“ครัวเรือน” หรือ “ครอบครัว” หน่วยย่อยเล็กที่สุดแต่เป็นพื้นที่ที่มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ด้วยมากที่สุด ซึ่งนอกจากครอบครัวที่เป็นภาพจำหลักของสังคม ที่มีพ่อ-แม่-ลูก หรือที่เป็นครอบครัวขยายที่มีปู่ย่าตายายรวมอยู่ด้วย ปัจจุบันยังมีครัวเรือนรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายประเภท ดังที่ รศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน ประธานหลักสูตร ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิจัยประชากรและสังคม (หลักสูตรไทย) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล บอกเล่าในการบรรยายหัวข้อ “รูปแบบการอยู่อาศัยในแต่ละช่วงชีวิตของประชากรไทย” อันเป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 17 “ประชากรและสังคม 2566 หลากมิติ ในหนึ่งชั่วชีวิต” เมื่อเร็วๆ นี้
เรื่องเล่าดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการวิจัยประเทศไทยในอนาคต” โดยในทางประชากรศาสตร์ จำนวนและความสัมพันธ์ของบุคคลที่อยู่ร่วมกันในครัวเรือน เรียกว่า “รูปแบบการอยู่อาศัย (Living Arrangement)” หรือองค์ประกอบของครัวเรือน รูปแบบการอยู่อาศัยมีความสำคัญต่อบทบาทในการสนับสนุนซึ่งกันและกัน และการสนับสนุนข้ามรุ่นอายุ (Inter-generational Support) ภายในครัวเรือน ซึ่งเป็นทรัพยากรเชิงครอบครัว (Familial Resources) ที่สำคัญ
“ตอนนี้เราอยู่กับใคร? นิยามของคำว่าอยู่กับใคร หรือในทางประชากรศาสตร์เรียกว่า Living Arrangement หรือ รูปแบบการอยู่อาศัย ในทางประชากรเราพูดถึงจำนวนและลักษณะของความสัมพันธ์ในครัวเรือนว่าอยู่กับใครบ้าง ซึ่งบางคนอาจอยู่คนเดียว อยู่ 2-3 คน เป็นสามี-ภรรยา อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ หรืออยู่กับสัตว์เลี้ยงก็อาจเป็นหนึ่งในครอบครัวที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเรื่องของการอยู่อาศัยนี้เองก็จะมีความสำคัญต่อเรื่องของการสนับสนุนหรือพึ่งพากันในครัวเรือน ถ้าเรามีคนอาศัยอยู่ด้วย” รศ.ดร.ศุทธิดา กล่าว
เมื่อแบ่งตามช่วงวัย พบว่า “วัยเด็ก (อายุแรกเกิด-14 ปี)” เป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการทางกายภาพและจิตใจ มีความเสี่ยงต่อพฤติกรรมต่างๆ วัยนี้มักอยู่กับพ่อแม่ อยู่กับพ่อหรือแม่ในลักษณะครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว หรืออยู่กับคนอื่น “วัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี)” เป็นตั้งแต่วัยเรียนจนถึงวัยทำงานสร้างครอบครัวมีรูปแบบชีวิตที่หลากหลาย ตั้งแต่อยู่กับพ่อแม่ อยู่กับเพื่อนอยู่กับสามี-ภรรยา (อาจมีหรือไม่มีลูก) อยู่คนเดียว ฯลฯ และ “วัยสูงอายุ (อาบุ 60 ปีขึ้นไป)” เป็นวัยเกษียณ ต้องการการดูแล การสนับสนุนด้านการเงิน อาจอยู่คนเดียว อยู่กับลูกหลาน ฯลฯ
งานวิจัยนี้ทำการศึกษาสถานการณ์รูปแบบการอยู่อาศัยในแต่ละช่วงชีวิตของประชากรไทยที่เปลี่ยนแปลงไป มีกลุ่มตัวอย่างเป็นประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปี ไปจนถึงมากกว่า 80 ปี(มีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถศึกษาประชากรวัยเด็กได้เพราะฐานข้อมูลที่ใช้ไม่ได้แบ่งกลุ่มไว้ชัดเจน) ใน 2 ช่วงเวลา เปรียบเทียบกับช่วงอดีตคือ 1.สำรวจภาวะการทำงานของประชากร พ.ศ. 2553 สำหรับวัยทำงาน กับ 2.สำรวจประชากรสูงวัยประเทศไทย ปี 2554 สำหรับวัยสูงอายุ ส่วนปัจจุบันคือปี 2566 ใช้วิธีการฉายภาพประชากรโดยวิธีอัตราส่วน (Ratio Method)
มีการแบ่ง “รูปแบบครัวเรือน” ในการศึกษาจำนวน 6 รูปแบบ คือ 1.ครัวเรือนคนเดียว อยู่ตามลำพัง 2.ครัวเรือนสามี-ภรรยา อยู่กับคู่สมรสแต่ไม่มีบุตร 3.ครัวเรือนพ่อ-แม่-ลูก อยู่กับคู่สมรสและมีบุตร 4.ครัวเรือน 3 รุ่นอายุ มีทั้งเด็ก วัยทำงานและผู้สูงอายุ (บุตร-พ่อแม่-ปู่ย่าตายาย) 5.ครัวเรือนเลี้ยงเดี่ยว พ่อหรือแม่เลี้ยงดูบุตรเพียงลำพัง และ 6.ครัวเรือนข้ามรุ่น หมายถึงพ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงดูบุตรเอง แต่ให้ผู้สูงอายุที่เป็นปู่ย่าตายายเลี้ยงหลาน
“การคาดประมาณสัดส่วนครัวเรือนไทยระหว่างปี 2563-2583” พบว่า ปัจจุบันครัวเรือนที่มีพ่อ-แม่-ลูก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ครัวเรือน 3 รุ่นอายุ ครัวเรือนเลี้ยงเดี่ยวครัวเรือนข้ามรุ่น และครัวเรือนคนเดียว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่หากมองอนาคตอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า ครัวเรือนคนเดียว และครัวเรือนที่มีเพียงสามี/ภรรยาอยู่กันโดยไม่มีบุตร จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากตีความอีกมุมหนึ่ง นั่นหมายถึงเวลานั้นจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง หรืออยู่กับคู่สมรส (ปู่-ย่า หรือ ตา-ยาย อยู่ด้วยกันเพียง 2 คน) ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย
“ในปี 2566 จะพบว่าประชากรในครัวเรือนพ่อ-แม่-ลูก เราจะพบว่าในแต่ละช่วงวัยมีจำนวนมากที่สุดโดยเฉพาะในวัยทำงาน ช่วง 40-49 ปี ก็อาจจะเป็นช่วงกำลังสร้างครอบครัว กำลังมีลูก ก็ทำให้ในช่วงนี้มีจำนวนครัวเรือนพ่อ-แม่-ลูก อยู่ในจำนวนมากที่สุด สำหรับประชากรในครัวเรือนสามี-ภรรยาโดยเฉพาะในช่วง 30-59 ปี ก็จะมีจำนวนเพิ่มสูง แล้วก็จะลดลงเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ เช่นเดียวกับประชากรในครัวเรือนคนเดียวและครัวเรือนข้ามรุ่น
สำหรับประชากรวัยทำงานในครัวเรือนเลี้ยงเดี่ยว จะเห็นว่ามีลักษณะขึ้นๆ ลงๆ สำหรับในครัวเรือน 3 รุ่นอายุ ก็คือจะมี 3 Generations อยู่ในครัวเรือน เราจะเห็นว่าเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปีขึ้นไป แล้วพอเข้าสู่วัยสูงอายุจะมีแนวโน้มลดลง อันนี้ฉายภาพให้เห็นในปีปัจจุบัน ปี 2566 รูปแบบการอยู่อาศัยของประชากรไทยเป็นอย่างไร” รศ.ดร.ศุทธิดา ระบุ
ผลการศึกษานำไปสู่ข้อเสนอแนะ 4 ประการ 1.ประชากรในครัวเรือนคนเดียวและครัวเรือนสามี-ภรรยา มีความเปราะบางด้านการไม่มีผู้ดูแล ดังนั้นควรวางแผนทั้งด้านสุขภาพ การเงิน ที่อยู่อาศัย ฯลฯ ขณะที่ภาครัฐและหน่วยงานท้องถิ่นควรเตรียมการสนับสนุนที่จำเป็น 2.ผลักดันให้เกิดกลไกทางสังคมเพื่อการสนับสนุนด้านจิตใจ และความช่วยเหลือการดูแลสมาชิกในครอบครัวของประชากรอายุ 50-59 ปี และอายุ 60-69 ปี
3.ผู้สูงอายุในครัวเรือนข้ามรุ่นจะมีความเปราะบางและขาดทรัพยากรในการดูแลหลาน จึงควรได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษในด้านองค์ความรู้ในการเลี้ยงดูเด็กเล็กและวัยรุ่น และ 4.ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญและสนับสนุนนโยบายเรื่อง Aging in Place เพื่อออกแบบและพัฒนาชุดบริการทางสังคมที่จำเป็น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลาน ไม่มีคนดูแล
“ผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานหรือไม่มีคนดูแล การที่จะคาดหวังให้ครอบครัวดูแล เราอาจจะต้องเปลี่ยน Mindset (วิธีคิด) ว่าอาจจะต้องเป็นชุมชนมาดูแลคนกลุ่มนี้หรือเปล่า?” รศ.ดร.ศุทธิดาฝากทิ้งท้าย
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี