โชว์สกิลติดตั้งตะเกียงโบราณ นับหมื่นดวงบนเรือไฟยักษ์ เตรียมไหลโชว์คืนออกพรรษา 15 ค่ำ เดือน 11 ส่วนผสมน้ำมันคือสูตรลับ
29 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อค่ำคืน 28 ตุลาคม ที่นครพนม บรรยากาศการท่องเที่ยวงานประเพณีออกพรรษาไหลเรือไฟ ก่อนวันออกพรรษา 15 ค่ำ เดือน 11 พบว่ามีประชาชน นักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทั้งชาวไทย ชาวลาว ต่างเดินทางเข้ามาในพื้นที่ เพื่อจับจองที่พัก รอชื่นชมความสวยงามตระการตา การประกวดไหลเรือไฟ จำนวน 12 ลำ จาก 12 อำเภอในคืนเดือนเพ็ญออกพรรษา
นอกจากจะได้ชื่นชมความสวยงามเรือไฟ ตลอดแนวริมฝั่งน้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม แล้ว ประชาชน นักท่องเที่ยว ยังได้มีโอกาสชื่นชมเบื้องหลังความสวยงาม ของบรรดาศิลปินเรือไฟ ตัวแทนชาวบ้าน จากทั้ง 12 อำเภอ ที่กำลังเร่งติดตั้งตะเกียงโบราณ ดัดแปลงจากขยะคือกระป๋องกาแฟ นำมาประยุกต์เป็นตะเกียงน้ำมัน
ไส้ตะเกียงทำจากผ้าฝ้าย เติมด้วยน้ำมันดีเซล ผสมกับน้ำมันก๊าด ถือเป็นอเมซิ่งไทยแลนด์ หนึ่งเดียวของไทย ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการโชว์สกิล ความชำนาญที่พัฒนามาจากวิถีชีวิตภูมิปัญญาชาวบ้าน มาเป็นเรือไฟประยุกต์ขนาดใหญ่ ความยาวประมาณ 50 -80 เมตร ความสูงประมาณ 20 -30 เมตร ประดับตกแต่งด้วยตะเกียงไฟ มากกว่า 20,000 – 30,000 ดวง ทุ่มทุนสร้างตั้งแต่ 5 แสนถึง 1 ล้านบาท โดยไม่คิดถึงเงินค่าจ้างรางวัล เน้นแสดงออกถึงความรักสามัคคี และสืบสานประเพณี ส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ที่สืบทอดมานานนับ 100 ปี
สำคัญที่สุดกว่าจะเกิดความสวยงามเป็นเรือไฟไหลโชว์ คืนวันออกพรรษา ไม่เพียงการทำโครงสร้าง ที่เกิดจากการนำวิถีชีวิตภูมิปัญญาชาวบ้าน มาต่อเติมเป็นเรือไฟ ตะเกียงทุกดวงที่มีการออกแบบลวดลาย ให้เกิดความสวยงาม จะต้องแขวนด้วยแรงงานคน อีกทั้งจะต้องจุดทีละดวง จนกว่าจะครบทุกดวง จุดส่องสว่างเกิดเป็นลวดลายต่างๆ สวยงามตระการตา
ด้าน นายเสนอ ลาภะ อดีตข้าราชการบำนาญ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม และ นายพัฒน์ธวัตร์ เอี่ยมสม อดีตผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม ทีมศึกษาทำเรือไฟ เปิดเผยว่า สำคัญที่สุดสำหรับการทำเรือไฟ คือ การติดตั้งตะเกียงไฟจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่เป็นทักษะจากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตามวิถีชาวบ้าน ให้เกิดความสวยงามลงตัว เพราะจะต้องแขวนทีละดวง และจุดทีละดวงจากแรงงานคนทั้งหมด ที่สำคัญลวดลายจะต้องออกมาสวยงาม ดวงไฟต้องคมชัด ไส้ตะเกียงต้องเอนไปตามลวดลาย
หากวางตำแหน่งไม่เหมาะสมจะกระทบต่อความคมชัดสวยงาม ถือเป็นความชำนาญเฉพาะตัวของชาวบ้าน ที่รวมถึงการจัดทำไส้ตะเกียงไฟ จะต้องให้เปลวไฟที่สม่ำเสมอ จึงต้องมีสูตรลับคือการผสมน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันก๊าด น้ำมันพืช และน้ำมันมะพร้าว ต้องผสมรวมกันตามสัดส่วนที่คิดค้นขึ้นมา เมื่อผสมแล้วเมื่อจุดแสงสว่างต้องโชติช่วง ตะเกียง 1 กระป๋อง ถ้าไม่มีลมอยู่ได้ถึง 6 ชั่วโมง ถ้ามีลมจะเหลือกระป๋องละ 4 ชั่วโมง ดังนั้นตะเกียงนับเป็นอีกหัวใจสำคัญในการทำเรือไฟ
นอกจากนี้ตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำโขง ยังได้จัดซุ้มวิถีเรือไฟ การจัดนิทรรศการสาธิตการทำเรือไฟโบราณ โดยนายคมสิน ศรีมานะศักดิ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลเมืองนครพนม และได้รับเมตาจากพระราชสิริวัฒน์ เจ้าคณะจังหวัดนครพนม มอบพระเลขานำสิ่งของพร้อมวัตถุมงคล มอบให้แก่ซุ้มเรือไฟทั้ง 12 อำเภอ โดยมีนางสาวยุวดี มีบุญ วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม ร่วมมอบด้วยและให้กำลังใจด้วย
ทั้งนี้ ในอดีตการสร้างเรือไฟ ทำจากต้นกล้วย หรือเรือไม้ไผ่ มีขนาดกะทัดรัด ไม่พิถีพิถันเหมือนปัจจุบัน โดยนำเครื่องสักการบูชา เครื่องบวงสรวง ไปวางก่อนที่จะไหลไปตามแม่น้ำโขง ถือเป็นการบูชาถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามประเพณีความเชื่อ จนมีการประยุกต์ทำเป็นเรือไฟขนาดใหญ่ มาตั้งแต่ปี 2526 เพื่อสืบสานประเพณีส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายหลังกลายเป็นหนึ่งเดียวของโลก ทุกปีในคืนวันออกพรรษา ประเพณีไหลเรือไฟของจังหวัดนครพนม จะเป็นที่กล่าวขานพร้อมเสียงชื่นชมจากนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก.012
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี