กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และภาคีเครือข่ายจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปการดำเนินงานและถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM2.5 ปีงบประมาณ 2566 เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้มลพิษทางอากาศเป็น 1 ใน 5 ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ซึ่ง สสส.ขับเคลื่อนการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเร่งด่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งระดับระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และนานาชาติ ถอดบทเรียนเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM2.5
กำหนดดำเนินการ 4 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาคที่มีแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองที่แตกต่างกัน เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข PM2.5 อย่างแท้จริง ทั้งจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคประชาสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างรอบด้าน นำมาสังเคราะห์และส่งต่อไปยังกรมควบคุมมลพิษ
เป็นการปรับแผนให้สอดคล้องกับค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนใหม่ ที่กำหนดไว้เฉลี่ย 24 ชั่วโมงต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรด้วย ซึ่งเป็นการปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในรอบ 15 ปี ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง พ.ศ. 2562-2567 เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองภาพรวมของประเทศและในพื้นที่วิกฤต
“ประกอบกับสถานการณ์สภาพอุตุนิยมวิทยาในปัจจุบันที่เริ่มพัฒนาเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลเกิดความแห้งแล้ง อาจทำให้สถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องสรุปผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค ถอดบทเรียน และทบทวนมาตรการ/แนวทางการดำเนินงานตามแผนต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมกับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศและดัชนีคุณภาพอากาศใหม่” นายชาติวุฒิ กล่าว
นางกัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การจัดประชุมสรุปผลและถอดบทเรียนฝุ่น PM2.5 ที่ผ่านมา 3 ครั้ง 1.มิติการเผาในที่โล่งโดยเฉพาะอ้อย ณ จังหวัดขอนแก่น 2.มิติหมอกควันข้ามพรมแดน ณ จังหวัดเชียงราย 3.มิติการเผาในที่โล่งโดยเฉพาะข้าว ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีข้อเสนอแนะจำนวนมากทั้งด้านกฎหมายและกฎระเบียบ เช่น การเปลี่ยนจากกำหนดวัน D-Day ห้ามเผาเป็นการบริหารการเผาตามช่วงเวลาและพื้นที่
กำหนด KPI จากพื้นที่ที่สอดคล้องกับทิศทางนโยบายของรัฐบาล มีศูนย์ขับเคลื่อนเรื่องฝุ่นโดยตรง เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ภาคเอกชนสามารถส่งเสริม หรือช่วยเหลือเกษตรกรทำการเกษตรที่ไม่เผาข้อตกลงทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม การปรับวิถีอาเซียนเรื่องภัยพิบัติสิ่งแวดล้อมข้ามแดน การใช้กลไกบ้านพี่เมืองน้อง การสื่อสารที่เข้าใจง่ายเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย สื่อสารตลอดทั้งปี
“รวมถึงการจัดทำห้องปลอดฝุ่นในระดับชุมชน โดยเน้นกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง การจัดหาสินค้าที่มีมาตรฐานและราคาไม่แพง โดยกรมควบคุมมลพิษจะสรุปผลนำไปสู่การพิจารณาในการจัดทำมาตรการในการจัดการฝุ่นละออง PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว
นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กทม. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นหาต้นตอฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ พบสาเหตุหลักมาจากรถยนต์ รองลงมาคือการเผาในที่โล่ง จึงร่วมกับหน่วยงานในสังกัด สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเชิงรุก ติดตามแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า 7 วันด้วยการบูรณาการข้อมูลกับกรมควบคุมมลพิษ ทำงานร่วมกับ สสส.ในการสร้างความตระหนักรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรรมให้กับประชาชน
“พร้อมสื่อสารสาธารณะเพื่อให้สามารถวางแผนการทำงาน หรือหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในพื้นที่ที่ค่าฝุ่นสูง ประชาชนยังสามารถมีส่วนร่วมด้วยการแจ้งปัญหาผ่านทาง Traffy Fondue ร่วมมือแก้ปัญหาฝุ่นจากต้นตอ เช่น การควบคุมมลพิษจากยานพาหนะ การก่อสร้าง โรงงานสถานประกอบการ การเผาชีวมวลจากการเกษตร การเผาในที่โล่ง รวมถึงรณรงค์เน้นย้ำข้อควรปฏิบัติและวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5ตลอดจนเตรียมพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข รองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5” ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
รศ.ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) กล่าวว่า ศวอ. ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายของ สสส. มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายการขับเคลื่อนมาตรการและนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพื่อปลูกฝังความเป็นเจ้าของในทรัพยากรอากาศสะอาดร่วมกัน สร้างการมีส่วนกับทุกภาคส่วน เพื่อสานพลังขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
“ศวอ. หวังว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาด้านฝุ่นละอองที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต” รศ.ดร.ดลเดช กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี