ศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง (วิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร) ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พานักเรียนร่วมกิจกรรมดำนา ซึ่งเป็น 1 ในหลักสูตรการเรียนการสอน (สาขาวิชามรดกศึกษา) เพื่อสร้างประสบการณ์และร่วมสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจากปราชญ์ชุมชน ต่อยอดความรู้ที่ได้นำไปปรับใช้จริงในอนาคต
วันนี้ (24 ก.ค.66) ครูและนักเรียนศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุวรรณสะนพ่อง (วิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร) บ้านสะเนพ่อง หมู่ 1 ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ร่วมกิจกรรมดำนากับชาวบ้านในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกิจกรรมเรียนรู้สำคัญ หนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอน สาขาวิชามรดกศึกษาที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องชุมชนของตนเอง เช่น ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของชุมชน วัฒนธรรม ภาษา ประเพณี วิถีชีวิต ธรรมชาติ องค์ความรู้เรื่องการทอผ้า ยาสมุนไพร เพื่อการอนุรักษ์ และการต่อยอดเพื่อนำไปปรับใช้ได้จริงในอนาคต
กิจกรรมดำนาในวันนี้เป็นการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ โดยมีคุณลุง คุณป้าที่เป็นชาวนาตัวจริงมาทำหน้าที่ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ความรู้ ในเรื่องการทำนา ตั้งแต่ขั้นตอนไถนา การเตรียมนา การปล่อยน้ำเข้านา การหว่านกล้า การดูแลต้นกล้า การถอนต้นกล้า ไปจนถึงขั้นตอนการนำต้นกล้ามาดำลงไปในนาที่เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว
บรรยากาศการเรียนรู้ที่มีทุ่งนาเป็นห้องเรียน มีลุง คุณป้า เป็นคุณครู มีน้ำและโคลนให้ได้เหยียบย่ำ สร้างความสนุกและรอยยิ้มให้กับเด็กๆทุกคน แม้อากาศจะร้อนแต่ลมชายทุ่งที่พัดหอบเอาความชื้นจากชายป่ารอบๆที่นา ก็ช่วยคลายร้อนและสร้างความสุข เรียกเสียงหัวเราะจากเด็กๆได้ เป็นภาพที่ทำให้คุณตา คุณยาย คุณลุง คุณป้า และเพื่อนบ้านที่มาร่วมกันลงแขกดำนามีรอยยิ้ม มีความสุข ที่ได้เห็นลูกหลานในชุมชนมาร่วมสืบสานการทำนา(ดำนา) เนื่องจากปัจจุบันเด็กๆ น้อยคนที่จะสนใจที่จะเรียนรู้ เนื่องจากมองการทำนามีความยากลำบาก ต้องรอฟ้าฝน ต้องตากแดดตากฝน เปื้อนโคลน บางปีได้ผลผลิตน้อย ไม่เพียงพอ ไม่คุ้มค่าหากจะยึดเป็นอาชีพ
นายชาญชัย สังขธิติ ครูศูนย์การเรียนศรีสุวรรณสะเนพ่อง เปิดเผยว่า กิจกรรมดำนาของเด็กๆในวันนี้เป็นหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนของศูนย์การเรียนฯสาขาวิชามรดกศึกษา ที่ต้องการให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนของตนเอง เช่นความรู้ด้านประวัติศาสตร์ชุมชน ประเพณี วัฒนธรรม ภาษา(กะเหรี่ยง) วิถีชีวิต ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ปกครองของนักเรียนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ความรู้ที่ได้รับในวันนี้นักเรียนสามารถนำไปปรับใช้ได้กับชีวิตจริง และจะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต
วันนี้ นอกจากได้รับการสอน การชี้แนะจากปราชญ์ชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ปกครองของเด็ก เด็กๆยังได้ลงมือทำจริง เมื่อกลับไปโรงเรียนนักเรียนยังต้องกลับไปร่วมกันถอดบทเรียนที่ได้จากการเรียนรู้ในวันนี้ว่าเด็กๆสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไรบ้าง โดยเขียนเป็นใบงานส่งครู เพื่อให้ครูใช้ประเมินความสัมฤทธิ์ของตัวนักเรียนต่อไป
ด.ญ.สุริยา สังขธิต และนายธันวา นันท์กาญจน์ นักเรียนศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง(วิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร) ร่วมเปิดเผยว่า รู้สึกดีใจ และสนุกที่ได้มาเรียนรู้การทำนา(ดำนา)ในวันนี้ต้องขอบคุณ คุณลุง คุณป้า ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่กรุณาและช่วยสอนวิธีการดำนา การดำนาต้องมีระยะห่างของแถวประมาณเท่าไหร่ ความลึกที่ต้องใช้มือกดรากของต้นกล้าลงไปในดินควรประมาณเท่าไหร่ จำนวนต้นกล้าที่จะใช้ดำนาต้องจำนวนเท่าไหร่
ทุกอย่างถ้าไม่รู้ก็จะไม่สามารถทำได้ ปกติที่บ้านพ่อแม่จะทำไร่ข้าว ซึ่งมีความแตกต่างกับการทำนา เนื่องจากไร่ข้าวไม่ต้องใช้น้ำ อาศัยเพียงน้ำฝนในธรรมชาติ การทำไร่มีความยุ่งยากและลำบากกว่าการทำนา เนื่องจากต้องคอยกำจัดหญ้าซึ่งเป็นวัชพืชด้วยวิธีการใช้มีดดายหญ้าแล้วนำไปทิ้งไว้ข้างๆไร่ อย่างน้อย 2-3 ครั้ง ตั้งแต่การหยอดข้าวจนถึงก่อนที่ข้าวจะเกี่ยวได้ แต่การดำนาไม่ต้องยุ่งยากแบบนั้น เพียงแค่ดูและควบคุมปริมาณน้ำภายหลังการดำนา ในอนาคตหากตนเองมีนาก็อยากจะทำ เนื่องจากคิดว่าความรู้ที่ได้ในวันนี้จะสามารถนำไปทำนาของตนเองได้ในอนาคต
นายวัชรพล สังขสุวรรณ นักเรียนชั้น ม.2 กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ตนเองได้มีโอกาสขับรถไถนา หลังจากที่ซุ่มดูการไถนาจากคุณลุงเจ้าของนา ตนและเพื่อนจึงขออาสาลองไถนาดู ซึ่งจากการที่ได้มีโอกาสลงมือทำก็เห็นว่าไม่ง่าย ต้องใช้แรง และเทคนิคในการบังคับรถไถ ที่สำคัญต้องรู้ขั้นตอนการไถเกลี่ยดิน จากที่สูงให้ตำลงมาอยู่ในระนาบเดียวกัน
โดยเริ่มด้วยการไถเปิดหน้าดินให้เป็นร่องน้ำ เพื่อให้น้ำสามารถไหลเข้าไป ก่อนไถตีดินให้ละเอียดให้เป็นโคลน เพื่อง่ายต่อการปักดำต้นกล้า ซึ่งวันนี้เป็นความรู้ใหม่ที่ได้จากการลงมือทำ โดยมีครูปัญญาท้องถิ่นช่วยสอน รู้สึกดีใจ และสนุกมากกับการเรียนในวันนี้ ดีกว่าการเรียนรู้ในห้องเรียน ที่สำคัญในอนาคตตนเองสามารถนำความรู้และเทคนิคการไถนาที่ได้ไปช่วยครอบครัวได้
นายสันติ สังขสุวรรณ เจ้าของที่นา และเป็นหนึ่งในครูภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทำหน้าที่ช่วยสอนเด็กๆในการไถนา และดำนา เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจที่วันนี้ได้มีโอกาสสอนเด็กๆซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของคนในชุมชน ที่สำคัญกว่าคือดีใจที่คุณครูเห็นความสำคัญของชาวนา และจัดการเรียนการสอนขึ้นมา เพราะปัจจุบันเด็กในชุมชนส่วนใหญ่ออกไปเรียนข้างนอก ทำให้ไม่มีโอกาสแบบนี้
โดยส่วนตัวตนเองรู้สึกเป็นห่วงว่าในอนาคตจะไม่มีคนรุ่นใหม่สนใจที่จะทำนา ทั้งที่ความเป็นจริงข้าวยังเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต กระแสโลกที่เปลี่ยนไปทำให้เด็กหันไปเรียนรู้วิชาการด้านอื่น มีน้อยคนที่สนใจจะเรียนรู้ด้านการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพที่สำคัญที่อยู่คู่ชุมชน และสังคมไทยมาแต่ครั้งอดีต หากไม่มีใครสนใจและเรียนรู้ ในอนาคตความรู้ต่างๆเหล่านี้ก็จะค่อยๆสูญหายไป เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ตนเองจึงรู้สึกดีใจที่ศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง วิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร เห็นความสำคัญและสร้างเป็นหลักสูตรให้เด็กได้เรียนรู้ เพื่อเป็นการสืบทอดและอนุรักษ์ต่อไปในอนาคต
สำหรับบ้านสะเนพ่อง หมู่ที่ 1 ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก เป็นผืนป่าที่องค์กรยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และมีมติคณะรัฐมนตรีประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษทางวัฒนธรรม เพราะประชากรส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มีลักษณะเฉพาะในการดำเนินชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรม ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับการเกษตร จึงมักประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรที่เน้นปลูกพืชเพื่อการบริโภคเท่านั้น ที่นี่นิยมปลูก ข้าว พริกกะเหรี่ยง กาแฟ ผลไม้ ยาสูบ เผือก เครื่องเทศ จำพวกสมุนไพรต่างๆ เป็นต้น - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี