมที่นำไปใช้ในการพัฒนาประเทศได้” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนกกล่าว
ทั้งนี้ “การประชุมเชิงวิชาการ Think Tank Forum ครั้งที่ 3” จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนอนาคตร่วมกันของทั้งสองประเทศ และสะท้อนเด่นชัดถึงนโยบายการพัฒนาประเทศภายใต้แนวความคิด โดยทำงานเชื่อมโยงกับ “สถาบันสังคมศาสตร์จีน” (Chinese Academy of Social Sciences: CASS) และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มีความร่วมมือทางวิชาการต่อเนื่องมามากแล้วกว่า 23 ปี
การจัดกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยในประเด็นสำคัญและเป็นข้อเสนอเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยมีผู้บริหารนำวิจัยและนวัตกรรมจากจีนและไทยเข้าร่วมการประชุมอย่างต่อเนื่องตลอดทุกปี พร้อมกันนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนนักวิจัยและเสนอประเด็นเพื่อจัดทำการศึกษาร่วมกัน พร้อมกับกิจกรรมความร่วมมือมาโดยลำดับ และในปี 2566 นี้ จะได้เกิดความร่วมมือสำคัญระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติและสถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences: CASS) ในการร่วมจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันสังคมศาสตร์จีน” ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ตั้ง“ศูนย์วิจัยจีนฯ”ในไทย รมว.อว.หวังให้เป็น“บ้าน”ที่ให้คนไทยเข้าใจจีน
ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน นำมาสู่การตั้ง “ศูนย์วิจัยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันสังคมศาสตร์จีน” โดย “ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในฐานะรัฐมนตรี กระทรวง อว. ต้องการให้ศูนย์วิจัยจีนฯ เป็น “บ้าน” แห่งการเรียนรู้วัฒนธรรมจีน เพื่อให้คนไทยเข้าใจจีนมากขึ้น
การต่อยอดความสัมพันธ์ไทยและจีน ในเวที “การประชุม Think Tank Forum ครั้งที่ 3” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ณ สถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences, CASS) ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ได้มีพิธีลงนามการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันสังคมศาสตร์จีน (CASS-NRCT Centre of China Studies) ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ” โดยมี ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ Mr. Zhen Zhanmin รองประธานสถาบันสังคมศาสตร์จีน (CASS) เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยและฝ่ายจีนตามลำดับ ณ สถาบันวิจัยประวัติศาสตร์ (Chinese Academy of History, CAH), CASS กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรี กระทรวง อว. ให้เกียรติเข้าร่วมและเป็นสักขีพยานร่วมกับศาสตราจารย์เกา เซียง ( Prof. Gao Xiang ) ประธานสถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences, CASS) ในพิธีลงนามการจัดตั้งศูนย์วิจัยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันสังคมศาสตร์จีน (CASS-NRCT Centre of China Studies)” พร้อมรับเกียรติจาก “ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล” ปลัดกระทรวง อว. ผู้บริหารและบุคลากรในสังกัดกระทรวง อว. เข้าร่วมพิธีลงนามดังกล่าว
ศาสตราจารย์เกา เซียง (Prof. Gao Xiang) ประธานสถาบันสังคมศาสตร์จีน กล่าวว่า ต้องการให้ศูนย์แห่งนี้กลายเป็นบ้านสำคัญของประชาชนไทยในการเข้าใจจีน เป็นแหล่งข้อมูลสนับสนุนร่วมกันในสร้างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และเพิ่มพลังขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทยในยุคใหม่ พร้อมส่งเสริมนักวิจัยและนักวิชาการ รวมถึงสนับสนุนการจัดประชุมวิชาการร่วมกับ วช. อย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อเป็นพลังส่งเสริมร่วมมือจีน-ไทยด้านยุทธศาสตร์
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง CASS และ วช. ในการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันสังคมศาสตร์จีน (CASS-NRCT Centre of China Studies)” โดยฝ่ายไทยมีความประสงค์ที่จะสร้างความร่วมมือทางวิชาการทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์กับจีนอย่างลึกซึ้ง เป็นระบบ และมีความก้าวหน้าในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์ ศิลปศาสตร์ โบราณคดี โดยหวังว่าการลงนามการจัดตั้งศูนย์วิจัยจีนในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จและสานต่อความสัมพันธ์อันแนบแน่นและยาวนานระหว่างไทย-จีน และ CASS กับ วช.
ขณะที่ “ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล” ปลัดกระทรวง อว. กล่าวถึงโอกาสในการเยือนจีนหลายครั้ง และได้รับเชิญจาก CASS ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของ CASS เช่น การบรรยายในการประชุมในโอกาสครบ 40 ปีของการต่อตั้ง CASS และ การเสวนาอารยธรรมเอเชีย (Conference on Dialogue of Asian Civilizations: CDAC) เป็นต้น ซึ่งเห็นการเติบโตของ CASS อย่างต่อเนื่องและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือที่สำคัญระหว่าง วช. และ CASS ในการลงนามการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันสังคมศาสตร์จีน (CASS-NRCT Centre of China Studies)” ร่วมกัน
“กระทรวง อว. ยินดีส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินโครงการและกิจกรรมการแลกเปลี่ยนนักวิจัย รวมทั้งการจัดประชุมทางวิชาการร่วมกันต่อไป โดยให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ร่วมกันของนักวิจัยไทยและจีน และการใช้วิทยาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนมาช่วยสนับสนุนการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ อาทิ การกำหนดอายุโบราณวัตถุทั้งเก่าและใหม่ การเก็บรักษาและการอนุรักษ์ลายวัตถุ การศึกษาทำความเข้าใจ การเคลื่อนย้ายของมนุษย์ในภูมิภาคนี้ เป็นต้น “ ปลัดกระทรวง อว. กล่าว
“ศูนย์วิจัยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันสังคมศาสตร์จีน” (CASS-NRCT CCS) ภายใต้การดำเนินการของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการและส่งเสริมงานวิจัยระหว่างไทย-จีน ให้เกิดผลเด่นชัดและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ผ่านโครงการและกิจกรรมที่เชื่อมโยงนักวิจัยและนักวิชาการของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน
ความท้าทายที่น่าจับตามองในเวทีโลก คือ การก้าวย่างของมังกรในทศวรรษหน้า ที่จะรุกหนักทางด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยที่ผ่านมา “จีน” ลงทุนด้านงานวิจัยภายในประเทศ และ เปิดตัวต่อนานาอารยประเทศเมื่อตนเองนั้นมีความแข็งแกร่งและมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเป็นผลมาจากงานวิจัย ขณะที่ในปี 2566 เป็นต้นมา จะเห็นว่า “จีน” เริ่มเปิดให้นานาอารยประเทศเข้ามาแลกเปลี่ยนงานวิจัย และ เรียนรู้ความเป็น “จีน” ใหม่ที่พร้อมจะรุกคืบในทุกก้าว โดยงานวิจัยในทุกๆด้านของ “จีน” จะเป็นตัวแปรสำคัญจะทำให้เห็นว่า “จีน” ไม่ได้แข็งแกร่งแต่เพียงประเทศเดียว แต่ยังใจกว้าง พร้อมเปิดให้ทุกประเทศเข้ามาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนงานวิจัยด้านต่างๆ
ปัจจุบันงานวิจัยเป็นฐานกำลังที่ทำให้ “จีน” แซงหน้าสหรัฐอเมริกาในทุกๆด้าน รวมถึงทางด้านความมั่นคง ดังนั้น นับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป “จีน” จะเดินหน้าเป็น “มังกรทอง” ที่ผงาดในเวทีโลก ซึ่งเสริมทัพอย่างเข้มแข็งด้วยศักยภาพด้านการพัฒนาด้านงานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จนถึงขนาดที่ว่า ถ้า “สหรัฐอเมริกา” ทิ้งช่วงงานวิจัยเพียงก้าวเดียว ก็อาจเสียตำแหน่งความเป็นพี่ใหญ่ในในทุกๆด้านบนเวทีโลกให้กับ “จีน” อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี