“1,810 กิโลเมตร” เป็นระยะทางของชายแดน “ไทย-ลาว” ซึ่งทั้ง 2 ประเทศถูกคั่นกลางด้วย “แม่น้ำโขง” แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคในการเดินทางข้ามไป-มาของผู้คน จากในอดีตที่มีเพียงเส้นทางเรือข้ามฟาก ปัจจุบันยังได้เพิ่มเส้นทางบกจากการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง หรือสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เส้นทางเหล่านี้ถูกใช้ทั้งเพื่อการค้าขาย การเคลื่อนย้ายแรงงาน ไปจนถึงการที่คนจาก สปป.ลาวข้ามฝั่งมาใช้บริการสุขภาพที่ประเทศไทย
ในงานเสวนาวิชาการอาเซียนศึกษา เนื่องในวัน“ASEAN Day” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.ดร.กีรติพร จูตะวิริยะ ประธานคณะกรรมการบริหารวิชาเอกสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สาขาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมบรรยายหัวข้อ “การใช้บริการสุขภาพข้ามแดนของชาวลาวในประเทศไทย”ยกตัวอย่างชายแดนไทย-ลาว บริเวณ จ.หนองคาย-กรุงเวียงจันทน์ ซึ่งมีความพิเศษเนื่องจากเมืองทั้ง 2 ใกล้กันมาก จึงมีการข้ามไป-มาอย่างมากด้วย เพราะไม่ต้องเดินทางไกลเหมือนเมืองชายแดนไทย-ลาวจุดอื่นๆ
สำหรับการเดินทางเข้ามาประเทศไทยชองชาวลาวเพื่อใช้บริการสุขภาพนั้น จะผ่าน จ.หนองคาย โดยมีปลายทางอยู่ที่ จ.อุดรธานี ซึ่งใช้เวลาเดินทางเพียงราวๆ 2 ชั่วโมงเท่านั้น หรืออาจเดินทางต่อมาถึง จ.ขอนแก่น โดยผู้ที่ใช้ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) รวมถึงตามห้างสรรพสินค้าและโรงพยาบาลขนาดใหญ่ จะคุ้นชินกับรถยนต์ติดป้ายทะเบียน สปป.ลาว เป็นอย่างดี โดยชาวลาวนิยมเข้ามาใช้บริการฉีดวัคซีน ฝากครรภ์และคลอดบุตร
“อยากจะให้เห็นการปรับตัวของโรงพยาบาลของรัฐไทย ที่เปิดโอกาสให้ชาวลาวเข้ามาใช้บริการสุขภาพได้ ตรงนี้เป็นศูนย์บริการสุขภาพชาวต่างชาติซึ่งผู้ใช้บริการร้อยละ 80 คือ ชาวลาว อยู่ในบริเวณ จ.หนองคาย ก็มีการปรับตัวเพื่อให้ชาวต่างชาติมาใช้บริการได้ ก็จะมี 3 ภาษา ไทย-อังกฤษ-ลาวที่จะอธิบายและช่วยอำนวยความสะดวกชาวลาวที่มาใช้บริการในบริเวณพื้นที่เหล่านี้ได้ง่ายขึ้น จัดอำนวยความสะดวก มีพื้นที่นั่งรอรับบริการเหมือนกับโรงพยาบาลเอกชน อันนี้คือการปรับตัวของโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งปกติเราจะไม่ค่อยเห็นโรงพยาบาลรัฐที่มีบริการแบบนี้
เราจะเห็นความแออัดยุ่งเหยิงวุ่นวาย แต่โรงพยาบาลแห่งนี้ได้ปรับตัวและสร้างพื้นที่ใหม่ที่จะรองรับผู้ใช้บริการต่างชาติเท่านั้นที่มาใช้บริการในพื้นที่โรงพยาบาล ซึ่งก็มองว่าเป็นการปรับตัวของโรงพยาบาลรัฐแบบใหม่ที่เปิดโอกาสให้กับชาวต่างประเทศโดยเฉพาะคนลาวเข้ามาใช้บริการได้ง่ายขึ้น เราจะเห็นตัวอย่างง่ายๆ เอกสารแนะนำการใช้บริการสุขภาพในโรงพยาบาลที่หนองคาย จะมีแพ็กเกจให้เลยซึ่งอำนวยความสะดวกเป็นภาษาลาว จะเป็นแพ็กเกจแบบได้ สแตนดาร์ด วีไอพี หรือว่าเลือกเฉพาะ ก็มีสนนราคาตามการใช้บริการ” ผศ.ดร.กีรติพร กล่าว
ตัวอย่างการมองเห็นโอกาสของโรงพยาบาลในประเทศไทยในการเปิดให้ชาวลาวเข้ามารับบริการสุขภาพ เกิดขึ้นทั้งของรัฐและเอกชน โดยในส่วนของ จ.อุดรธานี โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีป้าย 2 ภาษา คือไทยกับลาวเท่านั้นไม่มีภาษาอังกฤษ หรือโฆษณาว่าเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของลุ่มน้ำโขง รวมถึงห้องพักผู้ป่วยและญาติที่ดูหรูหราไม่ต่างจากโรงแรม หรือโรงพยาบาลที่มีป้าย 3 ภาษา หากสังเกตจะพบว่าภาษาลาวอยู่ในลำดับที่ 2 หลังภาษาไทย แต่ก่อนภาษาอังกฤษ ซึ่งสะท้อนภาพการให้ความสำคัญอย่างมากกับลูกค้าชาวลาว
ขณะที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก มข. มากนัก ก็มีโครงการขยายพื้นที่โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รองรับผู้ป่วยได้มากถึง 5,000 เตียง (ไม่นับผู้ป่วยนอกที่มารับบริการแบบไม่นอนโรงพยาบาล) และมีอาคารแยกเฉพาะพร้อมที่จอดรถสำหรับเน้นให้บริการชาวต่างชาติ แน่นอนว่าส่วนใหญ่คือชาวลาว
“เราไม่ได้มองการข้ามแดนแบบเดิมๆ อีกต่อไป เราจะเห็นว่าภาพเดิมๆ จินตนาการที่เราเคยมีกับการใช้บริการสุขภาพข้ามแดน ป่วย-เจ็บ-จน ขาดแคลนแบบเดิมๆ เริ่มหายไป เราจะเห็นอำนาจการต่อรองของผู้ใช้บริการสุขภาพชาวลาวเริ่มเกิดขึ้นมา มีการปรับตัวของโรงพยาบาลที่จะทำอย่างไรให้ผู้ใช้บริการเหล่านี้สะดวกสบายมากขึ้น ดึงให้เขาเข้ามาใช้บริการ แล้วก็ไม่ได้บอกว่าเขาเป็นภาระแบบเดิมๆ เรามีงานศึกษาที่ผ่านมา
จะพูดถึงการใช้บริการสุขภาพข้ามแดนว่ามันเป็นภาระ เป็นสิ่งที่รัฐไทยจะต้องแบกรับ
ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ชายแดนที่ได้ศึกษา พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นพื้นที่แห่งโอกาส แล้วก็เกิดการปรับตัว เกิดการเคลื่อนไหลของผู้คนที่เข้ามาใช้บริการมากขึ้น เราจะเห็นการเติบโตของโรงแรมโดยรอบของโรงพยาบาลเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลที่อยู่บริเวณหนองคาย อุดรธานีหรือขอนแก่น โรงพยาบาลเหล่านี้ก็จะมีอพาร์ทเมนท์หรือโรงแรมไปเปิดอยู่ใกล้ๆ บริเวณนั้น ซึ่งผู้พักส่วนใหญ่ก็เป็นญาติหรือผู้ที่พาผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการสุขภาพ” ผศ.ดร.กีรติพร ระบุ
ภาพที่เห็นในการเดินทางของชาวลาวเข้ามารับบริการสุขภาพในประเทศไทย จะเป็นในลักษณะที่เรียกว่า “การท่องเที่ยวในมิติสุขภาพ” ร่วมด้วย เช่น ชาวลาวเดินทางเข้ามาทำฟันใน จ.อุดรธานี มักต้องพักค้างคืนอย่างน้อย 1 คืน แน่นอนว่าต้องมีการจับจ่ายซื้อสินค้า ซึ่งเมื่อมารับบัตรคิวแล้วหากพบว่ายังมีเวลาเหลือมากพอสมควร ผู้รับบริการสามารถออกไปช็อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าใกล้เคียงได้เลย โดยที่ทางโรงพยาบาลจะแจ้งเตือนให้ทราบเมื่อใกล้ถึงคิวแล้ว ขณะที่รถยนต์ของชาวลาวก็จะทำพาสปอร์ตสำหรับนำยานพาหนะข้ามแดนไว้ด้วยเพื่อความสะดวก
โดยสรุปแล้ว การมาของชาวลาวเพื่อรับบริการสุขภาพและท่องเที่ยวในไทย กลายเป็นสิ่งที่ชาวไทยในหลายจังหวัดคุ้นเคย เนื่องจากชาวลาวเหล่านี้สามารถใช้ภาษาไทยได้และเข้าใจวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างดี เพราะโดยปกติชาวลาวก็นิยมเสพสื่อจากฝั่งไทยอยู่แล้ว ซึ่งการที่ชาวไทยกับชาวลาวสามารถสื่อสารกันได้เข้าใจ ทำให้ไม่เกิดความยุ่งยากในการเดินทางอย่างชายแดนด้านอื่นๆ ของ สปป.ลาว เช่น ชายแดนลาว-เมียนมา หรือลาว-เวียดนาม แต่อีกด้านหนึ่ง “ปรากฏการณ์นี้กระทบต่อการใช้บริการสุขภาพของประชาชนคนไทยหรือไม่”ก็เป็นคำถามน่าคิด
“ในฐานะคนในพื้นที่เราอาจจะมองว่ามันคือโอกาส แต่ในอีกมิติหนึ่งถ้ามองในเชิงนโยบาย เราเสียโอกาสด้วยหรือเปล่า?
เพราะระบบการใช้บริการสุขภาพนั้นหลายคนก็มองในเชิงของยุทธศาสตร์ความมั่นคงว่าเราควรจะเก็บไว้ให้บริการกับชาวไทยสิ! ชาวไทยยังขาดโอกาสอยู่ แล้วกลุ่มอื่นที่เขาเข้ามารับบริการนั้นเขาจะเบียดบังเราด้วยหรือเปล่า? อันนี้ก็เป็นข้อถกเถียงที่สำคัญที่พูดถึงกันในเชิงนโยบาย ว่าเราจะมีนโยบาย วิธีการและมุมมองอย่างไรในเรื่องของการมองการให้บริการสุขภาพข้ามแดน”ผศ.ดร.กีรติพร กล่าวในตอนท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี