“พิษสุราเรื้อรัง” ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายลักษณะของผู้มีอาการดังกล่าวไว้ว่า 1.มีความอยากหรือกระหายอย่างมากที่ต้องการจะดื่มสุรา คุมตัวเองไม่ได้ หมายถึงการที่ผู้ติดสุราพยายามจะเลิกสุราหลายครั้งหลายหน แต่ก็ทำไม่สำเร็จ 2.เมื่อห่างจากสุราจะมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก มือสั่น กระวนกระวายและอาการดังกล่าวมักจะหายไป เมื่อดื่มสุราหรือกินยานอนหลับ และ 3.อาการเหมือนดื้อยา คือ มีความต้องการดื่มสุราในขนาดมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะให้สุราออกฤทธิ์เท่าเดิม
นอกจากนั้นยังมีอีกคำหนึ่งคือ “การใช้สุราในทางที่ผิด” ซึ่งหมายถึง 1.ดื่มแล้วมีผลเสียต่องาน การเรียน หรือครอบครัว 2.ดื่มในสถานที่ที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น ขณะขับรถ ขณะทำงานกับเครื่องจักรกล 3.ดื่มแล้วทำให้มีปัญหาในด้านกฎหมาย เช่น ถูกตำรวจจับเพราะว่าเมาขณะกำลังขับรถ หรือทำร้ายคนอื่น และ 4.ดื่มแล้วทำให้มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและผู้อื่น
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการใช้สุราในทางที่ผิดหรือพิษสุราเรื้อรัง การดื่มในระดับนี้ส่งผลเสียทั้งต่อตนเองและผู้อื่น จึงต้องหาทาง “ลด-ละ-เลิก” การดื่มโดยหลายคนอาจทำได้ด้วยตนเอง แต่ก็มีอีกหลายคนที่ต้องอาศัย “ตัวช่วย” และหนึ่งในนั้นคือ “ชุมชน” เป็นกลไกสำคัญ รวมถึง “ศาสนา” อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คน ดังตัวอย่างจากวงเสวนา “สามประสานเพื่อสุขภาวะ..ทำได้อย่างไรในชุมชน” : รูปแบบธรรมนำทาง” ภายในงานแถลงข่าวถอดบทเรียนการช่วยเหลือผู้ติดสุราในชุมชนทำได้อย่างไร “วัด รพ.สต. ชุมชน..สามประสานเพื่อสุขภาวะ” เมื่อเร็วๆ นี้
งานดังกล่าวป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมฮักชุมชน ซึ่ง พระครูประทีป จันทรังษี เจ้าอาวาสวัดเกาะตาเถียร อ.เมือง จ.ตาก เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการมาทำงานช่วยเหลือคนในชุมชนลด-ละ-เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาจากการได้เห็นความเป็นไปในชุมชน เช่น“งานบวชงานหนึ่งเจ็ดวันหมดเงินไปแสนห้า”เมื่อสอบถามก็ทราบว่า “ค่าเหล้า-เบียร์กินไปแล้วแปดหมื่น” โดยก่อนหน้านั้น ทางวัดก็มีการเชิญชวนพุทธศาสนิกชนเข้าวัดปฏิบัติธรรมช่วง 3 เดือนในเทศกาลเข้าพรรษาอยู่แล้ว
พระครูประทีป เน้นย้ำความสำคัญของ “การทำงานเป็นเครือข่าย” ไม่ว่าพระสงฆ์ ชุมชน ผู้นำ และบุคลากรสุขภาพ รวมถึง “คนติดสุรา” ด้วย เพราะที่ผ่านมาสังคมมัก “ตีตรา” คนเหล่านี้เป็นเป็นพวกขี้เหล้า-ขี้ยา จึงไม่มีพื้นที่ ทำให้ทางวัดตัดสินใจ“เปิดพื้นที่” มีปัญหาอะไรก็ให้มาคุยกัน ทั้งนี้ “ในการทำงานใจต้องมาก่อนเงิน” หากใจมาแล้ว มีความเสียสละ มีการให้แล้ว เงินก็จะตามมาเองในภายหลัง แต่หากมองเงินเป็นตัวตั้งก็จะไปต่อไม่ได้
“อย่างน้อยๆ เราอย่าไปเอาเป็นตัวเกณฑ์ว่าต้องเลิกได้ทุกคน อย่างโครงการแรกเลิกได้ 1 คน แล้วพอเข้าพรรษาอาตมาดึงเขาเข้ามาลดได้อีก 3 เดือน คราวนี้เขาก็งดไปเลย นี่คือการเชื่อมโยงให้เขารู้จักคุณค่าชีวิตของตัวเอง แล้วมารุ่นที่ 2 อาตมาก็ทำอีก ก็ลด-ละ-เลิกได้ แล้วที่เลิกได้เลยขึ้นมาอีก 2 คน แล้วมารุ่นที่ 3 อาตมาก็มีเครือข่ายไปสู่หมู่บ้าน-ชุมชนอื่นอีก 1 ในตำบล นี่คือการทำงาน มันต้องขยายผล ไม่ใช่ว่าอยู่ที่ของเราเอง เราจะได้ประเมินได้ว่างานที่เราทำมันประเมินคุณค่าได้ว่า สิ่งที่เราทำนั้นมันขยายผลสู่ชุมชนอื่นได้” พระครูประทีป กล่าว
อุไรวรรณ ฐิติวัฒนากูล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ และผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โคกเทียม/ อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า แต่เดิม รพ.สต. ทำงานกับผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับที่เกิดผลกระทบอยู่แล้วและต้องเข้ารับการรักษาเนื่องจากมีอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับการดื่ม อาทิ มะเร็ง ตับแข็ง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และเป็นเพียงการดูแลแบบประคับประคอง กระทั่งได้มารู้จักสมาคมฮักชุมชน จึงได้เริ่มทำงานแบบเครือข่าย ณ วัดป่าก้าว และเห็นว่าสมาคมมาถูกทางแล้วในการจับมือกับชุมชนรวมถึงพระสงฆ์
“เราปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้วว่าผู้ที่มีปัญหาสุรา เกิดมาจากปัญหาด้านจิตใจ มีปัญหาด้านสุขภาพจิตหรือมีความเครียดต่างๆ พระท่านเองเป็นที่พึ่งทางจิตใจของชุมชนอยู่แล้ว และชุมชนเอง ทางผู้นำชุมชนเป็นผู้ที่อยู่ในชุมชนตลอดเวลา และสามารถติดต่อกับผู้ที่มีปัญหาสุราได้ตลอดเวลา รวมทั้งเป็นผู้ที่จะช่วยสนับสนุนดูแล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องอื่นๆ ของผู้ที่มีปัญหาสุรา จึงเป็นการเข้ามาร่วมมือที่ถูกทางแล้ว” อุไรวรรณ กล่าว
อภิรักษ์ ภูวงศ์ กำนันตำบลปอพาน อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม กล่าวว่า หน้าที่ของกำนันคือต้อง “บำบัดทุกข์-บำรุงสุข” ให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ ซึ่งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุราก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของผู้นำชุมชน จึงจำเป็นต้องเข้าร่วมกิจกรรม “สามประสานสามเหลี่ยมสุขภาพ” โดยใช้กระบวนการธรรมนำทาง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดีเพราะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข โดยทำโครงการที่วัดโพธิ์ชัย
“คณะกรรมการศูนย์ฮักชุมชน มีการเข้าอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะ องค์ความรู้ ในการที่จะนำผู้เข้ารับการบำบัดเข้ามาสู่กระบวนการอบรมใน 7 วัน 6 คืน มีการประชุมกันวางแผนแบ่งมอบหมายหน้าที่ภารกิจให้กับคณะกรรมการทุกคนได้มีส่วนร่วม พร้อมกับการนำชาวบ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน มาเป็นผู้สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมทำร่วมวางแผน และร่วมรับผิดชอบโครงการร่วมกัน” อภิรักษ์ กล่าว
กำนันตำบลปอพาน กล่าวต่อไปว่า หลังแบ่งหน้าที่กันแล้วก็มีการสำรวจข้อมูลจากอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งมีข้อมูลว่าแต่ละครัวเรือนมีใครดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ้าง และระดับการดื่มมาก-น้อยเพียงใด รวมถึงครัวเรือนใดมีคนสูบบุหรี่หรือยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เพื่อค้นหากลุ่มเป้าหมายในการชักชวน เข้ามาสู่กระบวนการบำบัด ผ่านบุคคลที่กลุ่มเป้าหมายแต่ละรายพร้อมจะรับฟัง เช่น ผู้ใหญ่บ้าน อสม. พระสงฆ์ รวมถึงคนในครอบครัว ตลอดจนนำปัญหาต่างๆ มาพูดคุยกันจนได้ข้อสรุป
พระจีรศักดิ์ ภูสะพาน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมธรรมนำทาง พื้นที่วัดบูรพาหนองบัว อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม เปิดเผยว่า ตนเองเป็นหนึ่งในผู้ที่เคยเข้ารับการบำบัดการติดสุรา จุดเริ่มต้นมาจากการได้ยินเสียงประกาศในหมู่บ้าน ขอให้คนที่ติดสุราเข้าร่วมกิจกรรมซึ่งจะไม่มีการตีตรา ซึ่งเวลานั้นยังเป็นฆราวาส จึงชวนเพื่อนในกลุ่มที่ดื่มด้วยกันเข้าร่วมกิจกรรม 7 วัน 6 คืน กิจกรรมเป็นการถือศีล 8 นุ่งขาวห่มขาว ทำวัตรสวดมนต์เหมือนกับพระภิกษุ “ในช่วงแรกๆ มีอาการสั่นอยากหนีออกจากวัดไปดื่ม แต่ก็เกรงใจพระอาจารย์” เพราะเวลานั้นจิตใจได้ถูกนำเข้าไปสู่ทางธรรมแล้ว
“ด้วยบุญบารมีของพระคุณเจ้า เป็นผู้นำที่ดี ก็เสนอว่าจะบวชให้ถ้าใครตั้งใจจริง ไม่มีปัจจัยไม่เป็นไร ก็อาศัยผู้นำหมู่บ้าน ทั้งพระสงฆ์องค์เจ้า ทั้งชาวบ้านที่เป็นญาติโยม เป็นเจ้าภาพร่วมกันเลย ผู้เข้ารับบำบัดที่เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ก็มีอยู่ 4 ท่าน เป็นระยะเวลาตั้งแต่วันที่บวชจนถึงเดี๋ยวนี้ก็คือ 8 เดือน 4 รูป ตอนนี้ก็ยังไม่คิดว่าจะสึก ก็อยู่ไปเรื่อยๆ เพราะสิ่งที่เราได้จากการหยุดดื่ม ที่เห็นได้ชัดเลยคือสุขภาพร่างกายของเราแข็งแรง” พระจีรศักดิ์ กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี