เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ได้มีโอกาสไปร่วมพิธีเปิด “โครงการถวายการดูแลสุขภาพให้กับพระภิกษุสงฆ์ สามเณรและผู้นำทางศาสนา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567” ณ ศาลาหลวง วัดภูเก็ต อำเภอปัว จังหวัดน่าน ก็เกิดความประทับใจ เป็นอย่างมากและมาตระหนักว่า ศาสนา (ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิกข์ ฯลฯ)ล้วนแล้วแต่เป็น พลังละมุน (Soft Power) ให้กับความอยู่รอดและความเจริญของชาติไทยเป็นอย่างมาก
ขณะนี้ประเทศของเรา อนาคตมิได้สดใสปราศจากภัยเหมือนแต่ก่อน เพราะมีภัยที่จะนำไปสู่การ “สิ้นชาติ” อยู่หลายรูปแบบ อาทิ
ภัยจากการต่อสู้ของมหาอำนาจรอบๆ ตัวเรา
ภัยจากการล่าอาณานิคมรูปแบบใหม่
ภัยจากความแตกแยกทางความคิดระหว่างคนต่างยุคต่างสมัย
ภัยจากสงครามกลางเมืองในประเทศเราเอง
ภัยจากการเมืองน้ำเน่า ด้วยการคอร์รัปชั่นและการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างพรรคการเมือง
ภัยจากความแตกต่างระหว่างชนชั้น
ภัยจากการถูกยึดครองทางเศรษฐกิจจากมิตรประเทศ
ภัยจากการขาดแรงงาน เนื่องจากประชากรลดจำนวน ฯลฯ
จึงเป็นหน้าที่ของชาวไทยทุกคน ที่จะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาข้างต้น เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยอย่างมั่นคงและสถาพร
พระภิกษุสงฆ์ สามเณร และผู้นำทางศาสนาทุกศาสนา ซึ่งมีต้นทุนทางสังคมสูงอยู่แล้ว จึงอาจเข้ามามีบทบาทในการช่วยให้คนไทย ชาติไทย และประเทศไทย โดยเฉพาะการใช้อำนาจละมุน (Soft Power) ที่มีอยู่อย่างมาก มาเกื้อกูลความมั่นคงของชาติไทย อย่างมีระบบ
โครงการถวายการดูแลสุขภาพให้กับพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และผู้นำทางศาสนา จัดขึ้นโดยมูลนิธิสมเด็จพระยุพราช “เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2567” หรือปีหน้า
ฯพณฯ พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และรองประธานคณะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ไปเป็นประธานในพิธีเปิดทางภาคเหนือครั้งนี้ ที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน
ภาพที่ 1
ประธานในพิธี ฯพณฯ องคมนตรี พลากร สุวรรณรัฐ และ ข้าราชการ สธ.,ข้าราชการจังหวัดน่าน และมูลนิธิ รพร.
หลังจากที่นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวต้อนรับ และเชิญประธานในพิธีกล่าวเปิด นายพลากร สุวรรณรัฐ ประธานในพิธีจึงได้กล่าวเปิด และเล่าถึงพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเห็นว่า การศึกษามาเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มาบริหารและมาพัฒนาประเทศ จึงได้มีทุนการศึกษาโดย ก.พ., ทุนเจ้าฟ้ามหิดล, ทุนอานันทมหิดล และทุนอื่นๆ อีกจำนวนไม่น้อย แต่สำหรับผู้นำทางศาสนายังไม่มี พระองค์จึงได้ทรงริเริ่มตั้ง “โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย” ขึ้น เพื่อส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์ไทยโดยพระราชทานทุนการศึกษา ได้แก่ ทุนบาลีชั้นสูงและทุนระดับอุดมศึกษา ด้านพุทธศาสตร์ ที่ผ่านเกณฑ์ของโครงการฯ และของสถานศึกษาสงฆ์ ประกอบด้วย สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ สืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการฯ นี้ ยิ่งขึ้นไปอีก ทรงได้พระราชทานทุนอบรมเพิ่มเติม 3 หลักสูตร ได้แก่1.การอบรมพระนักเทศน์ 2.การอบรมพระวิปัสสนาจารย์ 3.การอบรมพระธรรมจาริก
สำหรับผู้นำทางศาสนาที่มาร่วมในพิธีถวายการดูแลสุขภาพ นอกจากจะมีพระภิกษุสงฆ์หลายร้อยรูปแล้ว ยังมีบาทหลวงของศาสนาคริสต์อีกหลายสิบท่าน รวมทั้งพุทธศาสนิกชน และคริสต์ศาสนิกชนอีกหลายร้อยคน มาร่วมพิธีด้วย ซึ่งได้รับทราบว่า หากมีการเปิดโครงการในภาคใต้แล้ว ก็จะมีผู้นำทางศาสนาอิสลาม และศาสนาอื่นๆ มาร่วม และเข้ารับการดูแลสุขภาพด้วยเช่นกัน
หลังจากประธานกล่าวเปิดงานแล้ว พระเทพเวที เจ้าคณะภาค 6 ซึ่งมีความอาวุโสสูงสุดในหมู่ผู้นำทางศาสนา ได้รับเชิญให้ขึ้นมากล่าวตอบ ซึ่งท่านก็ได้กล่าวสัมโมทนียกถาถึงบทบาทของพระสงฆ์ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ว่า คณะสงฆ์มีพันธกิจอยู่ 6 ประการ ได้แก่
1.ด้านการปกครองคณะสงฆ์ 4.ด้านสาธารณูปการทางศาสนา
2.ด้านการศาสนศึกษา 5.ด้านการศึกษาสงเคราะห์
3.ด้านการเผยแผ่ 6.ด้านการสาธารณะสงเคราะห์
ซึ่งพันธกิจในข้อ 5 และข้อ 6 เป็นภารกิจช่วยชุมชน เพราะพระสงฆ์มีต้นทุนทางสังคมสูงอยู่แล้ว จึงต้องช่วยสังคมด้านการศึกษาและการสงเคราะห์เมื่อมีภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ไฟไหม้ วาตภัย เกิดขึ้นในชุมชน
การเปิดโครงการดูแลสุขภาพผู้นำทางศาสนา ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชครั้งนี้ จึงเป็นการช่วยให้ผู้นำทางศาสนา สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อชุมชนได้ดียิ่งขึ้น โดยการมีสุขภาพที่ดี
ภาพที่ 2
บรรยากาศในห้องพิธีคณะบาทหลวงในศาสนาคริสต์ และคณะสงฆ์แห่งศาสนาพุทธ
อย่างไรก็ดี โดยที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในภัยอันตรายหลายรูปแบบ ดังที่ได้กล่าวมาตอนต้น ผู้เขียนก็มิอาจหาญกล้าเสนอให้คณะสงฆ์ ไปทำหน้าที่แก้ปัญหาชาติบ้านเมือง ที่มิได้อยู่ในหน้าที่ของคณะสงฆ์ แต่อยู่ในหน้าที่ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจ ได้แก่ สส., สว. ข้าราชการการเมือง ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการตำรวจทหาร ข้าราชการตุลาการ ฯลฯ และพนักงานของรัฐทุกคน ซึ่งกำลังใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ แทนปวงชนชาวไทยอยู่ในขณะนี้
แต่ก็ยังมีปัญหาของชาติ บางประการที่คณะสงฆ์อาจปฏิบัติได้ โดยสอดคล้องกับหน้าที่ของคณะสงฆ์ ตามพันธกิจที่มีอยู่ 6 ประการข้างต้น ซึ่งหากปฏิบัติแล้วก็จะทำให้ได้ “พลังใหม่” มาร่วมสร้าง “ชาติไทย” ให้เจริญก้าวหน้าและอยู่รอดตลอดไป
คอลัมน์นี้ ได้เคยกล่าวถึง บทบาทของศาสนา เพื่อที่จะได้ “พลังใหม่” มาร่วมสร้างชาติ ทั้งนี้เพราะประเทศเราเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มตัวแล้ว ประชากรเกิดใหม่ น้อยกว่าประชากรที่จากไปไม่กลับของแต่ละปี ดังนั้นหากไม่มีแรงงาน จากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เขมร เมียนมา เข้ามาทำงานประมง งานตามโรงงานอุตสาหกรรมส่งออก งานตามสวนผลไม้และไร่นา และตามธุรกิจร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม นับล้านคน ตาม MOU ที่ไทยเราทำไว้กับประเทศเพื่อนบ้านทั้งสาม เศรษฐกิจของเราก็จะล้มทั้งยืน GDP จะลดลงอย่างมหาศาล การจะก้าวเข้าสู่ความเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ก็จะห่างออกไปเกินเอื้อม
อย่างไรก็ดี เราก็คงตระหนักดีว่า แรงงานและคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย แบ่งได้เป็นสองประเภท
ประเภทแรก เป็นผู้มีเงินมาเกษียณอายุ หรือ เป็นผู้มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีที่ประเทศเราต้องการ หรือ เป็นผู้ที่มาลงทุนทำธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ที่รัฐบาลสนับสนุน พวกนี้จะเป็นผู้มีการศึกษามาดีพอสมควรแล้ว
ประเภทที่สอง เป็นผู้มาใช้แรงงานที่เราขาดแคลน ทำให้เรามีสินค้าส่งออก มีอาหารสำเร็จรูป ผลไม้และข้าวส่งขายต่างประเทศ
ทั้งนี้ เราจะไม่นับผู้ที่เข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมายหรือมาทำธุรกิจสีเทา ที่ทำให้ข้าราชการประจำของไทย จำนวนไม่น้อย ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนธุรกิจผิดกฎหมาย ถูกสั่งให้ออกจากราชการไปแล้วจำนวนไม่น้อย
แต่การรับผู้อพยพเข้าเมือง เข้ามาเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นภัยต่อการ “ดำรงอยู่” ของชาติไทย ชาวไทย เพราะมีโอกาสจะถูก “กลืนชาติ” ได้
แต่อีกมุมมองหนึ่ง การมีผู้อพยพเข้าเมืองไม่ว่าจะเป็นประเภทที่หนึ่ง หรือ ประเภทที่สองจำนวนมากก็อาจจะเป็นการได้ “พลังใหม่” เข้ามาช่วยสร้าง “ชาติไทย”ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม หากเรามีนโยบายที่ดีพอ มีแผนดำเนินการที่มีความต่อเนื่อง และปลอดคอร์รัปชั่น ทั้งจากผู้ใช้อำนาจบริหาร (รัฐบาลและข้าราชการประจำ จากฝ่ายนิติบัญญัติ และจากฝ่ายตุลาการ)
เมื่อไม่มีรัฐบาลใดในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentarian Democracy) จะมีเวลา ความซื่อสัตย์สุจริต เสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง มาทำแผนยุทธศาสตร์ยากๆ ใช้เวลานาน มิให้ชาติไทยถูกกลืนชาติ โดยกำหนดนโยบายและทำแผนปฏิบัติ เปลี่ยนผู้อพยพเข้าเมือง ให้เป็นพลังใหม่ ที่จะเข้าร่วมสร้างชาติไทย ให้เจริญก้าวหน้าเท่าเทียม อารยประเทศต่อไป
ภาพที่ 3
พระเทพเวที เจ้าคณะภาค 6 ประธานฝ่ายผู้นำทางศาสนา
ในสมัยก่อน พระราชาธิบดี ผู้มีอำนาจสูงสุด สามารถทำได้ เพราะพระปรีชาชาญและความมีเสถียรภาพ ของการใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสาม (อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ)
เราจึงได้เห็น พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา สืบต่อมารัชกาลที่ 3, 4, 5, 6, จนถึงรัชกาลปัจจุบันซึ่งเป็นระยะที่มีแรงงานจากประเทศจีน อินเดีย อิหร่าน มอญ เมียนมา ญวน และฝรั่ง ที่มาพำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก นโยบายสร้างความกลมกลืนในชาติ (assimilation policy) จึงได้ทำให้ผู้อพยพเข้าเมืองเหล่านี้ กลายเป็น “ชาวไทย” เป็นพลังใหม่ในการสร้าง “ชาติไทย” ปัจจุบันขึ้นมา
และในสมัยที่เรามีการปกครองที่มีการลิดรอนอำนาจของพระมหากษัตริย์ไปมาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ดูแลชาวเขาและผู้อพยพเข้าเมือง ให้กลายเป็นพลเมืองของไทย คนไทย ที่รักชาติไทย ร่วมสร้างชาติไทยได้อย่างเป็นที่ประจักษ์
เมื่อสภาพปัจจุบัน มิได้เป็นเช่นนั้นแล้ว เราในฐานะเป็นคนไทย มีประเทศไทยเป็นบ้านเกิด เป็นเมืองนอนเราก็ควรที่จะต้องพึ่งตนเอง เพื่อหาทางมิให้ชาติไทยถูกกลืนชาติ จากผู้อพยพเข้าเมืองทั้งสองประเภท แต่ช่วยกันสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเขาเหล่านั้น ให้เขากลายมาเป็น คนไทย มาร่วมกันสร้างชาติไทยเช่นในอดีตในสมัยที่บูรพมหากษัตริย์ของเราได้ทรงทำไว้
สถาบันแรก (ที่มิใช่รัฐบาล) ที่พอจะเป็นที่พึ่งและเป็นผู้นำได้ ก็น่าจะได้แก่ผู้นำทางศาสนา ทุกศาสนาที่อยู่ในประเทศไทย มาเป็นเวลาช้านาน ด้วยความสงบสุขซึ่งอาจใช้ พลังละมุน (Soft Power) ของแต่ละศาสนามาช่วยให้ ผู้อพยพเข้าเมืองทั้ง 2 ประเภท โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวหลายล้านคน กลายมาเป็น “พลังใหม่” ของประเทศไทย ในยุคสังคมสูงวัย ได้ดังต่อไปนี้ เช่น
1.เปิดการสอนหลักธรรมของแต่ละศาสนา แก่แรงงานต่างด้าว ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับ วัดของศาสนาพุทธ โบสถ์คริสต์ของศาสนาคริสต์ สุเหร่าของศาสนาอิสลาม โบสถ์ของฮินดูและซิกข์ ของผู้นับถือศาสนาฮินดูและซิกข์
เพราะทุกศาสนาย่อมสอนให้ทุกคนเป็นคนดี มีศีลธรรมทั้งนั้นอนึ่ง การเปิดสอนหลักธรรมให้แก่เขาเหล่านั้น ย่อมทำให้เขาเป็นพลเมืองดี ของประเทศไทยในอนาคต
ผู้นำทางศาสนาทุกศาสนา ย่อมมีความสามารถในเรื่องนี้อยู่แล้ว
2.เปิดการสอนภาษาไทย แก่แรงงานต่างด้าว และผู้อพยพเข้าเมือง ให้ได้ร่ำเรียนภาษาไทย ทั้งอ่าน และเขียน (จนได้ระดับ ป.4 ซึ่งต่อไปน่าจะเป็นระดับมาตรฐาน ของแรงงานต่างด้าวที่จะได้รับสัญชาติไทย)
ผู้นำทางศาสนาของทุกศาสนา ย่อมมีความสามารถในเรื่องนี้อยู่แล้ว
3.การสอดแทรกการสอนวัฒนธรรมไทย ประวัติศาสตร์ไทย ประเพณีไทยประเพณีฆราวาสที่มีต่อนักบวชในทุกศาสนาย่อมทำให้แรงงานเหล่านั้น มีความเคารพและชื่นชมในความเป็นไทย ซึ่งย่อมจะกลายเป็นคนไทยที่ดีในอนาคต
ผู้นำทางศาสนาของทุกศาสนา ย่อมมีความสามารถในเรื่องนี้อยู่แล้ว
4.หากมีสถานที่ว่างพอ ก็จัดให้มีการเล่นกีฬาร่วมกันระหว่างลูกศิษย์วัด มัคนายก กับ แรงงานต่างด้าว เช่น กีฬา ตะกร้อ ปิงปอง แบดมินตัน ตั้งเตเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ระหว่างคนไทยปัจจุบัน กับผู้ที่จะเป็น “พลังใหม่” ให้แก่เมืองไทย ให้รักที่จะเป็นคนไทย รักความเป็นไทย
5.จัดงานบุญต่างๆ ในวัด โบสถ์ หรือ อาณาบริเวณของศาสนา เช่น ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ก่อสร้างเจดีย์ทราย และงานสำคัญทางศาสนา ของศาสนาต่างๆ ในประเทศ
เชื่อว่า ผู้นำทางศาสนาในประเทศ คงจะทำได้เพราะเราอยู่ร่วมกันมาได้อย่างมีสันติสุข แม้แต่การมีโครงการถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ในการถวายการดูแลสุขภาพให้แก่พระภิกษุสามเณร ก็ยังครอบคลุมไปถึงผู้นำทางศาสนาทุกศาสนาด้วยเป็นจำนวนถึง 72,000 รูป/ท่าน
ศรีภูมิ ศุขเนตร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี