“ในชีวิตของมนุษย์ เราทุกคนล้วนแล้วแต่ถูกผูกโยงเข้ากับความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ญาติเพื่อนฝูง หรือแม้กระทั่งคนรู้จักที่อาจเคยเจอกันเพียงแค่ครั้งคราว หากแต่ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวเหล่านี้ ต่างก็มีจุดสิ้นสุดของความสัมพันธ์ที่เหมือนกัน ซึ่งเราเรียกว่า “ความตาย”
เมื่อความตายไม่ใช่เรื่องไกลตัว
หากเราพูดถึงเรื่อง “ความตาย” ในชีวิตของมนุษย์นั้น ความตายถือว่าไม่ใช่เรื่องที่อยู่ห่างไกลจากตัวเรามากนัก เพราะเราทุกคนต่างก็พูดถึงเรื่องความตายอย่างเป็นปกติสามัญในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ความตายจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนมองเห็นและ
รับรู้อยู่ทั่วไป และ “มนุษย์ทุกคนเกิดมาต้องตาย” ได้กลายเป็นสัจธรรมที่ผูกโยงผู้คนเข้ากับวาระต่างๆ ของความรู้สึกที่วนเวียนอยู่ในชีวิตของมนุษย์ เช่น ความรัก หรือความเศร้า แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าความตายที่มนุษย์ “รับรู้” และ “เข้าใจ” ว่ามีอยู่นั้นจะเป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถ “ยอมรับ” ได้อย่างไม่มีเงื่อนไขเพราะเมื่อถึงเวลาที่ความตายมาเยือนหรือเกิดขึ้นในชีวิตของเราจริงๆ มันอาจจะแปรเปลี่ยนกลายเป็นความรู้สึกสูญเสียที่ยากเกินจะบรรยายในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง และเราอาจจะต้องใช้เวลาอย่างยาวนานเพื่อยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น หรืออาจจะต้องเผชิญกับความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นจากความสูญเสีย ทำให้ในความเป็นจริงแล้วความตายก็ยังถือเป็นสิ่งที่มนุษย์ยากที่จะยอมรับ และในปัจจุบันก็ยังมีผู้คนมากมายที่พยายามค้นหาคำตอบหรือคำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับความตายของมนุษย์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
เพราะความตายไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างที่คิด
สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับความตายในเชิงวัฒนธรรมนั้น การตายของมนุษย์มักจะถูกอธิบายอยู่บนโลกทัศน์ของการประกอบสร้างตัวตนที่เชื่อมโยงตนเองเข้ากับความเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่ภูมิทัศน์ที่มนุษย์มองเห็นและรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส แต่รวมไปถึงโลกที่เรามองไม่เห็นและไม่อาจใช้ผัสสะทั่วไปในการเข้าถึง ฉะนั้น การตายในที่นี้จึงไม่ใช่จุดสิ้นสุดของมนุษย์ แต่เป็นเสมือนจุดเปลี่ยนผ่านของการก้าวข้ามไปสู่โลกที่รับรู้ว่ามีอยู่แต่ไม่อาจมองเห็น และในสังคมวัฒนธรรมต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีวิถีทางในการที่มนุษย์จะเข้าใจและเข้าถึงโลกที่เรามองไม่เห็นนั้นอยู่หลากหลายวิธี เช่น การมีพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการหลุดพ้นจากนิวรณ์สู่เชิงตะกอนอันเรียบง่าย การเดินทางไปสู่ดินแดนสุขาวดีอันมั่งคั่ง หรือการหวนคืนสู่อ้อมกอดแห่งพระเจ้าที่โอบรับทุกสรรพสิ่ง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพจากความเป็นมนุษย์ไปสู่ความเป็นสิ่งอื่น ยิ่งไปกว่านั้น ความตายยังไม่ได้เป็นแค่เรื่องของคนที่จากไปเพียงเท่านั้น คนที่ยังมีชีวิตอยู่ในห้วงอาวรณ์ของความอาลัยแห่งการจากลาที่ไม่อาจหวนคืนของผู้วายชนม์ พวกเขายังคงต้องใช้ชีวิตอยู่กับการจดจำถึงใบหน้า ตัวตน ความสัมพันธ์ หรือสิ่งต่างๆ ที่เคยได้ทำร่วมกันกับผู้ตายในอดีต ทั้งที่เป็นความสุขและความทุกข์ ดังนั้น ความตายจึงไม่ได้เป็นแค่เฉพาะการเดินทางของผู้ตายเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการเดินทางที่สำคัญของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในการก้าวข้ามและผ่านพ้นความโศกเศร้าไปสู่การเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต และใช้ชีวิตอยู่ต่อไปโดยที่รู้สึกเจ็บปวดน้อยลงจากความสูญเสียที่เกิดขึ้น
แล้วเมื่อไหร่ที่เราเริ่มกลัวที่จะเผชิญหน้ากับความตาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อยามที่โลกได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นสังคมสมัยใหม่ที่มีการนำระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบสร้างชีวิตทางสังคมของผู้คน ภาพของการอธิบายความตายที่เคยเป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกโลกหนึ่ง ได้ถูกทำให้เปลี่ยนแปลงและกลายเป็นความล่มสลายของชีวิตเมื่อเราทุกคนบนโลกจะต้องตาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนั้น มนุษย์ได้มีการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ มาใช้ในการสร้าง “ชีวิตที่ยืนยาว” เพื่อหลีกเลี่ยงความตายในหลากหลายรูปแบบ เช่น การออกกำลังกายตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อที่จะช่วยให้มีสุขภาพที่ดี การมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จะช่วยเสริมสร้างร่างกายที่แข็งแรง รวมถึงระบบการแพทย์และสาธารณสุขที่ดีและมีคุณภาพในการที่จะช่วยรักษาร่างกายของมนุษย์เมื่อยามเจ็บป่วย ซึ่งวิธีการต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์ต้องการพยายามสร้างร่างกายที่ไม่อ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่ายที่จะกลายเป็นความเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับความตาย และการที่จะเข้าถึงการมีสุขภาพที่ดีและการมีชีวิตที่ยืนยาวผ่านวิธีการต่างๆ เหล่านี้ มนุษย์จำเป็นที่จะต้องยอมแลกมาด้วยทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่างเงินทองและเวลาที่หามาและมีอยู่ เพื่อเข้าถึงกิจกรรมในการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีบนหลักการทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงในโลกสมัยใหม่ที่ผู้คนล้วนอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การมีสุขภาพที่ดีนั้นจึงกลายเป็นเรื่องที่ “ยาก” สำหรับผู้ที่ไม่มีทรัพยากรมากเพียงพอที่จะแลกเปลี่ยนเวลาและเงินทองของพวกเขาที่มีอยู่อย่างจำกัดไปกับการมีสุขภาพที่ดีในแบบที่ควรจะเป็น และทำให้พวกเขาต้องตกอยู่ในความเสี่ยงที่อาจจะต้องเผชิญหน้ากับ “ความตาย” ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่พึงปรารถนาของผู้คนในสังคมสมัยใหม่ได้มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม
การตายที่ ‘ดี’ ที่ไม่อาจ ‘เท่าเทียม’ กัน
แม้กระนั้น หากแต่ในวาระสุดท้ายของชีวิตที่เราไม่สามารถที่จะเอาชนะและหลีกหนีจากความตายได้ การมีความตายที่ดี (Good Death) ยังเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมเชิงทรัพยากรของผู้คนในสังคมสมัยใหม่ เพราะการตายที่ดีนั้นจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงของการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความตาย เช่น การมีกระบวนการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดและทุกข์ทรมานน้อยที่สุดจากอาการของโรคต่างๆ ที่เป็น หรือการถูกรายล้อมไปด้วยผู้คนที่รักและมีโอกาสได้ร่ำลากันเป็นครั้งสุดท้าย รวมไปถึงช่วงหลังจากที่ความตายได้เกิดขึ้นแล้ว เช่น การมีพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อไว้อาลัยและส่งผู้ตายไปยังอีกโลกหนึ่ง หรือการมีกิจกรรมเพื่อการรำลึกถึงผู้วายชนม์ตามความเชื่อของแต่ละวัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ที่จะทำให้มนุษย์นั้นมีการตายที่ดี ย่อมต้องแลกมาด้วยทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง เวลา หรือสถานะทางสังคม ที่จะช่วยอำนวยให้การตายที่ดีเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง
แต่ในขณะเดียวกัน สำหรับผู้ที่ไม่มีทรัพยากรหรือโอกาสที่เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมที่เรามักจะเรียกว่าเป็น “กลุ่มเปราะบาง” หรือ “กลุ่มคนชายขอบ” เช่น ผู้ต้องหาในเรือนจำ กลุ่มคนไร้บ้าน หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์และถูกละเลยจากคนในสังคม พวกเขาเหล่านี้ล้วนแล้วต้องเผชิญกับการถูกตีตราและการถูกปิดกั้นโอกาสในการที่จะมีชีวิตและมีความตายที่ดีที่ไม่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ เช่น ในบ่อยครั้งที่เราเห็นกลุ่มคนไร้บ้านในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ต้องนอนรอความตายอยู่ข้างถนน โดยปราศจากความช่วยเหลือจากรัฐที่ปฏิบัติเสมือนกับพวกเขาไม่ใช่มนุษย์ ไม่มีตัวตน ไม่มีใบหน้า ไม่มีคนที่เขารัก หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วยความรุนแรง หรืออาจถูกบังคับให้สูญหายจนไม่เหลือแม้กระทั่งร่างกายที่จะคืนให้กับญาติของพวกเขาได้นำมาประกอบพิธีกรรมเพื่อแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย หรือกลุ่มผู้ต้องหาในเรือนจำที่ไม่ได้รับการปฏิบัติดูแลที่ดีจากเจ้าหน้าที่ และถูกกระทำเสมือนเป็นสิ่งที่ไร้ค่า ไม่ได้รับการเหลียวแล และสามารถถูกกำจัดทิ้งได้เสมอ ฉะนั้นแล้ว การพูดถึงเรื่อง “ความตาย” ในสังคมปัจจุบัน จึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของความเชื่อหรือพิธีกรรม แต่ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงระบอบของอำนาจที่กระทำต่อชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ถูกตีตราหรือถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้ไม่เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่น และถูกตีแผ่ออกมาในรูปแบบของประสบการณ์ที่ถูกปิดกั้น กีดกัน รุนแรง และลดทอนคุณค่าของกลุ่มคนที่ถูกทำให้หลงลืมและเลือนหายไปจากสังคม
เผชิญหน้ากับ ‘ความตาย’ ด้วย ‘ความเป็นมนุษย์’
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนจึงอยากชวนทุกท่านมาร่วมกันคิดผ่านมุมมองเรื่องของความตาย เพราะเมื่อเรื่องของความตายไม่ใช่แค่การจากลา แต่กลายเป็นเรื่องของ “การเมือง” ที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันของผู้คนในสังคม ก้าวต่อไปของการคิดด้วยพลเมือง จึงไม่ใช่แค่การคิดเพื่อพลเมืองที่เรารับรู้และมองเห็นในโลกแห่งชีวิตที่เราอยู่เพียงอย่างเดียว แต่เรายังจะต้องคิดเพื่อพลเมืองที่อยู่ใน “โลกที่เรามองไม่เห็น” และเพื่อพลเมืองที่ “ถูกทำให้มองไม่เห็น” และเหมือน “ตายทั้งเป็น” ในสังคมด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะร่วมกันสร้างสังคมที่มนุษย์ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม ตราบจนกระทั่งในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตที่ทุกคนจะสามารถเลือกการตายที่ดีของตัวเองได้อย่างมีเกียรติและสมศักดิ์ศรี “ความเป็นมนุษย์” ที่คนคนหนึ่งควรจะได้รับจากสังคม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี