ยังคงอยู่กับงานเสวนาเรื่อง “ประวัติศาสตร์การสร้างชาติอินเดียและจีน : ข้อคิดสำหรับประเทศไทย” จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (ฉบับวันเสาร์ที่ 12 ส.ค. 2566) เป็นการเล่าถึงประวัติศาสตร์การสร้างชาติประเทศอินเดียตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ส่วนครั้งนี้จะเป็นเรื่อง “จีน” อีกหนึ่งประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี และยังคงอยู่ในสถานะมหาอำนาจ ณ ปัจจุบัน
อรชร แซ่จาง อาจารย์ประจำสำนักวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉายภาพ “จีนใหม่” ซึ่งหมายถึงการเกิดขึ้นของ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ในปี 2492 โดยจีนนั้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากระดับหลักพันล้านคน แผ่นดินมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก มีทั้งหมด 56 กลุ่มชาติพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 เป็นชาวฮั่น
ประวัติศาสตร์จีนยาวนานหลายพันปีโดยมีหลายราชวงศ์ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปกครอง กระทั่งถึงยุคสุดท้ายคือราชวงศ์ชิง ซึ่งก็ไม่ใช่ชาวฮั่นแต่เป็นชาวแมนจู กระทั่งในช่วงศตวรรษที่ 19 (ปี 2343-2442) จีนถูกท้าทายโดยชาติตะวันตก เช่น “สงครามฝิ่น” ซึ่งจีนยุคราชวงศ์ชิงพ่ายแพ้
ต่ออังกฤษจนต้องยอมยกเกาะฮ่องกงให้อังกฤษปกครอง รวมถึงต้องเปิดท่าเรืออีกหลายแห่งรองรับ และคนในบังคับของอังกฤษก็ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายจีน เป็นต้น
นอกจากอังกฤษและมหาอำนาจตะวันตกชาติอื่นๆ แล้ว ในเวลาต่อมา ชาติฝั่งตะวันออกอย่าง ญี่ปุ่น ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เข้ามารุกรานจีน แผ่นดินจีนหลายส่วนถูกตัดแบ่งให้กับชาติเหล่านั้น ถึงขั้นที่ชาวจีนมีคำเรียก “ยุคสมัยแห่งความอัปยศ (Century of Humilation)” หมายถึงช่วงปี ค.ศ.1840-1945 (พ.ศ.2383-1488 นับตั้งแต่เกิดสงครามฝิ่นกับอังกฤษ-สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2) ชาวจีนในเวลานั้นถูกเหยียดหยามว่าเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” ขณะเดียวกันยังมีสงครามกลางเมืองภายในจีน ตั้งแต่ช่วงปลายราชวงศ์ชิงจนถึงหลังสิ้นสุดยุคราชวงศ์ไปแล้ว
ไล่ตั้งแต่ “การปฏิวัติซินไห่” ในปี 2454 แม้จีนจะเข้าสู่ระบบการปกครองแบบใหม่แทนยุคราชวงศ์ แต่ “พรรคก๊กมินตั๋ง” ที่ตั้งขึ้นในอีก 1 ปี ให้หลังและเป็นรัฐบาลขณะนั้นก็ไม่ได้มีอำนาจทั่วทั้งแผ่นดิน บรรดาหัวเมืองที่ห่างไกลออกไปถูกปกครองโดยขุนศึกท้องถิ่น แต่อีกด้านหนึ่ง เหตุการณ์ปฏิวัติในรัสเซีย นำไปสู่การใช้ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ปกครองและเปลี่ยนชื่อเป็นสหภาพโซเวียต ก็ได้ทำให้ชาวจีนจำนวนไม่น้อยที่มีความทรงจำไม่ดีกับชาติตะวันตกเริ่มคิดว่า จีนอาจไม่จำเป็นต้องเดินตามตะวันตกที่ปกครองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยก็ได้
ในปี 2468 เมื่อ ซุน ยัดเซ็น ผู้นำการปฏิวัติซินไห่และเป็นผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งเสียชีวิต เจียงไคเช็ค ได้ขึ้นสู่อำนาจเป็นผู้นำคนต่อมาของพรรค อีกด้านหนึ่ง พรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2464 เริ่มขยายอิทธิพลมากขึ้น โดยเฉพาะในปี 2470 เมื่อผู้นำพรรคอย่าง เหมาเจ๋อตง เน้นทำงานมวลชนกับกลุ่มเกษตรกรตามยุทธศาสตร์ “ชนบทล้อมเมือง” พร้อมไปกับการสร้าง “กองทัพปลดแอกประชาชน” ของพรรคขึ้น
“ก๊กมินตั๋งจริงๆ คนที่มารวมส่วนมากจะเป็นปัญญาชนเป็นคนที่อยู่ในเมือง เป็นคนที่มีความรู้ ฉะนั้นเหมาไม่สามารถเจาะกลุ่มนี้ได้แล้ว เหมาก็จะเจาะอีกกลุ่มหนึ่งแทนก็คือเป็นชาวนา เป็นชนชั้นแรงงานที่อยู่ภายนอก ก็ใช้วิธีนี้สร้างกองทัพขึ้นมา เราจะเห็นว่าปัจจุบันกองทัพของจีน กองทัพปลดแอกประชาชน มีความสำคัญมากเพราะเป็นกลุ่มคนที่สู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับเหมา เจ๋อตง ในการสร้างชาติจีนขึ้นมา
ในตอนแรกพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ได้มีกำลังทหารที่ดีพอจนเกือบจะล้มไปแล้วด้วยซ้ำ แต่ก็พยายามต่อสู้กันเรื่อยมา จุดเปลี่ยนสำคัญอันหนึ่งคือการเดินทัพไกล (Long March) เป็นการแสดงออกถึงศักยภาพ ถึงความสามารถของเหมา เจ๋อตง ในการที่จะเดินสามร้อยกว่าวันจากภาคใต้ขึ้นไปสู่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ก็เป็นการทำให้ทุกคนได้เห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์คือใคร มีนโยบาย มีสิ่งที่อยากทำอะไรบ้าง ก็ค่อยๆ สะสมสมาชิกไปเรื่อยๆ ก็เป็นจุดเปลี่ยนครั้งที่ 1ที่ทำให้มีประชาชนเริ่มให้ความสนใจ” อาจารย์อรชร กล่าว
สงครามกลางเมืองในจีนระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ ในช่วงแรกนั้นฝ่ายหลังค่อนข้างเสียเปรียบ กระทั่งในปี 2480 เมื่อญี่ปุ่นเข้ารุกรานจีน ทั้ง 2 ฝ่ายจึงต้องพักรบกันชั่วคราวเพื่อต่อต้านศัตรูภายนอก ก่อนที่จะกลับมารบกันอีกครั้งในปี 2489 หรือ 1 ปีหลังญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ท้ายที่สุดในปี 2492 ผู้ชนะคือพรรคคอมมิวนิสต์ ได้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในขณะที่ฝ่ายก๊กมินตั๋งต้องล่าถอยไปอยู่ที่ “ไต้หวัน” โดยใช้ชื่อว่า “สาธารณรัฐจีน” ถึงกระนั้นต่างฝ่ายต่างก็อ้างความเป็น “จีนเดียว” จนยังเป็นข้อพิพาทมาจนถึงปัจจุบัน
อาจารย์อรชร กล่าวต่อไปว่า ด้วยความที่ประชากรจีนส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 เป็นชาวฮั่น ทำให้ใช้ภาษาจีนแมนดาริน(จีนกลาง) เป็นภาษาทางการ อย่างไรก็ตาม มี 5 พื้นที่ที่มีสถานะเป็นปกครองพิเศษ คือ มองโกเลียใน, ซินเจียง (อุยกูร์),ซีจ้าง (ทิเบต), กว่างซี (จ้วง) และหนิงเซี่ย (หุย) เนื่องจากมีชนเผ่าอื่นเป็นประชากรส่วนใหญ่ และใช้ภาษาท้องถิ่นในชีวิตประจำวัน ขณะที่รูปแบบการปกครอง แต่ละพื้นที่จะมีผู้นำอยู่ 2 ส่วน คือ 1.รัฐบาล หมายถึงผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งต้องเป็นชนพื้นเมืองเท่านั้น กับ 2.พรรค หมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่ห้ามชาวฮั่นเป็นผู้นำ
ที่ผ่านมาจีนจะมีปัญหาการใช้ภาษาที่แตกต่างกัน เช่น มองโกเลียในใช้ภาษามองโกล หรือมณฑลกวางตุ้งและเกาะฮ่องกงที่ใช้ภาษากวางตุ้ง ทำให้สื่อสารไม่เข้าใจกับชาวจีนในพื้นที่อื่นที่ใช้ภาษาจีนแมนดาริน กระทั่งระยะหลังๆ เริ่มพบว่ารัฐบาลจีนพยายามให้ทั้งประเทศใช้ภาษาจีนแมนดารินให้มากขึ้น อาทิ การออกข้อบังคับให้ใช้ภาษาจีนแมนดารินในระบบการศึกษา ซึ่งก็มีข้อถกเถียงระหว่างฝ่ายสนับสนุนที่เห็นว่าภาษาจีนแมนดารินมีความสำคัญมากขึ้นและเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ กับฝ่ายคัดค้านที่กังวลว่าภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นอาจถูกทำลาย
“เคยมีโอกาสได้ไปซินเจียง พอไปถึงจะเห็นเลยทั้งด้านภาษาจะไม่ใช่ภาษาฮั่นอย่างเดียวแล้ว จริงๆ ซินเจียงจะมีภาษาอุยกูร์ของเขาเอง ตามป้ายรถเมล์จะมีอย่างน้อย 2 ภาษาอย่างต่ำคือภาษานั้นกับภาษาจีนกลาง เราจะเห็นว่าในเรื่องภาษาก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ แต่ด้วยความที่ชาวซินเจียง หน้าตา วัฒนธรรม ภาษามันจะต่างกันมาก แล้วก็มีปัญหาเรื่องการก่อความไม่สงบเหมือนกัน เวลาเราไปซินเจียงเราก็จะรู้สึกว่าเหมือนไม่ได้อยู่ในเมืองจีนหลายๆ ด้าน หนึ่งคือหน้าตาเปลี่ยนไปแล้ว สองคือความเข้มข้นของการกวดขัน คือ Security Checkpoint (จุดตรวจ) มีเกือบทุกที่เลย
ก่อนไปเดินเข้าห้างก็จะมีทหารมาตรวจเช็คเรา แล้วก็ตามถนนหนทางก็จะมีทหารอยู่ แล้วการที่จะข้ามไปแต่ละเมืองก็จะมีบันทึกว่าเราเป็นใคร พาสปอร์ตหมายเลขเท่าไร จะไปไหน มีการควบคุมที่ค่อนข้างเข้มงวด เราก็จะเห็นว่าเรามองจีนเรามองว่าเป็นเอกภาพ ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างนั้น แต่ถ้าเราเข้าไปถึงการเมืองภายในจริงๆ เราจะเห็นว่ามันยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งรัฐบาลจีนก็มีการใช้หลายมาตรการ ที่ได้ยินบ่อยๆ คือส่งชาวฮั่นไปอยู่เยอะๆ เพื่อให้มีความเป็นชาวฮั่นมากขึ้น” อาจารย์อรชร ยกตัวอย่าง
การก่อตั้งขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีน ยุคแรกภายใต้การนำของเหมา เจ๋อตง ยึดหลักอุดมการณ์สังคมนิยม โดยรัฐส่วนกลางเป็นผู้วางแผนด้านเศรษฐกิจทั้งหมด กระทั่งปี 2521 เมื่อ เติ้ง เสี่ยวผิง ขึ้นเป็นผู้นำคนต่อมา จึงได้เปลี่ยนนโยบายสู่การ “ปฏิรูปและเปิดประเทศ” ด้านเศรษฐกิจเริ่มยอมรับระบบกลไกตลาด แต่ทางการเมืองยังคงปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ โดยมี “สภาผู้แทนประชาชน” เป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติและมีอำนาจถอดถอนบุคคลสำคัญในรัฐบาล ซึ่งการที่ใครจะเข้าร่วมสภาผู้แทนประชาชนก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากพรรคคอมมิวนิสต์
นอกจากนั้นจีนยังให้ความสำคัญกับด้านการทหารอย่างมาก มีการทุ่มงบประมาณเพื่อให้กองทัพมีความทันสมัย เนื่องจากกองทัพปลดแอกประชาชนมีประวัติศาสตร์ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับพรรคคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่ต้น รวมถึงให้ความสำคัญกับประชาชนกลุ่มคนฐานราก (เกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน) เพราะถือว่าเป็นมวลชนที่ทำงานกับพรรคตั้งแต่เริ่มสร้างฐานอำนาจ และเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
แนวคิดการสร้างชาติของจีนนั้นประกอบด้วย 1.เน้นความรักชาติ ผ่านเรื่องเล่าตอกย้ำช่วงเวลาแห่งความอัปยศที่ถูกต่างชาติทั้งตะวันตกและญี่ปุ่นเข้ามารุกราน 2.มุ่งสร้างความทันสมัย สร้างความเป็นเมือง ผลักดันอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เพราะในอดีตจีนมีภาพลักษณ์เป็นประเทศยากจน จึงต้องพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนกินดีอยู่ดี ซึ่งก็จะสะท้อนกลับไปเป็นความชอบธรรมทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย โดยเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างมากและต่อเนื่องมาตลอด 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2535 มีการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง และมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น
“ถามว่าอุดมการณ์ยังอยู่ไหม? อยู่! แต่เขามองว่าการสร้างตัวเองให้เข้มแข็งก่อนมันเป็น Immediate Goal คือเป้าหมายที่บรรลุได้ทันที ก่อนที่จะไป Long term Goal ของเขาก็คือเป็นสังคมนิยม อันนั้นก็ยังเป็นเป้าหมายระยะยาวอยู่ แต่ตอนนี้เขาต้องการที่จะให้ตัวเองทันสมัยขึ้นมาก่อน”อาจารย์อรชร กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี