ย้อนที่มา‘แหวนอัศวิน’!โลโก้แห่งยุคตำรวจอหังการใต้บังเหียน‘อธิบดีเผ่า’ ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทย ทำไม่ได้
“ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทย ทำไม่ได้”
เป็นคำกล่าวของ “พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์” อธิบดีตำรวจ ซึ่งจริงๆ แล้ว ข้อความเต็มคือ “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทย ทำไม่ได้..ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง” ทว่าผู้คนมักตัดเพียงถ้อยคำท่อนแรกมาพูดถึงแถมยังเป็นในเชิง “ประชดประชัน” อีกต่างหาก ด้วยบริบทในยุคนั้นที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.เผ่า เป็นคนสนิทที่จอมพล ป. ไว้วางใจ ภาพลักษณ์ของตำรวจจึงดู “อหังการ” ไปโดยปริยาย
พล.ต.อ.เผ่า นั้นเดิมทีรับราชการทหารก่อนจะโอนย้ายมาเป็นตำรวจ ทำให้นโยบายการพัฒนาองค์กรตำรวจของท่านมีรากฐานมาจากกองทัพ เป็นที่มาของเกิดหน่วยงานที่คล้ายทหารขึ้นมาหลายหน่วย เช่น ตำรวจรถถัง ตำรวจน้ำ ตำรวจพลร่ม ตำรวจม้า อีกทั้งยังมีธงประจำหน่วยตำรวจที่คล้ายคลึงกับธงชัยเฉลิมพล และยังมีการสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 อีกด้วย อนึ่ง ยุคนั้นยังมีคำว่า “รัฐตำรวจ” สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ของตำรวจ ในระดับที่เทียบเคียงกับทหาร
“เฮ้ย พวกมึงก็ได้เหนื่อยกับกูหลายครั้งแล้ว ขั้นเงินเดือนก็ได้กันไปตามสมควร บางปีก็ต้องถูกตัดจากสี่ขั้นเหลือสองขั้น เพราะมันจะมากไป กูมาคิดว่า กูจะให้อะไรพวกมึงที่เป็นเครื่องหมายในความตั้งใจทำงานของพวกมึง อย่างไม่คิดแก่ชีวิตมาหลายครั้งแล้ว กูคิดออกแล้ว กูจะให้ไอ้ที่พวกมึงจะต้องนำติดตัวไปตลอดเวลา เพื่อพวกมึงจะได้สำนึกในหน้าที่ด้วย”
ถ้อยคำของ พล.ต.อ.เผ่า ที่ถูกบอกเล่าโดย พ.ต.อ.พุฒ บูรณะสมภพ นายตำรวจคนสนิท ผู้เขียนหนังสือ “ชัยชนะและความพ่ายแพ้ของบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย” กล่าวถึงเหตุการณ์ในวันที่ “อธิบดีเผ่าฯ” มอบรางวัลให้นายตำรวจลูกน้องคนสนิททั้ง 4 คนที่ทำงานเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเกือบเอาชีวิตไม่รอดมาหลายครั้ง ท่ามกลางยุคสมัยที่บ้านเมืองวุ่นวาย สถานการณ์ทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศที่ผันผวน รวมถึงนักเลงอันธพาลและโจรผู้ร้ายที่ชุกชุม
พล.ต.อ.เผ่า ได้สวมแหวนให้ลูกน้องคนสนิทคนละวง เป็นแหวนทองคำลงยาสีแดงชาด ที่หัวแหวนเป็นตราหน้าหมวกตำรวจหรือตราแผ่นดินสีทอง โดยตั้งชื่อแหวนนี้ว่า “แหวนอัศวิน” ซึ่ง พ.ต.อ.พุฒยังบอกไว้อีกว่า หัวแหวนที่ลงยาตราแผ่นดินนั้น มีสีแดงเป็นพื้นเด่นดูสวยงามดี และได้รับคำสั่งให้สรวมไว้ที่นิ้วนางข้างขวาเป็นประจำ จะถอดออกเสียมิได้ ถ้าเมื่อใดได้พบท่านผู้ให้แหวนนั้น (อธิบดีเผ่าฯ) แล้วท่านไม่เห็นแหวนวงนั้นอยู่ที่นิ้วนางข้างขวา ผู้นั้นก็จะถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกเรียกแหวนวงนั้นคืน ดังนั้นคนที่ได้รับแหวนอัศวินจะต้องสวมไว้ตลอด 24 ชม เรียกได้ว่าจะนอน จะอาบน้ำ ก็ถอดไม่ได้กันเลยทีเดียว
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คำว่า “อัศวิน” ก็ได้โด่งดังไปทั่วเมือง ซึ่งหลังจากที่อธิบดีเผ่าฯ ได้มอบแหวนอัศวินให้กับนายตำรวจคนสนิททั้งสี่แล้ว ท่านก็ได้มอบให้กับนายตำรวจที่ทำชื่อเสียงในทางปราบปราม และในทางการงานอื่นอันเป็นประโยชน์ต่อทางราชการตำรวจไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนครบาล หรือฝ่ายภูธรอีกหลายคนต่อมา ยุคนั้นจึงเป็นยุคที่ถูกขนานนามว่า “ยุคอัศวินผยอง”
กระทั่งเมื่อจำนวนนายตำรวจที่ได้รับแหวนอัศวินมีมากขึ้นเป็นหลายสิบคน อธิบดีเผ่าฯ ก็ได้ “แบ่งระดับของแหวนอัศวิน” ด้วยการ “เอาเพชรมาติดที่หัวแหวน” เกิดเป็นคำว่า “อัศวินแหวนเพชร” อันเป็นการ “ยกระดับให้กับพวกที่ทำงานเสี่ยงชีวิตชนิดสมบุกสมบันในหน้าที่จริงๆ” โดยผู้ที่ได้รับแหวนอัศวินฝังเพชรเป็นรางวัลรุ่นแรกก็คือนายตำรวจคนสนิททั้งสี่ของอธิบดีเผ่านั่นเอง ซึ่งก็คือ 1.พ.ต.อ.พันศักดิ์ วิเศษภักดี 2.พ.ต.อ.อรรณพ พุกประยูร 3.พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ และ 4.พ.ต.อ.วิชิต รัตนภานุ
จากนั้นมาอัศวินแหวนเพชร ก็ได้เกิดขึ้นมาใหม่อีกหลายคน ซึ่งอธิบดีเผ่าฯจะมอบให้กับโคตรตำรวจที่ทำงานเสี่ยงชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ที่เสี่ยงอันตรายหรือได้รับบาดเจ็บเกือบเสียชีวิตในการปราบปรามโจรผู้ร้าย และในที่สุด อัศวินแหวนเพชร ก็มีคนได้รับไปทั้งหมดเพียง 13 คนเท่านั้น เพราะอธิบดีเผ่าฯได้ถือเอาเลข 13 เป็นเลขมงคล ซึ่งมาจากวันตำรวจ คือวันที่13 ตุลาคม ของทุกปี (ก่อนที่ภายหลังจะเปลี่ยนเป็นวันที่ 17 ตุลาคม ของทุกปี)
สำหรับนายตำรวจผู้ที่ได้รับแหวนอัศวินแหวนเพชรที่พอจะหาข้อมูลได้มีรายชื่อดังนี้ 1.พ.ต.อ.พันศักดิ์ วิเศษภักดี 2. พ.ต.อ.อรรณพ พุกประยูร 3.พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ 4.พ.ต.อ.วิชิต รัตนภานุ 5.พ.ต.ท.กมล ชโนวรรณ
6. พ.ต.ท.สวง วุฒินันท์ 7.พ.ต.ท.เยื้อน ประภาวัต 8.พ.ต.ต.ประชา พูนวิวัฒน์ 9.ร.ต.อ.ยอดยิ่ง สุวรรณาคร 10.ร.ต.อ.เจริญ วัจนคุปต์ 11.พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น 12.พล.ต.ท. เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน
ความโด่งดังของอัศวินยังได้ลุกลามไปถึงชื่อ “เมนูอาหาร” ในร้านชื่อดังแห่งหนึ่งย่านราชวงศ์คือ “ร้านสีฟ้า” อันเนื่องมาจากการที่เหล่าอัศวินนั้นนิยมไปรับประทานอาหารที่ร้านนี้เป็นประจำ และได้สั่งให้เจ้าของร้านทำ “บะหมี่ที่ใส่เครื่องสารพัดทั้งหมู ไก่ กุ้ง ปู ปลา” จนกระทั่งลูกค้าคนอื่นเกิดอยากจะสั่งตามแต่ก็เรียกไม่ถูก
เมื่อถามจากเจ้าของร้านก็ได้คำตอบว่า “อ้อ บะหมี่ของพวกอัศวิน” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา...
“บะหมี่อัศวิน”
ก็กลายเป็นรายการอาหารยอดนิยมของร้านอาหารแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันยังสามารถหาทานได้ที่ร้านสีฟ้าทุกสาขา
ในปี 2541 กรมตำรวจถูกเปลี่ยนโฉมใหม่เป็น “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” และแทนที่ตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ด้วยตำแหน่ง “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)” กระทั่งล่าสุด ในวันที่ 17 ต.ค. 2566 ธรรมเนียม “แหวนอัศวิน” ก็ได้ฟื้นคืนกลับมาเรียกขวัญกำลังใจให้ความเป็นตำรวจไทยยืนในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีอีกครั้ง โดย ผบ.ตร. ที่ชื่อ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี