ยังคงอยู่กับงานสัมมนา “Decoupling ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไทยได้หรือเสียประโยชน์” จัดโดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คําปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (โดยกลุ่มคลัสเตอร์ความสามารถในการแข่งขัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
หลังจากที่ฉบับก่อนหน้า (เสาร์ที่ 29 ก.ค. 2566)เป็นบทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยในยุคที่โลกแบ่งขั้วระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน
ส่วนฉบับนี้จะเป็นวงเสวนาหัวข้อ “การเตรียมรับมือกับการแยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐฯ กับจีน” โดยมีวิทยากรหลายท่านร่วมฉายภาพว่า เหตุใดจีนจึงใช้เวลาเพียงไม่กี่สิบปีพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนสหรัฐฯ ต้องหาทางสกัดกั้น อาทิ ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานหอการค้าไทยในจีน กล่าวถึงสิ่งที่ทำให้จีนมายืนอยู่ในจุดนี้ได้ นั่นคือ “จีนเป็นชาติที่ถ้าจะทำอะไรแล้วต้องทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง” โดยหากย้อนไปเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน หลายภูมิภาคยังถือเป็น “ตลาดใหม่”และจีนเดินหน้าเชื่อมต่อด้วยอย่างจริงจัง เช่น ทวีปแอฟริกา
“สมัยแรกๆ ผมไปอยู่เมืองจีน เห็นจีนไปเชื่อมกับแอฟริกา ทำแม้กระทั่งประชุมซัมมิทจีน-แอฟริกา ผมก็ไม่ค่อยเห็นภาพเท่าไร เชิญผู้นำ 51 ประเทศจากแอฟริกา มีแค่ 2 ประเทศไม่มา คนหนึ่งป่วยหนัก อีกคนมีสงครามกลางเมืองมาไม่ได้ แต่จากวันนั้นผ่านมา ความพยายามของเขา 20 ปี เขาผลิดอกออกผลเลย เขาเข้าไปเชื่อม วางแม้กระทั่งโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก สร้างโรงเรียน ทำโรงพยาบาล จนกระทั่งคนแอฟริกันพูดภาษาจีนได้
เรานี่หยุดไป เพราะเราทำอยู่ 4-5 ปี เราไม่ทำจริง อันนี้ผมคิดว่าเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำอะไรจริงจังและต่อเนื่อง ผมไม่เชื่อว่านักการเมืองที่เข้ามาในช่วงเวลาสั้นๆ จะรู้ลึกเท่าข้าราชการที่จับเนื้องานต่างๆ เหล่านั้นมาเป็นเวลาสิบๆ ปี เพียงแต่เราต้องชงเรื่องเหล่านี้ให้ผู้บริหารในเชิงนโยบายเห็นภาพต่างๆ เหล่านี้ แล้วก็โน้มน้าวให้เขาเชื่อ แล้วเกิดความเชื่อมั่นว่าการเดินหน้าตามทิศทางแบบนี้จะเป็นสิ่งที่ดี” รอง ปธ.หอการค้าไทยในจีน กล่าว
ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จีนพยายามมองหาตลาดใหม่ๆ เช่น เอเชียกลาง ซึ่งเป็นตลาดที่ต้องลงทุนก่อนเพื่อให้คนรุ่น
ต่อไปได้เก็บเกี่ยว แต่สิ่งที่จีนน่าจะได้ประโยชน์คือทรัพยากรน้ำมัน หรือที่ตะวันออกกลาง จีนเริ่มก่อร่างสร้างตัวที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ท่ามกลางทะเลทราย จนมีโกดังสินค้าขนาดใหญ่และสามารถขายส่ง (Wholesale) สินค้าในระดับย่อมๆ ได้ รวมถึงทวีปแอฟริกาก็เช่นกัน
“เคยปรารภกับหลายๆ ท่านว่าเวลานั่งเครื่องบินเหงานะเพราะมีคนไทยไม่กี่คน แต่จีนนี่เต็มลำเลย แล้วตอนนี้จีนก็ไปปักหลักเรียบร้อยแล้ว แล้วก็สร้าง Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน) เช่น ถนนหนทาง ท่าเรือ ที่ทำให้ในเรื่องของ Transportation Logistics (การขนส่งสินค้า) ดูดีขึ้น ไปตามนโยบาย Belt & Road Initiative (BRI-1 แถบ 1 เส้นทาง) ผมว่าจีนดูไม่มีอะไร แต่เขามีอะไรเยอะนะคือเขาทำอะไรแล้วเขาทำจริงสร้างจริง ฉะนั้น BRI ของเขาก็เกิดขึ้นแล้ว ตอนนี้สามารถเชื่อมไปถึงยุโรปแล้วและสามารถส่งเอเชียกลาง
อย่างไทยเราจะส่งไปอาเซอร์ไบจาน เป็นเดือนนะ มากกว่าเดือน 2 เดือนด้วยซ้ำไป ต้องไปผ่านดูไบ อิหร่าน แล้วค่อยเข้าอาเซอร์ไบจานที่บากู แต่จีนเขาไปทีเดียว ใช้รถไฟลากกันมาก็จบแล้ว อันนี้คือสิ่งที่ให้เห็นว่าเขาทำอะไรแล้วเขาทำจริง อันที่สองคือเขาเปลี่ยนขั้วการจับแล้วในเรื่องกลุ่มเศรษฐกิจการค้า ตัว BRICS นี่สำคัญไม่ว่าจะเป็นบราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) จีน (China) และแอฟริกาใต้ (South Africa) แอฟริกาใต้นี่บอกได้เลยว่า Demand (ความต้องการ) สูง และประเทศไทยยังละเลยตลาดนี้” ปธ.สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าว
วิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงเป้าหมายหนึ่งของจีน “Made in China 2025” (หรือ พ.ศ.2568) ว่า จีนตั้งเป้าหมายนี้ไว้ว่าต้องไม่ด้อยกว่า “Industry 4.0” ของเยอรมนี โดย Industry 4.0 นั้นไปไกลกว่าระบบอัตโนมัติ (Automation) เช่น เครื่องจักรที่สามารถเรียนรู้ได้ (Machine Learning) และเครื่องจักรที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้เอง (Cognitive Thinking)
โดยสิ่งที่เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถต่อยอดไปได้ อาทิ รถยนต์ไร้คนขับ โดยระบบของรถแต่ละคันจะสื่อสารและจัดระเบียบกันเองว่าจะแล่นอย่างไร นำไปสู่การแก้ปัญหาทั้งการจราจรติดขัดและอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งจีนเตรียมความพร้อมของเป้าหมายนี้มาตั้งแต่ปี 2015 (พ.ศ.2558) และนั่นทำให้สหรัฐฯ ต้องพยายามสกัดกั้นจีนและเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองเพื่อไม่ให้ด้อยกว่า อนึ่ง Industry 4.0 ของเยอรมนียังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม นั่นทำให้อุตสาหกรรมของจีนที่ต้องการพัฒนาให้ทัดเทียมเป้าหมายดังกล่าวก็ยกระดับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
“โรงงานผมอยู่ที่จีน เมื่อ 2010 (พ.ศ.2553) ไปอะไรก็ได้ไม่ค่อยซีเรียส ค่าแรงวันนั้นที่จีนเท่าเรา ถูกกว่าเรานิดหน่อย วันนี้ 13 ปีผ่านไป ค่าแรงจีนแพงกว่าเราเท่าตัว ไม่มีค่าแรงขั้นต่ำในประเทศจีนแล้ว ประเทศจีน Made in China โรงงานมาตรฐานสุขภาพ (Health) ความปลอดภัย (Safety) สิ่งแวดล้อม (Environmental) สูงมาก สูงกว่าประเทศไทย โรงงานผมในไทย ผมทำชิ้นส่วนยานยนต์พลาสติก มาตรฐานผมต้องสูงอยู่แล้วเพราะค้าขายกับฝรั่งและญี่ปุ่น แต่มาอยู่ในจีนมันคูณสอง (Double) ไปเลย
หมือนคนเยอรมันตั้งโรงงานในเยอรมนี ทุกอย่างต้องดีมาก เรื่องของความปลอดภัย เรื่องคน สวัสดิการคนสูงมาก ค่าแรงเป็น 2 เท่า แล้วก็จะมีคำว่า Made by Chinese อะไรที่อยู่ในจีนไม่ได้ก็ออกมาข้างนอก ไปอยู่ที่กัมพูชาบ้าง ไทยบ้าง อินโดนีเซียบ้าง โดยคนจีน และจีนก็ออกมาด้วยการมีแขนขาตามมาด้วย อย่างญี่ปุ่นมามี JETRO มา จีนมาเรื่องการเงินก็มี ICBC ตามมาปล่อยกู้ เวลาผมไปลุยเมืองจีนหัวเดียวกระเทียมลีบ ไม่มีอะไรเลย รัฐบาลให้กำลังใจอย่างเดียว อย่างอื่นไม่ได้ให้ ที่เหลือเราช่วยตัวเองหมดเลย” วิวรรธน์ กล่าว
อภิวัฒน์ ทองประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิสอัพ จำกัด ยกตัวอย่างข้างเคียงจีนคือ ไต้หวัน ในยุคแรกๆ ของการพัฒนายังเป็นอุตสาหกรรมแบบรับจ้างประกอบ จากนั้นพัฒนาไปสู่ด้านทำส่วนประกอบ (Component) เกิด TSMC ขึ้นในปี 2530 แล้วไปต่อเรื่องการสร้างแบรนด์ ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยควรทำคือ “ยกระดับจากการรับจ้างผลิต (OEM) เป็นรับจ้างออกแบบและผลิต (ODM) มีรูปแบบและเทคโนโลยีเป็นของตนเองแล้วขยับขยายไปสู่การสร้างแบรนด์ ซึ่งทำได้ไม่เฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่จะทำได้ก็ต้องพัฒนาคนและองค์ความรู้อย่างมาก
“ในหลายประสบการณ์ที่เราเจอในมหาวิทยาลัย หลายครั้งมีความตั้งใจอยากทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราก็ไปเริ่มที่มหาวิทยาลัย ประเด็นคือเรื่องนั้นมาไม่ต่อเนื่อง ท่านลองไปดูหลายสาขาในมหาวิทยาลัยที่เทรนมาแล้วนิสิต-นักศึกษาก็ไม่รู้จะไปทำงานที่ไหน เพราะสาขานั้นไม่พัฒนาต่อ ผมคิดว่าอันนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องมีแผนระยะยาว” อภิวัฒน์ กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี