วงเสวนาขอ ‘จ้างเหมา-เอาท์ซอร์ส-ซับคอนแทรค’ ต้องเข้าถึงความเป็นธรรมตามสิทธิแรงงาน
7 ต.ค. 2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการจัดนิทรรศการ “ฅนทำการผลิตที่บ้าน (We’re Home-based workers)” โดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet Thailand) รวมถึงมีวงเสวนา “ฅนทำการผลิต(น่ะ) มีสิทธิ์ไหม?” ซึ่ง นางกชพร กลักทองคำ ประธานสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ปัจจุบันแม้จะมีงานเข้ามาให้ทำจำนวนมาก แต่ปัญหาคือคนทำงานไม่สามารถรับงานโดยตรงได้ อย่างกลุ่มรับงานของพวกตน ก็ยังรับงานมาต่อเป็นทอดที่ 3
ซึ่งการรับงานของกลุ่มคนรับงานไปทำที่บ้าน เหตุที่มีปัญหาทั้งค่าจ้างที่น้อยและไม่สม่ำเสมอ รวมถึงอาจถูกโกง เพราะคนรับงานไม่ได้ติดต่อกับผู้ว่าจ้างโดยตรง แต่มีคนกลางที่เป็นผู้กว้างขวาง มีชื่อเสียงรู้จักคนมากมายไปประมูลงานมาได้ แล้วก็ผ่านเซลล์มาอีกทอดหนึ่ง ซึ่งอย่างกลุ่มตนที่เป็นทอดที่ 3 ร้อยละ 70 มีอุปกรณ์การทำงานเกือบครบ แต่ในกรณีที่ทำไม่ทันก็จะต้องส่งต่อไปให้ทอดที่ 4 ที่ 5 รับไปทำต่อ
“คิดดูขนาดทอดที่ 3 เราไม่สามารถต่อรองราคาได้เยอะ เพราะมันโดนตัดไปแล้ว 2 ทอด พอต่อรองไม่ได้เยอะทอดสุดท้ายมันก็เหลือน้อยลง อย่างตอนนี้เย็บเสื้อยืด 10 ปีที่แล้ว 6 บาท ปัจจุบันก็ 6 บาท แต่ในขณะที่ต้นทุนมันไม่ใช่ 6 บาท มันเพิ่มสูงขึ้น อย่างเราเคยรับงานตัวหนึ่งเคยได้กำไรในการบริหารจัดการต่างๆ 30% ตอนนี้เราเหลือไม่เกิน 15% สถานการณ์ของเรามันมีงานแต่ไม่มีเงิน เพราะราคามันต่ำมาก” นางกชพร กล่าว
นายบวร ทรัพย์สิงห์ นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้าน อาจมองไม่เห็นบนพื้นที่สาธารณะเพราะกระจัดกระจายอยู่ตามบ้าน และไม่ใช่แรงงานอิสระเพราะถูกควบคุมโดยผู้ว่าจ้าง ซึ่งสินค้าต่างๆ ที่ผู้บริโภคได้ใช้ เบื้องหลังคือหยาดเหงื่อของแรงงานที่บางครั้งก็ไม่ได้รับสวัสดิการที่เพียงพอ โดยผู้ทำการผลิตที่บ้านจะมี 2 ประเภท คือ กลุ่มที่จ้างงานตนเอง หรือผลิตเอง-ขายเอง กับกลุ่มที่รับงานเหมาช่วง หรือซับคอนแทรค (Subcontract) ที่ถูกว่าจ้างโดยบริษัทต่างๆ
แต่ปัญหาที่พบคือ ที่ผ่านมากลุ่มหลังนี้ไม่เคยมีสัญญาว่าจ้างที่เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน เช่น รูปแบบการจ้างงาน ค่าตอบแทนที่ได้รับ อีกทั้งไม่มีอำนาจต่อรอง ถูกกดค่าแรงหรือกดดันให้ต้องส่งมอบงานเร็วขึ้นแต่ไม่มีการเพิ่มค่าตอบแทนให้มากขึ้น หากเรียกร้องก็อาจไม่ได้รับการจ้าง เพราะงานไม่ได้มีเพียงพอสำหรับทุกคน แม้กระทั่งการลงทุนต่างๆ เอง ตั้งแต่วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ ไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ ที่น่าคิดคือทั้งที่มีนายจ้างชัดเจน แต่การจ้างเหมากลับไม่นับรวมอยู่ในประกันสังคมมาตรา 33
“อย่างเอาท์ซอร์ส (Outsource) เรื่องของการดูแล เรื่องของการให้เขาได้รับสวัสดิการ เช่น การเข้าประกันสังคมนี่จำเป็น เรื่องค่าแรงที่เป็นธรรมจำเป็น เรื่องของวันหยุด-วันลา ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องมีสวัสดิการเหล่านั้นที่จะมาครอบคลุม” นายบวร กล่าว
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ที่ทำงานกับภาคประชาชนมานาน ในช่วงแรกๆ ที่เริ่มมีการให้ออกมารับงานทำที่บ้าน ยังไม่มีนายหน้ามากินหัวคิว แต่ต่อมาเมื่อมีคนเริ่มเห็นช่องทาง อาจเป็นคนใกล้ชิดของคนแจกงาน ก็บอกกันไปว่าให้มารับหัวคิวแทนที่จ่ายให้คนรับงาน 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็เป็นพลวัติของการจ้างงาน ส่วนประเด็นการจ้างหมาในส่วนของภาครัฐ ที่มีเสียงสะท้อนและคำถามว่าให้ค่าตอบแทนน้อยมากยิ่งกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ไม่มีการจ้างแบบนี้แล้ว
“ตอนเข้ามาใหม่ๆ มีจ้างเหมา 5 ราย แต่วันนี้ไม่มีแล้ว เพราะเราบอกไม่เอาเรื่องการจ้างเหมา แต่ทีนี้ในหน่วยงานอื่นที่มีเขาก็ให้เหตุผลว่า ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ไม่ให้ตำแหน่ง มี 2 อย่างคือเลิกจ้างไปเลย ไม่ต้องจ้าง คนที่กำลังจ้างเหมาอยู่เขาก็ด่าเราว่าเขาจะตกงาน จะมาเสนออะไรอย่างนี้ มันมี 2 มุมเสมอ เพราะทางราชการบอกว่าถ้าไม่ให้จ้างเหมาก็คือไม่จ้างเลย เพราะทาง ก.พ. ไม่ให้ตำแหน่ง ไม่ให้อัตรามา คือไม่มีเงินให้ ทำได้อย่างเดียวคือจ้างเหมา” น.ส.สุภัทรา กล่าว
นายสุเทพ อู่อ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เมื่อพูดถึงกฎหมายก็ต้องย้อนไปดูถึงรัฐธรรมนูญ ซึ่งฉบับปัจจุบันทำให้การออกกฎหมายใหม่ๆ ทำได้ยาก โดยเฉพาะเรื่องของกรณีกฎหมายใดที่เกี่ยวกับการเงิน ต้องผ่านความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อนจึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ ซึ่งเห็นได้จากการทำหน้าที่ของ สส. ชุดที่แล้วที่ตนได้เข้าสภาเป็นสมัยแรก ไม่มีร่างกฎหมายใดเลยที่เข้าข่ายนั้นแล้วได้ผ่านเข้ามาสู่สภา ทุกฉบับไปกองอยู่ที่นายกฯ ทั้งสิ้น
ซึ่งเอาจริงๆ แล้ว มีกฎหมายจำนวนน้อยมากที่จะไม่เกี่ยวกับเรื่องการเงิน ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องเพราะชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนก็ต้องมีเงินและมีความมั่นคง ต้องมีกฎหมายออกมาคุ้มครองดูแลเรื่องค่าจ้าง ค่าตอบแทนต่างๆ รวมถึงเรื่องประกันสังคม สิ่งเหล่านี้มีการต่อสู้กันมาตลอดและมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว จากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่มีคนออกไปใช้สิทธิ์กันมากขึ้น ส่วนปัญหาการจ้างเหมาในภาครัฐ ตนเห็นว่าจุดเริ่มต้นมาจากการมองคนไม่เป็นคน
“การจ้างแรงงานมันจบอยู่แล้ว ในระบบราชการมีข้าราชการ มีพนักงานราชการ แล้วก็ลูกจ้าง คนเหล่านี้ได้รับการดูแลเรื่องของระบบการจ้างงาน แล้วคนเหมาช่วงเหมาบริการไม่ใช่คนหรือ แล้วคุณบอกไปจ้างทำของ มันไม่ใช่ทำของ เขาทำเอกสารอยู่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งหนึ่งที่กดทับ ที่บอกว่าถ้ายกเลิกจะไม่มีการจ้างงาน มันเป็นความรับผิดชอบของราชการและรัฐบาลอยู่แล้ว ต้องดูแลการจ้างงาน อย่ามาอ้างแบบนี้แล้วกดทับ มันไม่ควรจะมี” นายสุเทพ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี